posttoday

มท.1 มอบนโยบายให้ผู้ว่าฯภาคกลางรับมือน้ำท่วม

22 ตุลาคม 2553

ชวรัตน์ มอบนโยบาย 6 ข้อ ให้ผู้ว่าฯภาคกลางแก้ปัญหาน้ำท่วม จี้ลงพื้นที่บูรณาการการประสานงานช่วยเหลือ เตือนกทม.เฝ้าระวัง 24 ชม.

ชวรัตน์ มอบนโยบาย 6 ข้อ ให้ผู้ว่าฯภาคกลางแก้ปัญหาน้ำท่วม จี้ลงพื้นที่บูรณาการการประสานงานช่วยเหลือ เตือนกทม.เฝ้าระวัง 24 ชม.

นายชวรัตน์  ชาญวีรกุล  รมว.มหาดไทย ได้เป็นประธาน  การประชุมเพื่อเตรียมการรองรับสถานการณ์อุทกภัย ปี 2553 พื้นที่ภาคกลาง  ที่ศาลากลางจังหวัดนนทบุรี   โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด พระนครศรีอยุธยา นนทบุรี   ลพบุรี สระบุรี ปทุมธานี และผู้แทนกรุงเทพมหานคร   และ  อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้แทนกรมอุตุนิยมวิทยา  เข้าร่วมประชุมและรายงานสถานการณ์ ด้วย

นายชวรัตน์ กล่าวตอนหนึ่ง สืบเนื่องจากสถานการณ์น้ำเหนือ  ที่ไหลผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา  มีปริมาณสูง  ประกอบกับการระบายน้ำ  จากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์  เข้าสู่ลำน้ำเจ้าพระยา  และการคาดการณ์ของกรมอุทกศาสตร์  ที่คาดว่า  จะมีน้ำทะเลหนุนสูง  ระหว่างวันที่ 24-27 ต.ค.  อีกทั้ง สภาวะฝน  ที่อาจจะตกซ้ำในพื้นที่ภาคกลางตอนล่าง  รวมทั้ง กรุงเทพมหานคร  ดังนั้น  เพื่อให้การเตรียมการรองรับสถานการณ์  เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ  ผมขอเน้นย้ำเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติ  เพื่อให้ทุกท่านคำนึงถึงความสำคัญ  และรับไปดำเนินการต่อไป  ดังนี้1. ให้ศูนย์อำนวยการ และบรรเทาสาธารณภัยของจังหวัด  จัดการประชุมเป็นประจำ “ทุกวัน”  เพื่อเป็นการ “กระตุ้น”  ให้เจ้าหน้าที่มีความตื่นตัว รับทราบสถานการณ์ล่าสุด  และ share ข้อมูล  ให้ทุกฝ่ายรับทราบเท่ากัน  เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเร่งด่วน  สามารถทำได้อย่างทันท่วงที  จนกว่าสถานการณ์น้ำท่วม  รวมถึง สภาพภูมิอากาศ  จะคลี่คลาย  ที่สำคัญ ต้องประสานงาน กับหน่วยงานของกรมชลประทาน  กรมอุตุนิยมวิทยา  อย่างใกล้ชิด  เพื่อประโยชน์ในการคาดการณ์สถานการณ์  รวมทั้ง ประสานให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ  ทั้งการไฟฟ้า  และการประปา  เข้ามามีส่วนร่วม  ในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน  

นายชวรัตน์ กล่าวต่อว่า 2. ให้หน่วยในพื้นที่  ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  อำเภอ  กำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน  อาสาสมัคร  เป็นศูนย์กลาง  ในการ “กระจายข้อมูลข่าวสาร”  ให้ประชาชนรับทราบ  ความคืบหน้าของสถานการณ์“ทุกวัน”  และขอให้ใช้ทุกช่องทางการสื่อสาร ในการแจ้งเตือนประชาชน  ไม่ว่าจะเป็นสถานีวิทยุ โทรทัศน์  วิทยุชุมชน หอกระจายข่าว  เสียงตามสาย  เคเบิ้ลทีวีท้องถิ่น  รวมทั้ง  ดูแลเรื่องวัสดุอุปกรณ์  ในการติดต่อสื่อสาร  ทั้งโทรศัพท์  และวิทยุสื่อสาร ให้มีความพร้อมที่จะใช้งาน   3. พื้นที่ใด  ที่คาดว่าจะเป็นจุดเสี่ยง  ที่น้ำจะเอ่อล้นเข้าท่วมซ้ำซาก  ซึ่งตนเองได้เคยย้ำไปแล้วว่า  ขอให้ท่านนำสถิติข้อมูลเก่ามาพิจารณา  เพื่อหาทางป้องกันและแก้ไขปัญหาในพื้นที่นั้น ๆ  รวมทั้ง  จัดเตรียมเครื่องอุปโภค  บริโภคที่จำเป็น  อาทิ  ข้าวสาร  อาหารแห้ง  น้ำดื่ม  ไว้แต่เนิ่น ๆ  เพื่อที่จะช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างรวดเร็ว 

4. หากมีพื้นที่ใด  เกิดสถานการณ์อุทกภัยรุนแรง  ขอให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด  ลงไปอำนวยการในพื้นที่ด้วยตนเอง  รวมทั้งรายงานให้กระทรวงฯ ทราบทันที  เพื่อที่ส่วนกลาง  จะได้ไปช่วยเหลือ  สนับสนุน  5. ให้จังหวัดมีการวางแผน  เตรียมเส้นทางสำรอง  ไว้สำหรับการสัญจรไปมาของประชาชน  กรณีที่เส้นทางหลัก  ถูกน้ำท่วม  หรือได้รับความเสียหาย  ตลอดจน การประชาสัมพันธ์  ให้ประชาชนทั่วไป  ได้รับรู้ รับทราบด้วย  และ  6. ในส่วนของกรุงเทพมหานคร  ขอให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด  เฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง  และแจ้งเตือนให้ประชาชนทราบ  เพื่อเตรียมรับสถานการณ์  รวมทั้ง  จัดเตรียมกระสอบทราย  ให้เพียงพอ  สำหรับป้องกันพื้นที่  ในเขตที่อยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งนี้ขอชื่นชมผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนที่ได้ทำงานกันอย่างเต็มที่