posttoday

รายงานสถานการณ์อุทกภัยล่าสุดจาก"วอร์รูม"สาธารณสุข

22 ตุลาคม 2553

โดย.....ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน

โดย.....ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน

รายงานสถานการณ์อุทกภัยล่าสุดจาก"วอร์รูม"สาธารณสุข ภาพประกอบข่าว

ข้อมูลล่าสุดจาก ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอุทกภัยด้านการแพทย์และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข (วอร์รูม) ที่สรุปสถานการณ์และการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย เพื่อรายงานต่อ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข พร้อมทั้งผู้บริหารระดับสูง ในเวลา 11.30 น. ของวันที่ 22 ต.ค.

1.สถานการณ์อุทกภัย ระหว่างวันที่ 10 – 21 ต.ค. มีผู้ประสบภัยจำนวน 21 จังหวัด และวันที่ 22 ต.ค.มีพื้นที่ประสบภัยเพิ่มขึ้นเป็น 28 จังหวัด 170 อำเภอ 1,195 ตำบล 7,800 หมู่บ้าน ได้แก่ พิจิตร ชัยนาท สุพรรณบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ระยอง ตราด สระแก้ว นครราชสีมา ปราจีนบุรี ลพบุรี นครสวรรค์ ชัยภูมิ สระบุรี เพชรบูรณ์ นครนายก ศรีสะเกษ ตาก สุรินทร์ บุรีรัมย์ ขอนแก่น นนทบุรี กำแพงเพชร นครปฐม อุทัยธานี สิงห์บุรี และจันทบุรี

ส่วนพื้นที่ประสบภัยที่ต้องเฝ้าระวัง มี 3 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ลพบุรี และชัยภูมิ

สำหรับพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ได้ขยายพื้นที่ไปยังอำเภอพิมายและกำลังขยายพื้นที่ไปยังอำเภอจักราช รวมทั้งจะขยายพื้นที่ไปยังโรงพยาบาลที่อยู่ภายใต้ลุ่มแม่น้ำลำพระเพลิงและลำตะคอง คืออำเภอประทาย อำเภอสีดา และอำเภอลำทะเมนชัย

นอกจากนี้ ได้ให้หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกบริการทั้งสิ้น 94 หน่วย ให้บริการผู้ประสบภัยจำนวน 14,080 คน อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้มีประชาชนได้รับผลกระทบแล้ว 284,389 ครัวเรือน รวม 814,406 คน เสียชีวิต 19 ราย จากจังหวัดลพบุรี 5 ราย นครราชสีมา 6 ราย บุรีรัมย์ 4 ราย และระยอง ตราด ชัยภูมิ สระแก้ว จังหวัดละ 1 ราย

โรคที่พบมากที่สุด คือน้ำกัดเท้า 58.08% ปวดเมื่อย 18.79% โรคผิวหนังผื่นคัน 7.06% ไข้หวัด 5.63% และเครียดวิตกกังวล 4.03%

2.สถานบริการที่ได้รับความเสียหาย มีจำนวน 219 แห่ง แต่ที่ได้รับผลกระทบหนักมีทั้งสิ้น 5 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลพิมาย โรงพยาบาลนครราชสีมา โรงพยาบาลจิตเวชนมหาราชนครราชสีมา โรงพยาบาลชัยภูมิ (โรงพยาบาลเอกชนอีก 1 แห่ง)

การสนับสนุนและการให้ความช่วยเหลือจากส่วนกลาง 1.ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฯ ได้จัดเตรียมยาชุด อาทิ โรคน้ำกัดเท้า ยาทาแก้คัน จำนวน 172,000 ชุด 2.กรมอนามัย ออกให้บริการและจัดสิ่งสนับสนุนใน 4 จังหวัด คือ สระบุรี ลพบุรี นครราชสีมา ชัยภูมิ ด้วยการสุ่มเก็บตัวอย่างอาหารและน้ำดื่ม มอบคู่มือประชาชนเรื่องการสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมฯ แจกเวชภัณฑ์ยา ถุงดำ คลอรีน สารส้ม เจลล้างมือ และวางแผนช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมโดยเน้นการเฝ้าระวังทางด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมในพื้นที่

กระทรวงสาธารณสุข ยังได้สั่งการเพื่อให้หน่วยงานดำเนินการอย่างเร่งด่วน 3 ข้อ ได้แก่ 1.แจ้งให้หน่วยบริการสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่ง คลินิกเอกชนและโรงพยาบาลเอกชน ที่เข้าร่วมโครงการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ให้การรักษาผู้ประสบภัยโดยไม่คิดมูลค่าทั้งในและนอกเขตการให้บริการ (คนในพื้นที่ภัยพิบัติใช้บัตรประชาชนเข้ารับการรักษาฟรีได้ทุกโรงพยาบาล)

2.แจ้งให้สถานบริการสุขภาพที่ประสบภัยและเป็นพื้นที่เสี่ยง เตรียมความพร้อมรับและตอบสนองต่อสถานการฉุกเฉินในประเด็นต่อไปนี้

2.1จัดทำแผนสำรองทรัพยากรให้เพียงพอสำหรับการให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วยกรณีการเกิดอุทกภัย

2.2จัดทำแผนป้องกันสถานที่สำคัญในโรงพยาบาล เช่น คลังเวชภัณฑ์ เครื่องมือทางการแพทย์ที่มีราคาแพง เครื่องปั่นไฟ

2.3จัดทำระบบส่งต่อ กรณีโรงพยาบาลได้รับผลกระทบจากอุทกภัย

2.4ปรับระบบการให้บริการสุขภาพให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหา เพื่อให้สามารถให้บริการสุขภาพได้อย่างต่อเนื่อง

3.มอบให้กรมที่เกี่ยวข้องออกหน่วยเฉพาะกิจตามภารกิจ ช่วยเหลือ 3 จังหวัดที่ประสบภัยรุนแรง ได้แก่ นครราชสีมา ลพบุรี ชัยภูมิ โดยมอบให้กรมสุขภาพจิตช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภัยน้ำท่วม กรมควบคุมโรคเฝ้าระวังโรคติดต่อ กรมอนามัยดูแลด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม กรมสนับสนุนบริการสุขภาพตรวจสอบความเสียหายของเครือ่งมือและสถานที่ที่ได้รับผลกระทบ       

พร้อมกันนี้ยังมีรายงานสรุปการดำเนินงานของกรมสุขภาพจิตที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา โดยใช้แบบคัดกรองภาวะซึมเศร้าและความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย (DS8) ในการประเมินผู้รับบริการ และจากการประเมินพบว่ามีผู้เครียดระดับน้อย 1 ราย ระดับปานกลาง 13 ราย ระดับสูง 5 ราย และระดับรุนแรง 2 ราย