posttoday

DSIเตือนระวังตกเป็นเหยื่อคนร้ายหลอกโอนเงิน ชี้ใช้สารพัดวิธีลวง

10 กันยายน 2561

ดีเอสไอ-ทรูมันนี่เตือนประชาชนระวังตกเป็นเหยื่อคนร้ายหลอกโอนเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล หลังจับวัยรุ่นก่อเหตุได้กว่า 20 คน

ดีเอสไอ-ทรูมันนี่เตือนประชาชนระวังตกเป็นเหยื่อคนร้ายหลอกโอนเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล หลังจับวัยรุ่นก่อเหตุได้กว่า 20 คน

เมื่อวันที่ 10 ก.ย. พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พร้อมด้วย พ.ต.ท.วิชัย สุวรรณประเสริฐ ผู้บัญชาการสำนักคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ และนายอธิปัตย์ พลอยพรายแก้ว ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารความเสี่ยงและตรวจสอบทุจริต บริษัท ทรูมันนี่ จำกัด ร่วมกันแถลงข่าวเตือนภัยประชาชน ที่ทำรายการ ธุรกรรมการเงินผ่านระบบอินเทอร์เน็ต หลังเจ้าหน้าที่สามารถจับกุม กลุ่มเยาวชนกว่า 20 คน ในจังหวัดจันทบุรี ซึ่งได้ก่อเหตุหลอกลวงให้ประชาชนโอนเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล

พ.ต.ท.ประวุธ กล่าวว่า ปัจจุบันมีประชาชนเข้าร้องเรียนผ่านหน่วยบริการประชาชนด้านงานคดีพิเศษในเรื่องที่เกี่ยวกับภัยไซเบอร์ โดยที่ผ่านมามีการแจ้งเบาะแสว่า มีการหลอกลวงผ่านเฟซบุ๊ก จำนวน 207 เรื่อง หลอกลวงผ่าน คอลเซ็นเตอร์ ไม่น้อยกว่า 8 เรื่อง รวมทั้งมีประชาชนผู้เสียหายเข้ามาร้องเรียนให้ข้อมูลการกระทำความผิดโดยใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นเครื่องมือในการหลอกลวงประชาชนเพื่อให้หลงเชื่อโอนเงินให้

"กลุ่มคนร้ายมีวิธีการหลอกลวงหลากหลายรูปแบบ อาทิ การเข้าไปแฮกเฟซบุ๊ก หรือไลน์ของบุคคลอื่นเพื่อที่จะหลอกขอยืมเงินจากเพื่อนในเฟซบุ๊คหรือไลน์นั้นๆ, การจัดทำเฟซบุ๊กปลอมแอบอ้างว่า เป็นบริษัทชื่อดัง หลอกเหยื่อว่า ได้รับรางวัลใหญ่ แต่ต้องโอนเงินมาก่อนเพื่อยืนยันสิทธิ์, การปลอมเป็นร้านค้าขายของออนไลน์, หลอกให้ซื้อของราคาถูก, หลอกขอรับเงินบริจาค หรือประกาศหาคนทำงานออนไลน์ โดยหลอกให้ส่งสำเนาบัตรประชาชน และหมายเลขบัญชีธนาคารเพื่อคนร้ายจะนำเอาข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในการรับเงินที่ได้จากการกระทำความผิดอื่นๆ"รองอธิบดีดีเอสไอกล่าว

ด้าน พ.ต.ท.วิชัย สุวรรณประเสริฐ ผู้บัญชาการสำนักคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ กล่าวว่า พฤติการณ์ของขบวนการนี้จะรวมกลุ่มกันในร้านเกม เพื่อง่ายต่อการเข้าถึงระบบข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต ใช้วิธีการแฮกข้อมูล และสวมรอยเป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊ก หรือสื่อโซเชียล ขอยืมเงินบุคคลอื่น หลอกลวงว่า เหยื่อได้รับรางวัลใหญ่แต่ต้องโอนเงินมาก่อน เพื่อยืนยันสิทธิ์ หรือปลอมเป็นร้านค้าออนไลน์ขายสินค้าแบรนคุณภาพในราคาถูก ก่อนจะให้โอนเงินผ่านระบบ จากการสืบสวนพบว่า นอกจากขบวนการนี้ยังมีกลุ่มผู้ก่อเหตุกระจายในหลายพื้นที่ มูลค่าความเสียหายกว่า 7 ล้านบาท

ขณะที่ นายอธิปัตย์ พลอยพรายแก้ว ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารความเสี่ยงและตรวจสอบทุจริต บริษัท ทรูมันนี่ จำกัด ในฐานะเอกชนผู้ให้บริการช่องทางโอนเงินออนไลน์ กล่าวว่า บริษัทฯ ซึ่งเป็นเจ้าของบัญชีมีระบบการป้องกันและตรวจสอบเส้นทางการเงิน ที่มีความรัดกุม หากพบว่า มีการโอนเงินเข้าบัญชีที่ผิดปกติ จะสามารถตรวจสอบได้ รวมทั้งยังได้ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการติดตามจับกุมตัวผู้กระทำความผิดด้วย

ทั้งนี้ขอแนะนำข้อควรพึงระวัง เมื่อใช้สื่อโซเชียล แก่ประชาชนดังนี้

1.ระมัดระวังการลงข้อมูลส่วนบุคคลในสื่อสังคมออนไลน์ เพราะคนร้ายอาจนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในการกระทำความผิดได้ เช่น ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ รูปถ่ายบัตรประชาชน รวมถึงรูปถ่ายส่วนตัวของตนและบุคคลในครอบครัว

2.การตั้งรหัสผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ไม่ควรใช้รหัสผ่านที่คาดเดาได้ง่าย เช่น หมายเลขโทรศัพท์ วันเดือนปีเกิด หรือรหัสประจำตัวนักเรียน/นักศึกษา

3.เมื่อมีเพื่อนหรือคนรู้จักขอยืมเงินผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ ควรมีการติดต่อไปยังบุคคลดังกล่าวทางช่องทางอื่นอีกครั้ง เพื่อเป็นการยืนยันตัวตน ไม่ควรรีบโอนเงินให้ทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งการโอนเงินเข้าชื่อบัญชีธนาคารของบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ชื่อของเพื่อนที่มายืมเงิน

4.เมื่อพบเห็นเฟสบุ๊คหรือเว็บไซต์รับสมัครงาน ให้ตรวจสอบว่า บริษัทดังกล่าวมีตัวตนจริงหรือไม่ มีที่ตั้งอยู่ที่ใด ลักษณะของงานที่ทำเป็นอย่างไร ช่องทางการติดต่อกับบริษัทมีช่องทางที่สามารถยืนยันตัวตนได้นอกจากทางเฟสบุ๊คหรือทางไลน์หรือไม่ หากไม่แน่ใจ ไม่ควรส่งสำเนาบัตรประชาชน หมายเลขบัญชีธนาคารให้โดยเด็ดขาด

5.การรับจ้างเปิดบัญชีธนาคารให้บุคคลอื่น หากบัญชีนั้นถูกนำไปใช้ในการกระทำความผิด เจ้าของบัญชีจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายด้วย เพราะถือว่าเป็นการกระทำที่ให้ความร่วมมือกับมิจฉาชีพ จึงขอให้ประชาชนที่หลงผิด รีบปิดบัญชีที่รับจ้างเปิดไว้โดยเร็ว

ภาพ www.fm91bkk.com