posttoday

ตามรอยเส้นทาง ปืนใหญ่สนามหลวง

08 กันยายน 2561

การขุดค้นพบ "ปืนใหญ่" กลางท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2561 ที่คาดว่าน่าจะถูกใช้งานในช่วงรัชกาลที่ 1 การวิเคราะห์ถึงการพบอาวุธในช่วงสงครามโบราณจึงเป็นเรื่องที่น่าศึกษา

โดย...กันติพิชญ์ ใจบุญ

ผลจากการขุดค้นพบ "ปืนใหญ่" กลางท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2561 ที่คาดว่าปืนใหญ่ดังกล่าวน่าจะถูกใช้งานในช่วงรัชกาลที่ 1 การวิเคราะห์ถึงการพบอาวุธในช่วงสงครามโบราณจึงเป็นเรื่องที่น่าศึกษา

ปืนใหญ่โบราณกระบอกนี้ ไม่ใช่กระบอกแรกที่ขุดพบในท้องสนามหลวง ข้อมูลระบุว่าตัวสภาพปืนใหญ่ที่ขุดพบค่อนข้างสมบูรณ์ มีขนาดยาว 305 ซม. บรรจุดินปืนและลูกกระสุนเหล็กเข้าทางปากกระบอก ท้ายปืนตัน มีรางสายชนวนสำหรับจุดไฟ กลางกระบอกมีแขน 2 ข้าง หรือห่วงสำหรับวางแขวนบนแท่น หรือเทียมรถเป็นรถปืนในการตั้งยิง นอกจากนี้ยังพบลูกปืนที่เป็น กระสุนลูกเหล็กบรรจุอยู่ภายในกระบอกปืนใหญ่ด้วย ล่าสุดปืนใหญ่กระบอกนี้ถูกตั้งเอาไว้ที่ข้างพระที่นั่งพุทไธสวรรย์

กรมศิลปากรได้จัดเวทีเสวนา "ปืนใหญ่ในสยาม จากกรณีการพบปืนใหญ่ที่ท้องสนามหลวง" ขึ้นที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มาถอดรหัสที่มาที่ไปทางประวัติศาสตร์  โดย พล.ร.ต.สมัย ใจอินทร์ เจ้ากรมพัฒนาการช่าง กรมอู่ทหารเรือ กล่าวว่า หากมีการขุดในฝั่งบางกอกน้อย หรือบางกอกใหญ่ ฝั่งธนบุรีก็มีโอกาสเจอปืนใหญ่โบราณ เพราะเคยขุดพบมาแล้วถึง 8 กระบอก ปืนที่เจอมักจะมีขนาดใหญ่ อาจเพราะแต่เดิมพื้นที่ดังกล่าวเป็นพระราชนิเวศของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 จึงสันนิษฐานได้ว่าอาจมีปืนใหญ่ตั้งประจำการอยู่บริเวณโดยรอบ

พล.ร.ต.สมัย กล่าวว่า ในอดีตนั้นเรือปืนมักถูกใช้ในการล่าอาณานิคม และประเทศอังกฤษถือได้ว่าเก่งกาจในเรื่องเรือปืนที่สามารถยิงได้เร็วกว่า ประเทศอื่นๆ ประเทศไทยจึงต้องการตามให้ทันในแง่การพัฒนาสรรพาวุธ กระทั่งมีการนำเข้าปืนใหญ่จากต่างประเทศเพื่อติดตั้งไว้ป้องกัน

"ในคราวเสียกรุงศรีอยุธยาให้กับพม่าครั้งที่ 2 ปืนใหญ่ของสยามประเทศก็ถูกทำลายทิ้งไปจำนวนมาก หรือถูกหลอมเพื่อเอาทองคำและเนื้อโลหะที่มีค่า ขณะที่ปืนใหญ่บางส่วนหากขนได้ก็ขนกลับประเทศเช่นกัน กระทั่งมาถึงยุคกรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ช่วงต้น ได้เร่งการสร้างปืนใหญ่รวมถึงสั่งซื้อเพื่อป้องกันประเทศ เพราะในสมัยนั้นปืนใหญ่ถือได้ว่ามีบทบาทต่อการทหารในการป้องกันราชอาณาจักร" พล.ร.ต.สมัย ให้ความรู้

