posttoday

"จิตแพทย์" แนะคำนึงถึงจิตใจมากกว่าความน่าเอ็นดูใน "คลิปเด็กเล่นแป้ง"

09 กันยายน 2561

“หมอมินบานเย็น” แนะสังคมและคุณครู ควรคำนึงถึงจิตใจมากกว่าความน่าเอ็นดูของเด็กในคลิปเล่นแป้ง ชี้วิธีการผิดไม่เหมาะสม

“หมอมินบานเย็น” แนะสังคมและคุณครู ควรคำนึงถึงจิตใจมากกว่าความน่าเอ็นดูของเด็กในคลิปเล่นแป้ง ชี้วิธีการผิดไม่เหมาะสม

เมื่อวันที่ 9 ก.ย. กรณี "คลิปเด็กแอบเล่นแป้ง" ที่กำลังโด่งดังและถูกแชร์ต่ออย่างกว้างขวางในสังคมออนไลน์ พญ.เบญจพร ตันตสูติ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น หรือ “หมอมินบานเย็น” จากเพจดังเข็นเด็กขึ้นภูเขา แสดงความคิดเห็นว่า สิ่งที่ต้องคำนึงถึงมากกว่าความน่าเอ็นดูของเด็กในคลิปวิดีโอ

วันนี้มีคลิปวิดีโออันหนึ่งที่แพร่หลายในเพจต่างๆ คนที่ได้ดูส่วนใหญ่ก็รู้สึกเอ็นดูและขำในความไร้เดียงสา แต่หมอเห็นแล้วรู้สึกไม่สบายใจและคิดว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องมาเขียนเรื่องนี้ให้สังคมรับทราบ และมีความละเอียดอ่อนมากขึ้นในเรื่องของเด็ก

เป็นคลิปที่คุณครูถ่ายเด็กผู้ชายคนหนึ่งที่เป็นนักเรียนในความดูแล เด็กเทแป้งออกมาเล่นซน ในคลิปเด็กกำลังร้องไห้และบอกว่ากลัวครูจะจับส่งตำรวจ ต่อจากนั้นครูถามเด็กกลับไปว่ากลัวครูหรือตำรวจมากกว่ากัน เด็กจึงตอบว่ากลัวครูและก็ยังร้องไห้ต่อ

หมอคิดว่าเด็กมีความกลัวอย่างมากว่าครูจะจับเขาส่งตำรวจจริงๆ

จริงอยู่ว่าการเล่นแป้งเป็นเรื่องที่ไม่ถูก และต้องจัดการ แต่วิธีการจัดการของครู หมอก็คิดว่าไม่เหมาะสมเช่นกัน ในการถ่ายคลิปวิดีโอมาเผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย

และเรื่องการขู่เด็กให้กลัวก็เหมือนกัน หมอไม่คิดว่ามันจะเป็นวิธีการที่ยั่งยืนในการจัดการกับพฤติกรรมของเด็ก

หลายๆครั้งที่ผู้ใหญ่ไม่สามารถจัดการพฤติกรรมของเด็กได้ ทำให้เกิดความโกรธ หงุดหงิด เสียใจ ที่เด็กไม่เชื่อฟัง

ที่โกรธมาก ลึกๆอาจจะเป็นเพราะว่ารู้สึกว่าความเป็นผู้ใหญ่ถูกท้าทาย

ที่เสียใจ ก็เพราะน้อยใจที่ไม่เชื่อฟัง ทั้งๆที่รักและเป็นห่วง

อารมณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้ใหญ่ทำและพูดบางสิ่งบางอย่างรุนแรงออกไป

คำพูดอย่างหนึ่งที่ผู้ใหญ่มักจะพูดกับลูกเวลาที่จัดการพฤติกรรมไม่ได้ ก็คือ คำพูดข่มขู่

สำหรับเด็กเล็กๆ คำพูดข่มขู่อาจจะได้ผล เพราะทำให้เด็กกลัว เมื่อเด็กกลัวก็จะหยุดพฤติกรรมที่พ่อแม่ไม่ชอบ

อย่างเช่น คำขู่ ชนิดที่ว่า

"ครูจะเรียกตำรวจมาจับหนูไปเข้าคุก ถ้าหนูแกล้งเพื่อน"

"หนูทำแบบนี้ พ่อจะให้โจรมาจับตัวไปเรียกค่าไถ่"

