posttoday

กทม.เผย "ร้านสักลาย"เมืองกรุงได้รับอนุญาตถูกต้อง50ร้าน กำชับเขตกวดขันร้านเถื่อน

03 กันยายน 2561

กทม.เผยมีร้านสักลายในกรุงเทพฯได้รับอนุญาตถูกต้อง 50 ร้าน พร้อมกำชับเขตกวดขันร้านเถื่อน แนะควรตรวจสอบใบอนุญาตก่อนใช้บริการ

กทม.เผยมีร้านสักลายในกรุงเทพฯได้รับอนุญาตถูกต้อง 50 ร้าน พร้อมกำชับเขตกวดขันร้านเถื่อน แนะควรตรวจสอบใบอนุญาตก่อนใช้บริการ

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะผู้บริการกทม. ได้พิจารณากรณีลูกบ้านแจ้งต่อผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 บ้านน้อยสนามบิน ต.กุดป่อง อ.เมือง จ.เลย ว่าบุตรสาว พร้อมเพื่อนรวม 4 ราย เสียชีวิตหลังเดินทางไปสักลาย ย่านตลาดคลองหลอด เขตพระนคร กทม.นั้น การอนุญาตเปิดกิจการเป็นหน้าที่หลักของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในการออกใบอนุญาตและตรวจสอบเกณฑ์มาตรฐาน ส่วน กทม.มีอำนาจในการตรวจสอบร้านสักที่ตั้งภายในอาคารว่า มีใบอนุญาตหรือไม่ โดยการตรวจสอบส่วนนี้มอบหมายให้แต่ละสำนักงานเขตเป็นผู้ดำเนินการ

ส่วนร้านเถื่อน ปูเสื่อตั้งอยู่บนทางเท้า กทม.สามารถใช้ อำนาจพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของเมือง พ.ศ. 2535 ดำเนินการตักเตือน สั่งปรับเท่านั้น อย่างไรก็ดี จะขอศึกษารายละเอียดอีกครั้ง

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวอีกว่า การเปิดร้านรับสักลาย สักคิ้วหรือสักตาที่เปิดตามตลาดนัดในพื้นที่กรุงเทพฯ จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ประชาชนได้รับความปลอดภัยมากที่สุด

ด้าน พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกทม. กล่าวว่า กทม.ไม่นิ่งนอนใจ หลังทราบข้อมูลกรณีมีผู้ติดเชื้อเอชไอวี หลังเดินทางมาสักลาย ย่านคลองหลอด เขตพระนคร โดยวันที่ 1 ก.ย. มอบหมายหน่วยงานสังกัดกทม. ประกอบด้วย กองควบคุมโรคเอดส์ วัณโรคและโรคติดต่อเพศสัมพันธ์ สำนักอนามัย สำนักงานเขตพระนคร ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาลเขต ติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ได้จัดทีมลงพื้นที่ตรวจสอบร้านสัก บริเวณคลองหลอดเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา มีข้อมูลรายงานว่า ร้านสักที่ได้รับใบอนุญาตเกี่ยวกับกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ตามประกาศกฎกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พ.ศ.2558 ในพื้นที่เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร มีจำนวนร้านสักที่ได้รับใบอนุญาตเพียง 17 ร้านเท่านั้น โดยในพื้นที่ทั่วกรุงเทพฯ มีร้านสักที่ได้รับอนุญาตรวมทั้งสิ้น 50 ร้าน

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีกฎกระทรวงสธ.ดูแล แต่อำนาจการตรวจสอบร้านสักเถื่อนนั้น เป็นของเจ้าพนักงานกทม. ซึ่งแต่ละเขตจะต้องเข้าไปดูแล กวดขัน ดำเนินการตามกฎหมาย หากไม่พบใบอนุญาตจะมีบทลงโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 5 หมื่นบาทและจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ยกเว้น กิจการที่อยู่ในความดูแลของแพทย์และพยาบาล มองว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่ดีทำให้ประชาชนตระหนักถึงเรื่องดังกล่าวมากขึ้น ครอบคลุมถึงการสักคิ้วที่นิยมมากในปัจจุบัน

พญ.วันทนีย์ กล่าวอีกว่า เรื่องการสัก หรือกิจการที่ใช้เข็มจิ้มจนเกิดเลือด ต้องผ่านมาตรฐานความปลอดภัย ความสะอาด โดยเครื่องมืออุปกรณ์ต้องผ่านฆ่าเชื้อและทำความสะอาด ส่วนเข็มต้องเปิดบรรจุภัณฑ์ใหม่ โดยผู้บริโภคสามารถตรวจสอบร้านสักด้วยตนเอง ด้วยการขอดูใบอนุญาตประกอบกิจการกับทางร้านได้