posttoday

ขนส่งฯ-ตำรวจแจงเพิ่มโทษผู้ขับขี่ไม่พกใบอนุญาต หวังลดอุบัติเหตุ

24 สิงหาคม 2561

กรมการขนส่งฯ-ตำรวจ ร่วมชี้แจง เหตุผลแก้กฏหมายผู้ขับขี่ไม่พกใบอนุญาตขับรถ ชี้ให้โทษแรงขึ้น หวังลดอุบัติเหตุ ความสูญเสีย สั่งห้ามตำรวจ สวมโม่งปิดหน้า

กรมการขนส่งฯ-ตำรวจ ร่วมชี้แจง เหตุผลแก้กฏหมายผู้ขับขี่ไม่พกใบอนุญาตขับรถ ชี้ให้โทษแรงขึ้น หวังลดอุบัติเหตุ ความสูญเสีย สั่งห้ามตำรวจ สวมโม่งปิดหน้า

เมื่อเวลา 10.20 น. วันที่ 24 ส.ค. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.)  นายกมล บูรณพงศ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก รศ.ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์  ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย หรือเอไอที นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ จากศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทาง  ถนนมูลนิธินโยบายถนนปลอดภัย พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ ผกบ.ส.3 ในฐานะคณะทำงาน แก้ไขปัญหาจราจร และ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกตำรวจ ร่วมแถลงกรณี มีการปรับแก้กฎหมายด้านจราจร โดยมีการปรับพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 และพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 ออกเป็นร่างกฎหมายฉบับเดียวกัน โดยมีการเพิ่มโทษในความผิดเกี่ยวกับการพกพาใบอนุญาตขับขี่ โดยโทษสุดจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาท จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคม

รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า  การยกร่างกฎหมายนี้เป็นการปรับเนื้อหาให้มีความทันสมัย และให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ให้มีส่วนในการสร้างความตระหนักและรับผิดชอบต่อสังคม ข้อมูลศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย พบว่ากลุ่มผู้ขับขี่ที่ไม่มีใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ มีโอกาสการเสียชีวิตร้อยละ 34  ซึ่งสูงกว่ากลุ่มผู้ขับขี่ที่มีใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ถึงสองเท่า
 
"เพื่อให้ผู้ขับขี่ตระหนักและปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด และเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยลดอุบัติเหตุและความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของ กรมการขนส่งทางบกได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 และพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 ซึ่งรวมเข้าเป็นฉบับเดียวกัน โดยปรับปรุงรายละเอียดของกฎหมายให้เป็นเครื่องมือในการควบคุมกำกับพฤติกรรมของผู้ขับขี่ให้มากขึ้น รวมถึงปรับบทลงโทษกรณีผู้ขับขี่กระทำผิด โดยความผิดเกี่ยวกับการขับรถโดยไม่แสดงใบอนุญาตขับรถ เสนอให้ปรับโทษเป็นจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับสูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท จากเดิมที่ปัจจุบันตาม  พ.ร.บ.รถยนต์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับสูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท และพ.ร.บ.ขนส่ง จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หากเปรียบเทียบกันแล้ว เมื่อควบรวมกกฎหมาย 2 ฉบับโทษเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย" รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าว

นายกมล กมลกล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางบกฉบับใหม่อยู่ระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนส่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา"นายกมล กล่าว และว่า  การเสนอแก้ไขปรับเพิ่มโทษกรณีความผิดดังกล่าว  จะทำให้การพิจารณาโทษตามฐานความผิดอยู่ในดุลพินิจของชั้นศาล ซึ่งจะทำให้ ผู้ขับขี่ตระหนักและปฏิบัติตามกฎจราจรมากขึ้น  อย่างไรก็ตามการเพิ่มความเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือหนึ่งเท่านั้น ส่วนสำคัญอยู่ที่ผู้ขับขี่ ซึ่งต้องตระหนักถึงความปลอดภัยและนำไปปฏิบัติอย่างจริงจังอย่างทั่วถึงส่วนกรณีที่มีข้อคิดเห็นคัดค้าน วิพากษ์วิจารณ์จากประชาชน จะมีการรวบรวมข้อมูลและส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาต่อไป ยืนยันการปรับแก้เพิ่มโทษผ่านศึกษารวมรวมข้อมูลทางวิชาการแล้ว และปรับให้ทัดเทียมมาตรฐานสากล ด้วย

ส่วนกรณีที่มีข้อสังเกตการเพิ่มโทษผู้ไม่มีขับขี่ โดยการจำคุกเป็นการเพิ่มคนในเรือนจำเพราะขณะนี้เกิดปัญหาคนล้นคุก นายกมล กล่าวว่า จริงๆ แล้วประเทศไทยมีโทษจำคุกอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ. ขนส่งทางบก และพ.ร.บ. รถยนต์ แต่กฎหมายใหม่ จะต้องมีการทำสำนวนคดี เพื่อส่งให้ศาลพิจารณาตามความเหมาะสม 

