posttoday

สธ.สั่งเฝ้าระวัง 5 โรคที่มากับน้ำ

22 ตุลาคม 2553

สธ.สั่งเฝ้าระวัง 5 โรคที่มากับน้ำ จุรินทร์ สั่งการด่วน 7 ประเด็น เตรียมสรุปตัวเลขความเสียให้ ก่อนแจ้ง ครม.อังคารนี้

สธ.สั่งเฝ้าระวัง 5 โรคที่มากับน้ำ จุรินทร์ สั่งการด่วน 7 ประเด็น เตรียมสรุปตัวเลขความเสียให้ ก่อนแจ้ง ครม.อังคารนี้

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานศูนย์แก้ไขปัญหาอุทกภัยด้านการแพทย์และกระทรวงสาธารณสุข (วอร์รูม) เปิดเผยว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข มีนโยบายเน้นย้ำให้ทุกจังหวัดในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม เฝ้าระวัง 5 โรคสำคัญที่จะมากับน้ำ ได้แก่ 1.โรคอุจจาระร่วง 2.โรคไข้ฉี่หนู 3.ไข้หวัดใหญ่ 4.ปอดบวม 5.ตาแดง รวมทั้งโรคอื่นๆ อาทิ แผลติดเชื้อ โรคหัด แต่อย่างไรก็ตามยังไม่พบการระบาดในทุกๆ โรค

สำหรับอาการของโรคฉี่หนู จะมีไข้สูง ปวดกล้ามเนื้อโดยเฉพาะน่อง ส่วนไข้หวัดจะมีไข้ไอและอ่อนเพลีย หากอาการหนักอาจมีอาการปอดบวมแทรกซ้อน เหนื่อยหอบ หายใจติดขัด เจ็บหน้าอก ทั้งนี้หากประชาชนมีอาการเหล่านี้ขอให้รีบไปพบแพทย์โดยทันที

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ได้สั่งการเรื่องเร่งด่วน 7 ข้อ คือ 1.ต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่อุทกภัยทราบว่าสามารถใช้บัตรประชาชนใบเดียวเข้ารับการรักษาได้ทุกโรงพยาบาลโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย 2.สำรองยาเวชภัณฑ์และจัดการกระจายลงพื้นที่ประสบภัยตลอด 24 ชั่วโมง 3.จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้ได้มากที่สุด เพื่อดูแลทั้งร่างกายและจิตใจ 4.แก้ปัญหาโรงพยาบาลที่ประสบเหตุน้ำท่วมโดยเร็ว

5.เฝ้าระวังและจัดทำแผนป้องกันน้ำท่วมในโรงพยาบาลที่มีแนวโน้มจะถูกน้ำท่วม 6.ให้ความสำคัญในการให้บริการผู้ป่วยเรื้อรัง โดยให้หน่วยแพทย์เคลื่อนเข้าจัดระบบเข้าไปให้บริการ พร้อมทั้งประสานกับโรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งมีรายชื่อและที่อยู่ของผู้ป่วยเรื้อรัง เพื่อให้บริการได้อย่างครอบคลุม 7.เจ้าหน้าที่ที่ออกให้บริการ หากที่พักถูกน้ำท่วมก็ให้ไปพักอาศัยที่อื่น อาทิ โรงแรมได้ โดยกระทรวงสาธารณสุขจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายตามจริงให้

นายจุรินทร์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขจะรวบรวมตัวเลขความเสียหายทั้งหมดเพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 26 ต.ค.

ขณะที่นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องไม่ให้ศูนย์กลางของการรักษาคือโรงพยาบาลต่างๆ ประสบเหตุน้ำท่วม โดยเฉพาะโรงพยาบามริมแม่น้ำเจ้าพระยาต้องเตรียมพร้อมและสร้างแนวกั้นน้ำหรือเขื่อนให้สูงกว่าระดับน้ำประมาณ 2 เมตร