posttoday

"กรณ์" ตั้งคำถามถึงปตท. มอง "กาแฟอเมซอน" เบียดพื้นที่หากินชาวบ้าน

02 กันยายน 2561

อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เเสดงความเห็นต่อการดำเนินนโยบายของ ปตท. ในฐานะรัฐวิสาหกิจไทย

อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เเสดงความเห็นต่อการดำเนินนโยบายของ ปตท. ในฐานะรัฐวิสาหกิจไทย

นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เเสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊ก Korn Chatikavanij ต่อการดำเนินนโยบายของบริษัท ปตท. ในฐานะรัฐวิสาหกิจไทย

เนื้อหาทั้งหมดระบุว่า

“ความคาดหวังจาก ปตท. ในฐานะรัฐวิสาหกิจไทยที่เป็น ‘National Champion’ และเหตุผลที่การซื้อบริษัทผลิตไฟฟ้า Glow และยุทธศาสตร์ Cafe Amazon จึงเป็นเรื่องอันตราย”

- ผมได้รับเชิญไปแชร์ความคิด ในหัวข้อ "การพัฒนาในยุค Digital Age" กับกลุ่มผู้บริหารรุ่นใหม่ของบริษัทในเครือปตท.

- ผมเลยถือโอกาสท้าทายคนเก่งกลุ่มนี้ว่าด้วยความที่ปตท.เป็นองค์กรชั้นนำของประเทศ เป็นที่รวมผู้มีความสามารถ ปตท.ควรที่จะต้องใช้ศักยภาพและทรัพยากรของตนในการสร้างรายได้ให้กับประเทศด้วยการลงทุนขยายกิจการไปในตลาดต่างประเทศ หรือหากจะทำธุรกิจในประเทศ ก็ควรลงทุนทำธุรกิจใหม่ๆที่มีผลในเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศ มากกว่าที่จะทำในสิ่งที่ผู้ประกอบการคนไทยเจ้าอื่นทั่วไปเขาสามารถจะทำได้

- นี่คือบทบาทที่แท้จริงของ National Champion

- แต่ที่ปตท. ไม่ควรทำคือใช้อำนาจทางการตลาด (ที่ได้มาจากความได้เปรียบในฐานะรัฐวิสาหกิจ) ในการทำธุรกิจในลักษณะที่ทำให้คนอื่นเสียเปรียบ

- ซึ่งว่าไปแล้วนอกจากจะขัดต่อกฎหมายจัดตั้งปตท. แล้วยังน่าจะขัดรัฐธรรมนูญอีกด้วย

- ผมได้ถือโอกาสเล่าให้ชาวปตท. ฟังว่าด้วยเหตุนี้ ในฐานะประธานนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ ผมจะยื่นร้องเรียนต่อผู้มีอำนาจในสองกรณีที่เกี่ยวกับปตท.

- เรื่องแรกคือกรณีที่ปตท. ใช้บริษัทลูกของตน GPSC เข้าซื้อหุ้น 69% ในบริษัทผลิตไฟฟ้าเอกชนชื่อ GLOW ซึ่งปัญหาสำคัญคือ

1. ปตท. เป็นผู้ขายก๊าซผูกขาดให้กับผู้ผลิตไฟฟ้าทุกโรงในประเทศไทย ดังนั้นหากปตท. ลงมาผลิตไฟฟ้าเอง จะทำให้การแข่งขันในอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าบิดเบี้ยวทันที โดยที่ผู้ที่จะรับเคราะห์สุดท้ายก็คือประชาชนในฐานะผู้ซื้อไฟ

2. ปตท. จัดตั้งขึ้นมาตาม พรบ. การปิโตรเลี่ยมแห่งประเทศไทย มีภารกิจเจาะจงให้ทำธุรกิจปิโตรเลี่ยมเท่านั้น

3. รัฐธรรมนูญระบุไว้ชัดว่ารัฐห้ามทำธุรกิจแข่งกับเอกชน (มาตรา ๗๕) ดังนั้นปตท. จะทำธุรกิจผลิตไฟฟ้าแข่งกับเอกชนไม่ได้

4. หากอ้างความมั่นคง ผมคงต้องถามว่า แล้วเรามี'การไฟฟ้าฝ่ายผลิต' ไว้ทำอะไร?!

- ส่วนเรื่องที่สองคือ 'กาแฟอเมซอน'

- เรื่องนี้อ่านแล้วอาจจะคิดว่าเรื่องเล็กนะครับ แต่มันคือเรื่องแบบนี้ที่ทำให้ผู้ประกอบการ และคนไทยทั่วไปมีโอกาสในการทำมาหากินน้อยลงไปเรื่อยๆ

- ในช่วงแรกๆที่ปตท. เปิดร้านกาแฟในปั้มน้ำมัน ผมก็มีความรู้สึกว่าไม่เป็นปัญหา แต่พอระยะหลังเริ่มออกมาเปิดสาขามากขึ้นตามห้าง และบนท้องถนนในหัวเมืองทั่วประเทศ ผมจึงเริ่มมีความรู้สึกว่าเรื่องนี้ไม่ถูกต้องและเป็นการแข่งขันโดยตรงกับชาวบ้านทั่วไปที่ไม่มีทางจะสู้ได้ด้วยกำลังทุนที่ต่างกันฟ้ากับดิน

- และปตท.ประกาศแล้วว่ามีแผนจะทำโรงแรมด้วย แล้วเอกชนที่สายป่านสั้นกว่าเขาจะอยู่รอดอย่างไร

- รัฐธรรมนูญมาตรา ๗๕ ห้ามรัฐไม่ให้ทำธุรกิจแข่งกับประชาชน ซึ่งถ้าหากบริษัทยักษ์ใหญ่ของรัฐยังขายกาแฟแข่งกับประชาชนได้แบบนี้ ผมก็อยากรู้เหมือนกันว่ารัฐธรรมนูญมาตรานี้เขียนไว้เพื่ออะไร

- ในภาพใหญ่เราต้องใส่ใจกับเรื่องการแข่งขันที่เป็นธรรม และเรื่องอิทธิพลทุนใหญ่ ผมว่าจุดเริ่มต้นที่ดีคือรัฐเองอย่าไปเบียดพื้นที่หากินชาวบ้าน

- ส่วนปตท.นั้นเป็นความหวังของเราทุกคนครับ ผมเชื่อว่าคุณสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติได้มากกว่าที่จะมาขายกาแฟแข่งกับชาวบ้าน หรือไล่ซื้อกิจการของลูกค้าของตนอย่างในกรณี GLOW

- พรรคประชาธิปัตย์จะยื่นร้องเรียนต่อท่านนายกรัฐมนตรีในฐานะฝ่ายบริหารนโยบาย ยื่นต่อคณะกรรมการพลังงานในฐานะผู้กำกับดูแลอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า และต่อผู้ตรวจการแผ่นดินในกรณีที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ

- ทั้งหมดนี้ผมได้อธิบายกับผู้บริหารเครือปตท. ว่าความเห็นทั้งหมดนี้มาจากความกังวลของพรรคต่อผู้ประกอบการรายเล็กและประชาชนทั่วไป และความกังวลว่าปตท. ควรใช้เวลาในการสร้างคุณค่าให้เศรษฐกิจไทยเรามากกว่านี้

 

<iframe src="https://www.facebook.com/plugins/post.php?href=https%3A%2F%2Fwww.facebook.com%2FKornChatikavanijDP%2Fposts%2F10156684548874740&width=500" width="500" height="636" style="border:none;overflow:hidden" scrolling="no" frameborder="0" allowTransparency="true" allow="encrypted-media"></iframe>