posttoday

เกษตรฯเตรียมแก้มลิง 2 ล้านไร่รับน้ำหลากยังไม่ชักน้ำเข้าทุ่ง

31 สิงหาคม 2561

กรมชลประทานเผยปริมาณน้ำในที่เขื่อนเจ้าพระยา-ชัยนาทอยู่ที่ระดับ 700- 800 ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)/วินาที ส่งผลกระทบเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ

กรมชลประทานเผยปริมาณน้ำในที่เขื่อนเจ้าพระยา-ชัยนาทอยู่ที่ระดับ  700- 800  ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)/วินาที ส่งผลกระทบเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ

นายกฤษฏา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่ากรมชลประทานได้รายงานว่าขณะนี้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่เขื่อนเจ้าพระยา-ชัยนาท อยู่ในระดับ  700- 800  ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)ต่อวินาที  ส่งผลกระทบเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ  ระดับน้ำยังควบคุมได้เนื่องจากน้ำเหนือยังไม่มาก อย่างไรก็ตาม กรมชลฯได้เตรียมแก้มลิงใน 12 ทุ่งรับน้ำไว้แล้ว   2 ล้านไร่หากจำเป็นจึงจะนำน้ำเข้าทุ่ง โดยต้องแจ้งให้ประชาชนทราบและต้องเกี่ยวข้าวหมดแล้ว

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า ในช่วงเดือนก.ย.ยังมีฝนตกทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก ซึ่งในช่วงปลายเดือนนี้ ประเทศไทยอาจมีพายุโซนร้อน ที่ทำให้มีฝนตกมากบริเวณตอนบนของประเทศได้ โดยล่าสุดสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำเหนือมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น วัดระดับที่อ.เมืองนครสวรรค์ มีน้ำไหลผ่าน 1,134 ลบ.ม.ต่อวินาที  โดยในวันนี้การระบายผ่านเขื่อนเจ้าพระยาที่อัตรา 781ลบ.ม.ต่อวินาที ทั้งนี้จะยังคงอัตราการระบายผ่านเขื่อน ในระดับ 781- 800 ลบ.ม./วินาที ซึ่งส่งผลระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ตั้งแต่ อ.สรรพยา จ.ชัยนาท  -จ.พระนครศรีอยุธยา มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น 30 – 50 เซนติเมตร ขณะนี้เริ่มมีผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำที่ท่วมเป็นประจำ เช่น ต.โผงเผง อ.ป่าโมก อ.เสนา อ.ผักไห่ อ.บางบาล  และอ.เมืองพระนครศรีอยุธยา ขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตามอย่าตระหนกเพราะสถานการณ์การระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ของปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกันนี้ในอัตรา 1.5 พันลบ.ม.ต่อวินาที ซี่งปีนี้สถานการณ์ยังควบคุมได้

อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่าเขื่อนใหญ่ลุ่มเจ้าพระยา ว่ามีน้ำรวมกัน 16,214 ล้าน ลบ.ม. หรือ 65 % เป็นน้ำการได้ 9,518 ล้าน ลบ.ม. หรือ 52 % ยังรับน้ำได้อีก  8,650 ล้าน ลบ.ม. ได้วางแผนระบายน้ำเขื่อนภูมิพล วันละ  5-8 ล้าน ลบ.ม.เขื่อนสิริกิติ์ 30 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน วันละ 1.30 ล้าน ลบ.ม. ส่วนเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ วันละ 35 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำระบายต่ำกว่าตลิ่ง พื้นที่ด้านท้ายเขื่อนไม่ได้รับผลกระทบ

ในส่วนของแม่น้ำท่าจีน ระดับน้ำมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น ได้เร่งติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำในแม่น้ำท่าจีนบริเวณ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี 12 เครื่อง, และบริเวณอ.บางเลน 16 เครื่อง อ.นครชัยศรี 31 เครื่อง และอ.สามพราน จ.นครปฐม 22 เครื่อง รวม 81 เครื่อง ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำออกสู่ทะเลได้รวดเร็วขึ้น

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำในแม่น้ำปราจีนบุรีและแม่น้ำนครนายก ที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์มาก เนื่องจากเกิดฝนตกหนักในพื้นที่ตอนบน ทำให้มีน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำบางแห่ง     ซึ่งปริมาณน้ำจากแม่น้ำทั้ง 2 สาย จะไหลลงสู่แม่น้ำบางปะกง ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำบางปะกงเพิ่มสูงขึ้น แต่ยังไม่กระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำบางปะกง ก่อนจะไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทยตามลำดับ

กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำบางปะกง เร่งระบายน้ำที่ไหลหลากจากพื้นที่ตอนบน ด้วยการยกบานประตูระบายน้ำเขื่อนทดน้ำบางปะกงให้พ้นน้ำทุกบาน โดยอาศัยช่วงจังหวะเวลาที่น้ำทะเลลง เพื่อให้น้ำไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทยได้เร็วยิ่งขึ้น  ซึ่งการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนบางปะกงนี้ จะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ริม 2 ฝั่งแม่น้ำบางปะกงตอนล่างในเขตจ.ฉะเชิงเทราแต่อย่างใด