posttoday

สทนช.เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมปราจีนพื้นที่ลุ่มนครนายก

07 กันยายน 2561

สทนช.วางแผนบริหารจัดการน้ำพื้นที่เสี่ยงท่วมหลังกรมอุตุนิยมวิทยาเตือนฝนตกหนักช่วง7-10ก.ย.61

สทนช.วางแผนบริหารจัดการน้ำพื้นที่เสี่ยงท่วมหลังกรมอุตุนิยมวิทยาเตือนฝนตกหนักช่วง7-10ก.ย.61 

นายสำเริง  แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่7-10 ก.ย. 61 จะมีฝนเพิ่มมากขึ้น บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทั้งนี้ เนื่องจากความกดอากาศสูงจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมบริเวณประเทศลาวและเวียดนามตอนบน ทำให้ร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่างภาคกลางตอนบน ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง ได้เร่งจัดการน้ำในเขื่อนให้เหมาะสมและทันต่อสถานการณ์  ซึ่งภาวะฝนที่ตกหนักคาดจะส่งผลดีต่อเขื่อนหลายแห่งที่ยังมีน้ำปริมาณน้อย   ส่วนเขื่อนที่มีปริมาณน้ำมากอยู่แล้วได้เตรียมแผนในการพร่องน้ำต่อเนื่องไว้แล้ว

ในสัปดาห์หน้าแนวร่องฝนเลื่อนลงจากตอนบน มีพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงวิกฤติน้ำท่วม จ.ปราจีนบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา กาญจนบุรี ราชบุรี  สมุทรสงคราม สกลนคร นครพนม ได้แก่ ลำน้ำก่ำ ลำน้ำสงคราม ลำน้ำอูน เร่งพร่องน้ำลงแม่น้ำโขง ส่วนแม่น้ำแควน้อย แม่น้ำแควใหญ่ แม่กลอง เร่งระบายน้ำออกทะเล จ.สมุทรสงคราม สำหรับแม่น้ำปราจีนบุรี แม่น้ำนครนายก รับน้ำจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ส่งผลให้บริเวณ อ.ศรีมหาโพธิ์ อ.เมืองปราจีนบุรีเสี่ยงได้รับผลกระทบ ซึ่งเบื้องต้นทราบว่าทางจังหวัดได้เตรียมพร้อมการป้องกันทั้งการซ่อมแซมคัด และพนังกั้นน้ำ เพื่อป้องกันเมืองและโรงพยาบาลอภัยภูเบศร์  โดยให้พื้นที่เร่งเสริมกระสอบทรายเสริมคันกันน้ำ ให้สำรวจหาแก้มลิงบริเวณทุ่งบางพลวง จ.ฉะเชิงเทรา พื้นที่กว่าแสนไร่รองรับน้ำ  พร้อมผลักดันน้ำออกทะเลผ่านแม่น้ำบางปะกง รวมทั้ง อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี พื้นที่ลุ่มต่ำ จ.นครนายก ได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้น และพื้นที่เหนือตอนล่าง แม่น้ำเข็ก จ.พิษณุโลก

ขณะที่สถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันเขื่อนเจ้าพระยาได้ลดการระบายน้ำลงให้สอดคล้องกับการลดการระบายน้ำในเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ทั้งนี้ กรมชลประทานจะควบคุมอัตราการระบายให้อยู่ที่ 650 ลบ.ม./วินาที ปัจจุบันอัตราการระบายอยู่ที่ 771 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้พื้นที่ท้ายน้ำได้รับผลกระทบน้อยลงด้วย

เบื้องต้นในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ได้วางแผนปรับลดการระบายน้ำในอ่างฯ ทุกขนาด ตามการคาดการณ์ที่ปริมาณน้ำฝนที่มีแนวโน้มลดลงในเดือน ก.ย.-ต.ค. 61 เพื่อเก็บกักน้ำให้พอเพียงในฤดูแล้ง โดยอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 60% ของความจุ ต้องวางแผนเก็บกักน้ำและเติมน้ำโดยประสานกับกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ขณะที่พื้นที่ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ให้ติดตามการพยากรณ์อากาศในช่วง ก.ย. นี้ เพื่อวางแผนปรับการระบายน้ำในแม่น้ำสายหลัก

ส่วนในพื้นที่ภาคตะวันตก ใน 4 เขื่อนขนาดใหญ่  ได้แก่ เขื่อนศรีนครินทร์ วชิราลงกรณ แก่งกระจาน และปราณบุรี ยังคงต้องเร่งการพร่องน้ำ ตามการคาดการณ์ฝนที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องและรองรับฝนตามฤดูกาลในปลายเดือน ก.ย.-ต.ค. 61 โดยต้องไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำหรือหากมีต้องเกิดขึ้นให้น้อยที่สุด