ตามรอยเส้นทาง ปืนใหญ่สนามหลวง

ด้าน นิตยา กนกมงคล ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ให้ภาพว่าปืนใหญ่กระบอกที่พบล่าสุดที่ท้องสนามหลวงนั้น จะต้องนำไปศึกษาและเปรียบเทียบกับปืนใหญ่ที่เคยค้นพบมาก่อนหน้านี้ เพราะที่ผ่านมาเคยขุดค้นพบปืนใหญ่ที่มีลักษณะใกล้เคียงกันมาก่อน ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำคัญที่จะช่วยในการเปรียบเทียบ

"เราวางกรอบเวลาเอาไว้เบื้องต้น 3 เดือน เพื่อศึกษาในแง่วิชาการเพื่อให้เห็นถึงที่มาของปืนกระบอกนี้ สภาพของปืนใหญ่ค่อนข้างสมบูรณ์แต่ก็มีสนิมเกาะอยู่มากเช่นกัน ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนทางวิทยาศาสตร์ที่จะนำสนิมออกเพื่อให้เห็นเนื้อโลหะข้างในว่าสมบูรณ์มากแค่ไหน แต่หากปืนใหญ่กระบอกนี้มีสภาพที่ไม่สมบูรณ์พอ กระบวนการศึกษาก็อาจใช้เวลานานขึ้น"

นิตยา กล่าวว่า สันนิษฐานได้ว่าปืนใหญ่กระบอกนี้มีความเกี่ยวพันกับประเทศอังกฤษ เพราะมีลักษณะที่ใกล้เคียงกัน แต่ก็ไม่พบว่ามีตราสัญลักษณ์ปรากฏอยู่ ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าสยามประเทศอาจหล่อปืนกระบอกนี้ขึ้นมาเอง และคาดว่าคงอยู่ในช่วงรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4 ซึ่งต้องศึกษาว่าหากมีการหล่อปืนใหญ่กระบอกนี้ขึ้นมาในช่วงเวลานั้น มีเป้าหมายเพื่อใช้งานในด้านใด

ศิริรัจน์ วังศพ่าห์ ผู้เชี่ยวชาญด้านปืนใหญ่ให้มุมมองว่า ปืนใหญ่ในสยามประเทศนั้นจะมีตราสัญลักษณ์บ่งบอกความเป็นมาของปืนใหญ่ ในอดีตที่ค้นพบก็มีทั้งตราของนโบเลียน ตราหนุมาน ขณะเดียวกันตำแหน่งปืนใหญ่โบราณก็ยังมีตำราประวัติศาสตร์ที่เริ่มเก็บข้อมูลไว้ในรัชกาลที่ 3 เป็นต้นมา

นอกจากนี้ ลักษณะของปืนใหญ่ที่ใช้ในกองทัพของสยามมักจะมีชื่อกำกับเอาไว้ในทุกกระบอก ซึ่งในอดีตประเทศไทยมีทั้งปืนใหญ่ลูกปรายที่เมื่อยิงไปแล้วจะกระจายออกไป รวมถึงปืนหางลิงที่ผลิตในภาคใต้ของประเทศไทยในช่วงอดีต ซึ่งเราจะพบอยู่บ่อยครั้ง

"ตราของปืนใหญ่มีความสำคัญเพราะสามารถบ่งบอกได้ถึงที่มา ซึ่งปืนใหญ่บางส่วนของสยามประเทศมักจะซื้อมาจากต่างประเทศ และปืนใหญ่แต่ละกระบอกจะมีตราสัญลักษณ์บ่งบอกที่มา โดยมีทั้งตราที่ระบุได้ว่าปืนใหญ่กระบอกนั้นมาจากทั้งประเทศโปรตุเกส ฮอลันดา อังกฤษ หรือฝรั่งเศส ทำให้เราสามารถศึกษาถึงช่วงเวลาที่สยามประเทศใช้ปืนใหญ่ได้ และต่อเนื่องไปยังความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในช่วงอดีต" ศิริรัจน์ ให้ความเห็น