posttoday

มท.เร่งพิจารณา9หมื่นโครงการไทยนิยมยั่งยืนเสร็จก.ย.นี้

28 สิงหาคม 2561

รมว.มหาดไทยยันพิจารณา 9 หมื่นโครงการไทยนิยมยั่งยืนเสร็จสิ้นก.ย.นี้ ยกระดับอาชีพ รายได้ และคุณภาพชีวิตประชาชนทั้งประเทศ ดีขึ้น

รมว.มหาดไทยยันพิจารณา 9 หมื่นโครงการไทยนิยมยั่งยืนเสร็จสิ้นก.ย.นี้ ยกระดับอาชีพ รายได้ และคุณภาพชีวิตประชาชนทั้งประเทศ ดีขึ้น

เมื่อวันที่ 28 ส.ค.61 พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.กระทรวงมหาดไทย ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยมยั่งยืน   กล่าวถึงความคืบหน้าว่า  ทีมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ว่าในระดับตำบล ได้ลงพื้นที่เพื่อวิเคราะห์ปัญหาความต้องการครบเป็นที่เรียบร้อยแล้วครบทุกหมู่บ้าน/ชุมชน รวม 82,271 แห่ง มีประชาชนเข้าร่วม 8.08 ล้านคน  สร้างการรับรู้ให้กับประชาชนตามกรอบหลัก 10 เรื่อง  โดยเฉพาะ  โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน หมู่บ้าน/ชุมชนละ 2 แสนบามโดย กรมการปกครอง มีหมู่บ้านและชุมชนเสนอโครงการทั้งสิ้น 8.1 หมื่นจำนวน 91,373 โครงการ  โดยสำนักงบประมาณพิจารณาให้ความเห็นชอบไปแล้วร้อยละ 98.10 ขณะนี้หมู่บ้านและชุมชนอยู่ระหว่างดำเนินโครงการซึ่งจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2561

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า  แผนงาน/โครงการที่เสนอขอรับงบประมาณ แบ่งเป็น 3 ประเภท  ประกอบด้วย   1. โครงการประเภทสร้างอาชีพ สร้างรายได้โดยตรง จำนวน 12,271 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 17.06 โดย 3 ลำดับแรก ได้แก่ ลานตากผลผลิตทางการเกษตร 3,622 โครงการ การปรับปรุงภูมิทัศน์แหล่งท่องเที่ยว 649 โครงการ และโรงสี 583 โครงการ

2. โครงการประเภทสร้างอาชีพสร้างรายได้โดยอ้อม จำนวน 9,999 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 13.90 โดย 3 ลำดับแรก ได้แก่ ถนนเพื่อการเกษตร 2,541 โครงการ ขุดลอกสระ ห้วย หนอง คลอง บึง 2,164 โครงการ และลานอเนกประสงค์/สาธารณประโยชน์ 2,045 โครงการ

3. โครงการประเภทส่งเสริมคุณภาพชีวิต จำนวน 49,653 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 69.04 โดย 3 ลำดับแรก ได้แก่ ถนนสัญจรภายในหมู่บ้าน 14,362 โครงการ ศาลากลางบ้าน/ศาลาประชาคม/อาคารอเนกประสงค์ 8,690 โครงการ และปรับปรุงซ่อมแซมประปาหมู่บ้าน 6,103 โครงการ

รมว. กระทรวงมหาดไทย  กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินงานขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ถือเป็นนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงพื้นที่รับฟังปัญหาความต้องการของประชาชน และนำมาสู่การกำหนดแผนงาน และโครงการ และดำเนินการตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ถือว่าเป็นการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง เพื่อให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน