posttoday

ลุ้นฤดูหนาวเข้าไทยกลางต.ค. จับตาก.ย.พายุเกิดมากสุด

11 กันยายน 2561

อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ย้ำสถิติเดือน ก.ย.พายุมากสุด เผยกลาง ต.ค.ไทยเข้าสู่ฤดูหนาว ผู้ว่าฯกทม.มั่นใจเอาอยู่ลดจุดเสี่ยงจาก22เหลือ11แห่ง

อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ย้ำสถิติเดือน ก.ย.พายุมากสุด เผยกลาง ต.ค.ไทยเข้าสู่ฤดูหนาว ผู้ว่าฯกทม.มั่นใจเอาอยู่ลดจุดเสี่ยงจาก22เหลือ11แห่ง

นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่า ขณะนี้สภาพอากาศของประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ช่วงปลายฤดูฝนแล้ว โดยร่องมรสุมและร่องฝนได้เคลื่อนตัวพาดผ่านตอนกลางของประเทศ ขณะที่พื้นที่ภาคตะวันตกบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ในช่วง 2-3 วันนี้ จะมีฝนเพิ่มภาคตะวันตกบริเวณ จ.กาญจนบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ จึงต้องเฝ้าระวังปริมาณน้ำจะเพิ่มขึ้น ทั้งนี้คาดว่า ปี 2561 จะสิ้นสุดฤดูฝนและเข้าสู่ฤดูหนาว กลางเดือน ต.ค.นี้

ขณะที่เดือน ก.ย. เป็นช่วงฤดูกาลของพายุที่เกิดมากที่สุด ขณะนี้มีพายุเกิดขึ้นคือ พายุไต้ฝุ่นมังคุด โดยจะเคลื่อนเข้าทวีปเอเชียบริเวณจีนตอนล่างใกล้หมู่เกาะไหหลำ ส่งผลให้ลุ่มน้ำโขงฝนจะตกมากขึ้นใน สปป.ลาว และจะทำให้ปริมาณน้ำโขงไหลจากลาวเพิ่มขึ้น ส่งผล ให้น้ำที่ระบายตรงลุ่มน้ำสงคราม ลุ่มน้ำก่ำ ลุ่มน้ำมูล และลุ่มน้ำชี จะชะลอตัวลงช่วง กลางเดือนนี้

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า จุดอ่อนน้ำท่วมของ กทม. จากเดิมที่มีอยู่ 22 จุด ขณะนี้เหลือเพียง 10 จุด ทางสำนักการระบายน้ำได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมในจุดที่มีปัญหา ทำให้ช่วงที่ มีฝนตกหนักและมีน้ำท่วมขัง สามารถระบายน้ำไม่เกินครึ่งชั่วโมงก็เข้าสู่สภาวะปกติ ยกเว้นตามตรอกซอยที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ อยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหา

สำหรับพื้นที่การก่อสร้างรถไฟฟ้า เช่น โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแยกเกษตรที่มีปัญหาน้ำท่วมขัง กรุงเทพมหานครได้กำชับผู้รับเหมาในพื้นที่ก่อสร้างไม่ให้ขวางทางการระบายน้ำ หากไม่มีการแก้ไขก็จะสั่งระงับการก่อสร้างทันที ส่วนจุดที่เป็นหมู่บ้านพื้นที่เอกชน หากมีการขอให้สนับสนุนก็มีความพร้อมที่จะเข้าไปช่วยเหลือ อย่างไรก็ตามยังคงต้อง เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำเหนือ น้ำทะเลหนุนและน้ำฝน ตั้งแต่ช่วงเดือน ก.ย.-พ.ย.

นายชวลิต ชาลีรักษ์ตระกูล อาจารย์ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรม ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จากผลงานวิจัยเพื่อประเมินผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อปริมาณน้ำฝนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ลุ่มน้ำโขง ชี และมูล) สามารถใช้วิเคราะห์ จังหวัดที่มีแนวโน้มจะประสบปัญหาอุทกภัย และภัยแล้งซ้ำซากได้ โดยพบข้อมูลพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมซ้ำซาก 6 จังหวัด ได้แก่ จ.เลย อุดรธานี สกลนคร นครพนม ร้อยเอ็ด และอุบลราชธานี

สำหรับพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังเพราะเกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก และมีแนวโน้ม ทวีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต ส่วนมากจะอยู่ตอนบนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือคือ ลุ่มแม่น้ำโขง รองลงมาอยู่ในลุ่มแม่น้ำมูล ส่วนพื้นที่เสี่ยง ภัยแล้งซ้ำซาก 5 จังหวัด ได้แก่ จ.ขอนแก่น มุกดาหาร ชัยภูมิ นครราชสีมา สุรินทร์ ส่วนมากจะกระจุกตัวตอนล่างของภาคในลุ่มแม่น้ำชี และบางส่วนของทางตะวันออก ของภาค

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลดังกล่าวเป็นเพียงวิเคราะห์เชิงสถิติจากการบันทึกข้อมูลสภาพอากาศและปริมาณน้ำฝนย้อนหลังเท่านั้น ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่แตกตื่น แต่การศึกษาในครั้งนี้จะมีประโยชน์สำหรับการเตรียมรับมือกับอุทกภัยและภัยแล้งที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น เพื่อป้องกันความเสียหายของประชาชนในพื้นที่

นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า สถานการณ์อุทกภัยใน 20 จังหวัด คลี่คลายแล้ว 11 จังหวัด ยังคงมีน้ำท่วมอีกใน 9 จังหวัด ประกอบด้วย จ.หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี นครนายก ปราจีนบุรี และเพชรบุรี