posttoday

"ครูแดง เตือนใจ" ลุ้นรางวัล "Nansen Award" ในฐานะผู้อุทิศตนแก้ปัญหาคนไร้รัฐ

10 กันยายน 2561

เตือนใจ ดีเทศน์ ในฐานะผู้อุทิศตนทำงานแก้ปัญหาบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ ติด 1 ใน 4 “Nansen Award” ของ UNHCR

เตือนใจ ดีเทศน์ ในฐานะผู้อุทิศตนทำงานแก้ปัญหาบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ ติด 1 ใน 4 “Nansen Award” ของ UNHCR

เมื่อวันที่ 10 ก.ย. สำนักข่าวชายขอบ รายงานว่า เว็บไซต์ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (http://www.unhcr.org) เผยแพร่ข่าว นางเตือนใจ ดีเทศน์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) และกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้รับการเสนอเข้ารอบสุดท้ายจากเอเชียสำหรับรางวัล Nansen Refugee Award ซึ่งเป็นรางวัลเชิดชูเกียรติให้แก้ผู้อุทิศตนแก่ผู้ลี้ภัย-คนไร้รัฐไร้สัญชาติ ผู้พลัดถิ่น

นางเพีย พากีโอ รักษาการผู้แทนข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า โดยทั่วไปทราบว่ายูเอ็นเอชซีอาร์ทำงานด้านผู้ลี้ภัย แต่จริงๆ แล้วยังทำเรื่องบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติด้วย ซึ่งรางวัล Nansen เปรียบเหมือนรางวัลโนเบลซึ่งยูเอ็นเอชซีอาร์จัดขึ้นเพื่อมอบให้กับบุคคลที่อุทิศชีวิตเพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยและบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ ซึ่งนางเตือนใจได้ทำงานด้านนี้มานาน 40 ปีและได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าได้เปลี่ยนแปลงชีวิตคนจำนวนมาก ขณะที่ประเทศไทยได้มีการพัฒนางานด้านนี้จนทำให้จำนวนคนไร้รัฐไร้สัญชาติลดลง

“การที่รางวัลนี้มอบให้กับคนที่ทำงานไร้รัฐไร้สัญชาติครั้งนี้เป็นครั้งแรกในรอบ 60 ปี ถือว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดีมากๆ และแสดงให้เห็นว่างานที่คุณเตือนใจทำนั้นยิ่งใหญ่จริงๆ และขอชื่นชมรัฐบาลไทยด้วยเช่นกันที่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้คืบหน้าเป็นอย่างดี” นางเพีย พากีโอ กล่าว

"ครูแดง เตือนใจ" ลุ้นรางวัล "Nansen Award" ในฐานะผู้อุทิศตนแก้ปัญหาคนไร้รัฐ

นางเตือนใจกล่าวว่า ขอบคุณทางยูเอ็นเอชซีอาร์ที่เสนอชื่อให้ได้รับรางวัลนี้ ซึ่งจะทำให้สังคมไทยและรัฐบาลไทย รวมทั้งประเทศต่างๆได้รับรู้ถึงปัญหาของคนไร้รัฐซึ่งเป็นคนที่ไม่มีตัวตนทางกฎหมาย และคนเหล่านี้ไม่มีจำนวนตัวเลขที่แน่นอน ส่วนคนไร้สัญชาตินั้นคือบุคคลที่มีรายชื่อในสำนักทะเบียนราษฏรแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการพัฒนาสถานะบุคคลหรือรับรองสิทธิความเป็นพลเมือง

โดยตลอดที่ทำงานมา 40 ปีเชื่อว่าปัญหานี้มีอยู่ในทุกประเทศ เพียงแต่ประเทศไหนจะหยิบยกมาเป็นประเด็นสำคัญแค่ไหน ขณะที่ประเทศไทยมีความก้าวหน้ามากทั้งในเรื่องของกฎหมาย มติคณะรัฐมนตรีและประกาศกระทรวงต่างๆ แต่ยังมีปัญหาในทางปฎิบัติเนื่องจากบางพื้นที่ที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)ได้ไปตรวจสอบการร้องเรียน พบว่ามาตรฐานการทำงานของเจ้าหน้าที่มีความแตกต่างกัน แม้บางอำเภอมีทัศนคติที่ดี แต่บางอำเภอก็ยังมีปัญหา

นางเตือนใจกล่าวว่า อีกปัญหาหนึ่งที่พบคือปัญหาในเชิงโครงสร้างเพราะมีประชาชนอีกหลายกลุ่มที่กฎหมายยังไม่ได้พัฒนาไปถึงสถานะของเขา เช่น คนที่อยู่ในประเทศไทยมานาน 30-40 ปีจนกลมกลืนกับสังคมไทยและมีลูกหลานเป็นคนไทยหมดแล้ว แต่คนเฒ่าเหล่านี้กลับถูกทอดทิ้งไว้ โดยมีผู้เฒ่าที่เป็นคนไร้รัฐจำนวนหนึ่งและผู้เฒ่าไร้สัญชาติอีกประมาณ 8 หมื่นคนในประเทศไทย เช่นเดียวกับเด็กๆที่เรียกว่าเด็กติดจีคือมีปัญหาเรื่องสถานะบุคคลอีกจำนวนไม่น้อย

“ความสำเร็จที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพราะเราทำงานคนเดียว แต่เกิดจากทุกภาคส่วนทั้งรัฐและเอ็นจีโอ นักกฏหมาย ชาวบ้าน รวมถึงแหล่งทุน” นางเตือนใจ กล่าว

ภาพจาก สำนักข่าวชายขอบ

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักข่าวชายขอบ