posttoday

ปรับแผนน้ำลดการระบายตุนใช้หน้าแล้ง

05 กันยายน 2561

สทนช.สั่งทุกเขื่อนเริ่มปรับแผนลดระบายน้ำหลังสัญญาณแล้งเริ่มมา แจ้งทุกหน่วยงานบริหารน้ำไว้รองรับหากฝนทิ้งช่วง

สทนช.สั่งทุกเขื่อนเริ่มปรับแผนลดระบายน้ำหลังสัญญาณแล้งเริ่มมา แจ้งทุกหน่วยงานบริหารน้ำไว้รองรับหากฝนทิ้งช่วง

นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต เปิดเผยว่า ในพื้นที่ภาคเหนือ ตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ให้วางแผนปรับลดการระบายน้ำในอ่างต่างๆ ทุกขนาดตามการคาดการณ์ที่ปริมาณน้ำฝนที่มีแนวโน้ม ลดลงในเดือน ก.ย.-ต.ค. 2561 เพื่อเก็บกักน้ำให้เพียงพอในฤดูแล้งและต้นฤดูฝนที่อาจมีปัญหาฝนทิ้งช่วง โดยอ่างที่มีน้ำน้อยกว่า 50% ของความจุให้ประสานกับกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เพื่อวางแผนปฏิบัติการ ทำฝนเติมน้ำในอ่าง

สำหรับในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ให้ติดตามพยากรณ์อากาศในช่วงเดือน ก.ย.เพื่อวางแผนปรับการระบายน้ำ ในแม่น้ำสายหลัก โดยเขื่อนขนาดใหญ่และกลางที่มีปริมาณน้ำเกิน 80% ได้เร่งพร่องน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ปกติมี 6 แห่ง คือ เขื่อนขุนด่านปราการชล เขื่อนน้ำอูน ส่วนในพื้นที่ภาคตะวันตก มี 4 เขื่อน คือ เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนแก่งกระจาน และเขื่อนปราณบุรี ยังคงให้พร่องน้ำตามการคาดการณ์

ด้านสถานการณ์น้ำเขื่อนใหญ่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ 5 แห่ง เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร มีน้ำ 558 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือ 107% ของปริมาณน้ำในเขื่อน เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี มีน้ำ 753 ล้าน ลบ.ม. 106% น้ำล้นทางระบายน้ำ (Spillway) สูง 96 ซม. ลดลง 6 ซม. เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี มีน้ำ 8,367 ล้าน ลบ.ม. 94%

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 4 ก.ย. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ปรับแผนระบายน้ำวันละ 58 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งยังไม่เกินความจุของลำน้ำแควน้อย แต่ส่งผลระดับน้ำในลำน้ำเพิ่มขึ้นอีก 40 ซม. เขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี มีน้ำ 16,172 ล้าน ลบ.ม. มีสัดส่วน 91% และเขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก มีน้ำ 197 ล้าน ลบ.ม. สัดส่วน 88%