posttoday

สทนช. เตือน ระดับน้ำโขงสูงต่อเนื่อง

01 กันยายน 2561

สทนช.เตือนจังหวัดริมน้ำโขงหลังระดับน้ำเพิ่มสูงต่อเนื่อง คาดว่าจะสูงกว่าตลิ่ง ใน 1-3 วัน

สทนช.เตือนจังหวัดริมน้ำโขงหลังระดับน้ำเพิ่มสูงต่อเนื่อง คาดว่าจะสูงกว่าตลิ่ง ใน 1-3 วัน

นายสำเริง  แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำและพื้นที่เสี่ยงสำคัญ ประจำวันที่ 1 ก.ย.61 ว่า สถานการณ์แม่น้ำโขงขณะนี้มีระดับน้ำสูงขึ้น เนื่องจากปริมาณฝนที่ตกลงลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขงในลาว รวมถึงเขื่อนน้ำงึมเพิ่มการระบายน้ำ ส่งผลให้ระดับน้ำโขงเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ โดยปัจจุบันสถานการณ์น้ำโขงจากสถานีวัดของกรมทรัพยากรน้ำ พบว่า ที่สถานีจิงหง ระดับน้ำลดลง 0.01 เมตร ต่ำกว่าตลิ่ง 9.59 เมตร แนวโน้มทรงตัว สถานีเชียงแสน เพิ่มขึ้น 0.73 เมตร ต่ำกว่าตลิ่ง 7.35 เมตร แนวโน้มเพิ่มขึ้น สถานีหลวงพระบาง เพิ่มขึ้น 1.50 เมตร ต่ำกว่าตลิ่ง 0.74 เมตร แนวโน้มเพิ่มขึ้น สถานีเชียงคาน เพิ่มขึ้น 0.24 เมตร ต่ำกว่าตลิ่ง 2.04 เมตร แนวโน้มเพิ่มขึ้น สถานีหนองคาย เพิ่มขึ้น 0.99 เมตร ต่ำกว่าตลิ่ง 0.35 เมตร แนวโน้มเพิ่มขึ้น สถานีนครพนม ลดลง 0.02 เมตร สูงกว่าตลิ่ง 0.69 เมตร แนวโน้มลดลง สถานีมุกดาหาร ลดลง 0.03 เมตร สูงกว่าตลิ่ง 0.39 เมตร แนวโน้มลดลง สถานีโขงเจียม ลดลง 0.16 เมตร สูงกว่าตลิ่ง 0.24 เมตร แนวโน้มลดลง

อย่างไรก็ตาม ยังต้องเฝ้าระวังในพื้นที่ 2 จังหวัด ได้แก่ จ.หนองคาย และจ.บึงกาฬ เนื่องจากแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  คาดว่าจะสูงกว่าตลิ่งใน 1 – 3 วันนี้ และยังต้องเฝ้าระวัง จ.นครพนม มุกดารหาร และอ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ต่อไป

ซึ่งวันนี้ศูนย์เฉพาะกิจฯ จะออกประกาศสถานการณ์แม่น้ำโขง เพื่อแจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ติดตามเฝ้าระวังพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบด้วย
 
นอกจากน้ำโขงแล้วยังพบว่าระดับน้ำในแม่น้ำสายต่างๆ เริ่มมีระดับที่สูงกว่าตลิ่ง ได้แก่ แม่น้ำป่าสัก  บริเวณ อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์ แม่น้ำสงคราม จ.สกลนคร อ.เซกา จ.บึงกาฬ ห้วยหลวง จ.อุดรธานี แม่น้ำนครนายก บริเวณ อ.องครักษ์ จ.นครนายก คลองพระปรง จ.สระแก้ว แม่น้ำปราจีนบุรี บริเวณ ตลาดเก่า อ.กบินทร์บุรี อ.เมืองปราจีนบุรี จ.ปราจีนบุรี รวมถึงพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงน้ำท่วมจากการระบายน้ำจากเขื่อน ได้แก่ แม่น้ำเพชรบุรี บริเวณ อ.แก่งกระจาน อ.ท่ายาง อ.บ้านลาด อ.เมือง อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี ลำน้ำก่ำ ลำน้ำสงคราม ลำน้ำอูน แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำแควใหญ่ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำต่างๆ อย่างใกล้ชิดเพื่อให้ความช่วยเหลือพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำล้นตลิ่งอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องด้วย

สำหรับการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนต่างๆ ขณะนี้ ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ให้มีการปรับลดการระบายน้ำ เช่น เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนน้ำอูน และอ่างขนาดกลางรวมถึงขนาดเล็ก ทุกแห่ง ตามการคาดการณ์ที่ปริมาณน้ำฝนที่มีแนวโน้มลดลงในเดือน ก.ย.-ต.ค. 61

ส่วนพื้นที่ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ให้ติดตามการพยากรณ์อากาศในช่วง ก.ย. นี้ เพื่อวางแผนปรับการระบายน้ำในแม่น้ำสายหลัก ทั้งนี้ ให้มีผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำน้อยที่สุด ส่วนในพื้นที่ภาคตะวันตก ใน 4 เขื่อนขนาดใหญ่  ศรีนครินทร์ วชิราลงกรณ แก่งกระจาน และปราณบุรี ยังคงต้องเร่งการพร่องน้ำ ตามการคาดการณ์น้ำฝนที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องและรองรับฝนตามฤดูกาลในปลายเดือน ก.ย.-ต.ค. 61

“ในวันนี้ยังคงมีฝนตกหนักบางพื้นที่ โดยมีพื้นที่เสี่ยงภัยฝนตกหนักถึงหนักมาก 16 จังหวัดภาคเหนือ จ.เชียงราย พะเยา น่าน แม่ฮ่องสอน ตาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.หนองคาย บึงกาฬ นครพนม ภาคตะวันตก จ.กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ภาคตะวันออก จ.นครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด  โดยฝนสะสม 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกปานกลางถึงหนัก แบ่งเป็นภาคเหนือ ได้แก่ จ.แพร่ 76.0 มม. เชียงราย 61.0 มม. แม่ฮ่องสอน 54.0 มม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.สุรินทร์ 38.4 มม. ภาคกลาง จ.ปทุมธานี 48.6 มม. ภาคตะวันออก จ.นครนายก 41.8 มม. ภาคตะวันตก ประจวบคีรีขันธ์ 38.8 มม. และภาคใต้ นราธิวาส 43.2 มม. ทั้งนี้ ช่วงสัปดาห์หน้ามีการคาดการณ์ว่าฝนประเทศไทยจะเริ่มมีปริมาณลดลง”นายสำเริง กล่าว