posttoday

"กลุ่มบุหรี่ไฟฟ้า" แปลกใจองค์กรต้านบุหรี่เงียบกริบหลังโรงงานยาสูบขยายฐานผลิต

29 สิงหาคม 2561

ความคิดเห็นจากตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า กรณีโรงงานยาสูบขยายฐานการผลิต ชี้สะท้อนการทำงาน 2 มาตรฐาน

ความคิดเห็นจากตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า กรณีโรงงานยาสูบขยายฐานการผลิต ชี้สะท้อนการทำงาน 2 มาตรฐาน

กรณีกระทรวงการคลัง อนุมัติให้มีการจัดตั้งโรงงานผลิตยาสูบแห่งใหม่ ด้วยงบลงทุนกว่า 4,000 ล้านบาท บนพื้นที่ 220 ไร่ ที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

โดยนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า เป็นการขยายฐานการผลิตบุหรี่เพิ่มเพื่อสามารถรองรับความต้องการของผู้บริโภค และแข่งขันในระดับสากล รวมถึงสร้างรายได้ให้กับรัฐบาล เพื่อนำไปพัฒนาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ล่าสุด นายมาริษ กรัณยวัฒน์ ตัวแทนเครือข่าย ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า "ลาขาดควันยาสูบ End Cigarette Smoke Thailand (ECST)" บอกกับโพสต์ทูเดย์ว่า เหตุใดองค์กรพัฒนาเอกชน NGO และหน่วยงานที่ออกมารณรงค์ต่อต้านบุหรี่อย่างต่อเนื่อง ถึงเงียบกริบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการทำงานที่มีลักษณะ 2 มาตรฐาน นอกจากนั้นในภาพใหญ่การขยายฐานการผลิตยังแสดงให้เห็นถึงความลักลั่นย้อนแย้งในระดับนโยบาย

“รณรงค์ให้คนเลิกสูบบุหรี่เเต่สุดท้ายก็บอกจะขยายฐานการผลิตเพื่อหาเงินมาพัฒนาประเทศ มันลักลั่นย้อนแย้ง

องค์กรต่อต้าน เอ็นจีโอ สสส. หน่วยงานรณรงค์ก็หายไปไหนไม่รู้ เห็นชัดเจนเรื่องสองมาตรฐาน”

ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า ให้ทัศนะต่อว่า เหตุการณ์นี้สะท้อนถึงความไม่จริงใจในการรณรงค์ ถ้ามองไปที่องค์กรเครือข่ายรณรงค์ต่อต้านบุหรี่หรือแม้กระทั่งสสส. ควรจะต้องต่อต้านในทุกกรณีหรือไม่ เมื่อเทียบเทียบกับการต่อต้านบุหรี่ไฟฟ้าที่หลายประเทศทั่วโลกให้การยอมรับแล้วว่าช่วยลดปริมาณผู้สูบบุหรี่ได้จริง พวกคุณกลับต่อต้านกันเต็มที่

นายมาริษ บอกว่า ที่ผ่านมาปรากฎข่าวการขาดทุนของโรงงานยาสูบภายหลังมีการแก้ไข พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต และมีการประกาศแจ้งเกษตรกรเรื่องที่ไม่สามารถรับซื้อใบยาจากเกษตรกรได้ เพราะยอดขายลดลง แต่เหตุใดถึงมีการขยายฐานการผลิต

“ถ้าตลาดไม่ดีจริงเเล้วจะเร่งผลิตไปไหน บอกตลาดไม่ดี ขายไม่ได้ เเต่โปรเจกต์โรงงานใหม่ขึ้นมาเเล้ว”

"กลุ่มบุหรี่ไฟฟ้า" แปลกใจองค์กรต้านบุหรี่เงียบกริบหลังโรงงานยาสูบขยายฐานผลิต



สำหรับความคืบหน้าเรื่องการวางแผนแก้ไขกฎหมายการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า

นายมาริษ เผยว่า อยู่ระหว่างเจรจาอย่างรอบคอบถึงแนวทางการอนุญาตให้ค้าขายอย่างเหมาะสม ทั้งการใช้งาน การควบคุมปริมาณ คุณภาพของอุปกรณ์ ตลอดจนการสั่งจ่ายโดยแพทย์ เป็นต้น โดยภาพรวมมีแนวโน้มที่ดี จากการพูดคุยกับหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะกระทรวงพานิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่ล้วนแต่เปิดกว้างกับข้อมูลและสถานการณ์จากทั่วโลกมากขึ้น

ทังนี้เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามไปยัง นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ได้รับคำตอบว่า ยังไม่รับทราบรายละเอียดเรื่องการขยายฐานการผลิตอย่างแน่ชัด รวมถึงไม่สะดวกที่จะให้สัมภาษณ์ในวันนี้

ทั้งนี้การยาสูบแห่งประเทศไทยอยู่ระหว่างการประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน รวมถึงสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อสร้างความร่วมมือทางการค้า เนื่องจากศักยภาพของโรงงานผลิตยาสูบ 6 แห่งล่าสุด มีความพร้อมในการผลิตบุหรี่เพื่อส่งออกจำหน่ายในตลาดต่างประเทศ ซึ่งกระทรวงคาดว่าจะนำรายได้สู่รัฐอย่างมหาศาลในอนาคต