posttoday

ผลิตบุหรี่ไม่ใช่การพัฒนาประเทศ เสียงติงจากนักวิชาการ

29 สิงหาคม 2561

ความคิดเห็นจาก ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ ต่อกรณีการขยายฐานการผลิตของโรงงานยาสูบ

ความคิดเห็นจาก ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ ต่อกรณีการขยายฐานการผลิตของโรงงานยาสูบ

กรณีกระทรวงการคลัง อนุมัติให้มีการจัดตั้งโรงงานผลิตยาสูบแห่งใหม่ ด้วยงบลงทุนกว่า 4,000 ล้านบาท บนพื้นที่กว่า 220 ไร่ ที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

โดยนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า เป็นการขยายฐานการผลิตบุหรี่เพิ่มเพื่อสามารถรองรับความต้องการของผู้บริโภค และแข่งขันในระดับสากล รวมถึงสร้างรายได้ให้กับรัฐบาล เพื่อนำไปพัฒนาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ล่าสุดดร.ทพญ.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฎ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) บอกกับโพสต์ทูเดย์ว่า ในแง่หลักการการย้ายฐานการผลิตของโรงงานยาสูบจากกรุงเทพฯ ไปยังสวนอุตสาหกรรมโรจนะ เป็นเรื่องที่ดี และส่งผลให้กรุงเทพฯ มีปอดของเมืองเพิ่มมากขึ้น

การย้ายพื้นที่เป็นการลงทุนเพื่อทดแทนการผลิตเดิมที่ไม่มีประสิทธิภาพ ใช้พื้นที่เกินความจำเป็นหรือไม่เหมาะสม ไม่ใช่เป็นการไปให้ข่าวในลักษณะอวดอ้างภาพลักษณ์ว่าย้ายและขยายฐานการผลิตเพื่อให้สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

“อย่าเอาเรื่องการผลิตสินค้าที่บั่นทอนสุขภาพมาพูดว่าเป็นการพัฒนาประเทศ เป็นการเข้าใจผิด

โรงงานยาสูบและกระทรวงการคลังไม่ได้มีหน้าที่ประชาสัมพันธ์ในเรื่องนี้ ที่สำคัญความเจ็บป่วยโรคภัยที่เกิดจากบุหรี่นั้นสูงกว่ารายได้และสิ่งที่ได้รับจากบุหรี่”

ปัจจุบันการยาสูบแห่งประเทศไทยอยู่ระหว่างการประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน รวมถึงสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อสร้างความร่วมมือทางการค้า เนื่องจากศักยภาพของโรงงานผลิตยาสูบ 6 แห่งนี้ มีความพร้อมในการผลิตบุหรี่เพื่อส่งออกจำหน่ายในตลาดต่างประเทศ โดยคาดว่าจะนำรายได้สู่รัฐจำนวนมาก

ดร.ทพญ.ศิริวรรณ บอกว่า หลักการที่ควรจะเป็นคือ รัฐควรผลิตเพื่อรองรับความต้องการในประเทศเท่านั้น เพื่อไม่ให้เงินรั่วไหลออกไปสู่บริษัทต่างชาติหรือรั่วไหลน้อยที่สุด ไม่ควรไปลงแข่งขันในธุรกิจบาปเหมือนที่เป็นในปัจจุบัน

“การสร้างรายได้ที่สวนทางกับการดูแลสุขภาวะคนไทย ไม่ควรเคลมว่าเป็นการพัฒนาประเทศ”

ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ ยกตัวอย่างว่า ในปี 2552 รัฐจัดเก็บภาษีจากยาสูบได้ราว 6 หมื่นล้านบาท แต่มีการสูญเสียทางเศรษฐศาสตร์ไปกับการบริโภคยาสูบ ทั้งผู้ป่วย ตาย รวมถึงขาดงาน รวมแล้วกว่า 7 หมื่นล้าน