"ถ้าหนูยังทำตัวแบบนี้ แม่จะเป็นลมตายไปเลยนะ หนูจะไม่ได้เห็นแม่อีก"

คำขู่แบบนี้มีผลกับเด็กๆจนคาดไม่ถึงทีเดียว

ในเด็กนั้น พื้นฐานสำคัญที่จะให้เด็กคนหนึ่งเติบโตไปเป็นคนที่มีจิตใจเข้มแข็ง นั่นก็คือ ความปลอดภัยและมั่นคงทางจิตใจ

ถ้าไม่มี ก็เหมือนต้นไม่ที่ขาดรากแก้ว

เด็กที่ถูกข่มขู่อยู่บ่อยๆ ยิ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับสวัสดิภาพของชีวิตตัวเอง และคนที่เด็กรัก เช่นพ่อแม่ เด็กคนนั้นก็จะเติบโตมาด้วยความกลัว ไม่มั่นคง

ส่งผลให้ อาจจะกลายเป็นคนไม่มั่นใจในตัวเอง อารมณ์ขึ้นๆลงๆ โกรธง่าย เสียใจ หวั่นไหว และ เปราะบางกับสิ่งที่เข้ามากระทบ มีความเสียงที่จะมีปัญหาทางจิตใจได้ง่าย เช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า

อำนาจของผู้ใหญ่ ไม่ได้เกิดจากความกลัว แต่ควรจะมาจากความรักและเคารพที่เด็กมีต่อผู้ใหญ่ ซึ่งไม่ได้เกิดจากการขู่ให้กลัว แต่เกิดจากสัมพันธภาพที่ก่อตัวมาเป็นเวลานาน ร่วมกับการให้กฎระเบียบที่เหมาะสม ให้เด็กรู้ว่าอะไรควรหรือไม่ควรทำ โดยที่ไม่ต้องข่มขู่

ที่สำคัญคำขู่ จะใช้ผลน้อยลงเรื่อยๆเมื่อเด็กๆโตขึ้น และยิ่งทำให้เด็กโกรธ เกิดความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้นด้วย

ความเห็นส่วนตัวของหมอเมื่อได้เห็นคลิปของเด็กคนนี้ หมอคิดว่า

1)หมอไม่อยากให้คุณครูถ่ายคลิปเด็กแล้วเอามาลง เพราะอย่างหนึ่ง การทำเช่นนี้สุ่มเสี่ยงเป็นการละเมิดสิทธิเด็กตามพรบ.(แม้จะคิดว่าคุณครูไม่เจตนา) พ่อแม่เด็กอาจจะไม่สบายใจ เด็กเองจะรู้สึกอย่างไรเมื่อเห็นเขาอยู่ในคลิปวิดีโอที่คนดูแล้วก็หัวเราะด้วยความตลกขบขัน ถึงแม้ว่าจะบอกว่าเป็นความเอ็นดูก็ตาม

2)เด็กดูมีความกลัวอย่างมากจากการถูกข่มขู่ซึ่งตรงนี้มีผลกระทบกระเทือนต่อสภาพจิตใจเด็ก หากเกิดในระยะยาว ความกลัวและความรู้สึกไม่ปลอดภัยจะทำให้เกิดความไม่มั่นคงทางจิตใจได้

3)แทนที่ครูจะถ่ายคลิปแล้วเอามาลงเฟซบุ๊ก ครูควรจะคุยกับเด็กส่วนตัว ไม่ขู่ให้กลัว สร้างแรงจูงใจในการปรับพฤติกรรม อาจจะเรียกพ่อแม่มาพูดคุยถึงลักษณะนิสัยใจคอของเด็กเพื่อหาแนวทางในการช่วยเหลือปรับพฤติกรรมอย่างยั่งยืนต่อไปมากกว่า

หมอเข้าใจว่าคุณครูมีความปรารถนาดีที่จะปรับพฤติกรรมของเด็ก แต่เรื่องของความรู้สึกเป็นเรื่องที่เราต้องมีความละเอียดอ่อน แถมโซเชียลมีเดียเป็นสื่อที่ใครๆก็สามารถโพสต์อะไรก็ตามที่ต้องการลงไป เพียงแค่กดปุ่มเดียว ทุกอย่างก็จะกระจายไปทั่ว

เพราะฉะนั้นคนที่ใช้โซเชียลมีเดียต้องมีความรับผิดชอบ มีสติรู้ตัว ในการกระทำของตัวเองเสมอ โดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะมากกว่าเด็กๆนะคะ