posttoday

สธ.ยันไทยไม่มีไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่ เหตุเด็กเสียชีวิตอยู่ระหว่างสอบสวนโรค

02 กันยายน 2561

อธิบดีกรมควบคุมโรคยืนยันประเทศไทยไม่มีไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่ ชี้เด็กหญิงเสียชีวินที่สุรินทร์อยู่ระหว่างการสอบสวนโรค

อธิบดีกรมควบคุมโรคยืนยันประเทศไทยไม่มีไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่ ชี้เด็กหญิงเสียชีวินที่สุรินทร์อยู่ระหว่างการสอบสวนโรค

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีที่มีรายงานข่าวว่า มีเด็กหญิงเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่ในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์นั้น กรมควบคุมโรค ขอยืนยันว่าปัจจุบันประเทศไทยไม่มีไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่ นอกเหนือจาก 4 สายพันธุ์ที่เคยพบมาแล้ว ซึ่งในแถบประเทศอาเซียนนี้พบได้ 4 สายพันธุ์ แต่ละสายพันธุ์มีความรุนแรงไม่แตกต่างกันมาก ส่วนอาการป่วยขึ้นอยู่กับว่าเคยติดเชื้อมาก่อนหรือไม่ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อครั้งแรกอาการมักไม่รุนแรง อาจมีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อเท่านั้น แต่อาการจะรุนแรงขึ้นเมื่อติดเชื้อครั้งที่สองด้วยสายพันธุ์ที่ต่างไป ซึ่งจะทำให้มีภาวะเลือดออกและช็อกได้

ส่วนในกรณีผู้เสียชีวิตรายดังกล่าวนั้น จากการตรวจสอบในเบื้องต้น พบว่าในขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการสอบสวนโรคและส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อหาเชื้อโรคไข้เลือดออกและสายพันธุ์ของเชื้อดังกล่าว ซึ่งต้องรอผลตรวจยืนยันอีกครั้ง

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า โรคไข้เลือดออกถือเป็นโรคประจำถิ่นในประเทศแถบอาเซียน ซึ่งพบการระบาดในหลายประเทศ สำหรับในประเทศไทย ปี 2561 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม–28 สิงหาคม 2561 พบผู้ป่วยสะสมรวม 50,079 ราย เสียชีวิต 65 ราย โดยผู้ป่วยกลุ่มอายุ 10–14 ปีมีอัตราป่วยสูงสุด สัดส่วนอาชีพที่พบผู้ป่วยสูงสุดคือนักเรียน ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด 5 อันดับแรก คือ นครปฐม พิจิตร แม่ฮ่องสอน ภูเก็ต และกระบี่

กรมควบคุมโรค ขอแนะนำประชาชน ชุมชน และหน่วยงานต่างๆ ควรร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยเน้นใช้มาตรการ "3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค" ดังนี้ 1.เก็บบ้านให้สะอาด ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง ขัดล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำ และเปลี่ยนน้ำในแจกันทุกสัปดาห์ 2.เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และนำวัสดุเหลือใช้นำไปขายเป็นรายได้เสริม และ 3.เก็บน้ำ ภาชนะใส่น้ำต้องปิดฝาให้มิดชิดป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ ทั้งนี้ จะสามารถป้องกันได้ถึง 3 โรค คือ 1.โรคไข้เลือดออก 2.โรคติดเชื้อไวรัสซิกา 3.ไข้ปวดข้อยุงลาย

ที่สำคัญประชาชนควรเตรียมความพร้อมใน 3 เรื่องสำคัญ คือ 1.การป้องกันการถูกยุงกัด โดยทายากันยุง นอนในมุ้ง กำจัดยุงตัวเต็มวัยด้วยสเปรย์ ไม้ช็อตไฟฟ้า พร้อมกำจัดลูกน้ำและแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในภาชนะน้ำใส นิ่ง 2.การเฝ้าระวังอาการของโรค ไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย เบื่ออาหาร หน้าแดง ผิวหนังเป็นจุดเลือด อาเจียน ปวดท้อง และ 3.การไปพบแพทย์เร็วเมื่อป่วยและมีไข้สูง เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยโรค และเฝ้าระวังเป็นพิเศษในช่วงไข้ลดหากเกิดอาการช็อกจากไข้เลือดออก ต้องรีบกลับไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด หากช้าอาจทำให้เสียชีวิตได้ หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422