"ระบบที่เราพยายามนำมาใช้คือ ทำให้ใบขับขี่ออกยาก ยึดง่าย  กรมการขนส่งทางบก เตรียมปรับปรุงการพิจารณาออกใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ให้เข้มงวดมากยิ่งขึ้น ออกยากขึ้น ปัจจุบันมีการสอบใบขับขี่ต้องสอบข้อเขียน 50 ข้อ เพิ่มการอบรมจากเดิม 2 ชั่วโมง เป็น 5 ชั่วโมง เน้นเรื่องมาตรฐานการขับขี่อย่างปลอดภัย สำหรับปัญหาเรื่องการอบรม ที่ก่อนหน้านี้เป็นเพียงการฉายวีดิโอ ทำให้คนที่เข้าร่วมอบรม ไม่สนใจดู กรมการขนส่งทางบก จะเปลี่ยนเป็นการไลฟ์ จากวิทยากรที่มีความรู้ความสามารถ ส่วนการทดสอบภาคปฏิบัติ จะเปลี่ยนเป็นการทดสอบผ่านสนาม E-Driving โดยเปลี่ยนจากการใช้คนดู เป็นใช้กล้องตรวจจับความผิด เพื่อให้ผู้เข้าสอบเห็นข้อผิดพลาดชัดเจนขึ้น" รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบกกล่าวและการปรับแก้ไขแยกใบขับขี่รถจักรยานยนต์ประเภทบิ๊กไบค์ หรือความแรงเกิน 400 ซีซี เนื่องจากพบว่ามีผู้ใช้รถชนิดนี้เยอะขึ้นและเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง จึงต้องกำหนดใบขับขี่เฉพาะ ที่ผู้ได้รับอนุญาตต้องอายุเกิน 18 ปี และผ่านการอบรมแบบเฉพาะด้วย

ด้าน นพ.ธนะพงศ์ กล่าวว่า ข้อมูลของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า เด็กและเยาวชนอายุระหว่าง 15-19 ปี เป็นกลุ่มอายุที่มีการเสียชีวิตจากการเกิดอุบัติเหตุทางท้องถนนสูงสุดเฉลี่ยปีละ 1,688 คน ทั้งนี้จากการศึกษาจากต่างประเทศที่เป็นที่ยอมรับด้านความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน เช่น ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา พบว่ากรณีความผิดเกี่ยวกับการขับขี่โดยไม่มีใบอนุญาตขับรถในประเทศญี่ปุ่น มีโทษปรับไม่เกิน300,000 เยน (88,000 บาท) หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี และถูกตัดแต้ม 12 คะแนน ส่วนประเทศสหรัฐอเมริกา มีโทษปรับไม่เกิน 25,000 ดอลลาร์สหรัฐ (800,000บาท) หรือจำคุกไม่เกิน 5 ปี และถูกบันทึกประวัติตลอดชีวิตด้วย

"ตนเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนปรับแก้กฎหมายนี้เพราะมองว่าใบขับขี่เป็นหัวใจสำคัญในการขับขี่อย่างปลอดภัย เพราะการที่บุคคลได้รับใบขับขี่แสดงความผ่านการอบรมทักษะการขับขี่อย่างปลอดภัยมาแล้ว และข้อมูลยืนยันจากการศึกษาพบว่า ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ในประเทศไทย อายุต่ำสุดคือ 9 ขวบเท่านั้น และส่วนใหญ่ของเด็กเยาวชนที่ขี่จักรยายนต์ได้ เรียนรู้จากคนในครอบครัว คนรอบข้างไม่ได้ผ่านการฝึก อบรม ให้ขับขี่บนท้องถนนร่วมกับผู้อื่นอย่างถูกวิธี นี่คือต้นเหตุหนึ่งของอุบัติเหตุ  ผมเชื่อว่าหากบังคับใช้กฎหมายเรื่องใบขับขี้อย่างเคร่งครัด อย่างน้อยก็ลดจำนวนความสูญเสียจากอุบัติเหตุของกลุ่มเด็ก ที่ขับขี่โดยไม่มีใบอนุญาตได้" นพ.ธนพงษ์ กล่าว

ด้านรศ.ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่ง ประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย กล่าวว่า จากสถิติ พบว่า ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์กว่าร้อยละ 60 ไม่มีใบขับขี่ และมีโอกาสที่จะประสบอุบัติเหตุจนเสียชีวิตมากกว่าผู้ที่มีใบขับขี่ 2 เท่า ส่วนใหญ่เป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 24 ปี แสดงให้เห็นว่าผู้ที่ไม่มีใบขับขี่ แต่มาขับขี่ยานพาหนะบนท้องถนน ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุสูงขึ้น จึงจำเป็นที่จะต้องปรับแก้กฎหมายเรื่องใบขับขี่ให้เหมาะสม ลดอุบัติเหตุบนท้องถนน เสริมสร้างวินัยจราจร โดยยึดหลักเกณฑ์ "ออกยาก ยึดง่าย"

พล.ต.ต.เอกรักษ์  ในฐานะคณะทำงานแก้ไขปัญหาจราจร กล่าวว่า ตำรวจมีความจำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายการขับขี่สาธารณะเพื่อคุ้มครองชีวิตของผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคน ที่ผ่านมาตำรวจก็เข้มงวดเรื่องการจับยึดใบอนุญาตขับขี่ แต่โทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท ถือเป็นลหุโทษ ปรับในชั้นตำรวจได้ ประชาชนไม่เกรงกลัว ยึดก็เอาคืน ปรับก็ไม่สนใจ ไม่มีก็ขับรถต่อไป เรียกว่าไม่เกรงกลัว จึงต้องมีการเพิ่มโทษให้หนักขึ้น ปรับในชั้นตำรวจไม่ได้แล้ว ต้องทำสำนวนส่งอัยการ ส่งศาล ปรับหรือจำคุกตามแต่ดุลพินิจ เพื่อประชาชนเคารถกฎหมายมากขึ้น เพื่อความปลอดภัยของประชาชนนั่นเอง ยอมรับว่าตลอดระยะเวลา 39 ปีที่มีการใช้กฎหมาย ประชาชนไม่มีความเกรงกลัว และฝ่าฝืนกฎหมายเรื่อยมา

พล.ต.ต.เอกรักษ์ กล่าวว่า ส่วนข้อครหาเป็นช่องว่างให้ตำรวจเรียกรับผลประโยชน์นั้น ยืนยันว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีมาตรการควบคุมและลงโทษ อย่างเด็ดขาด ล่าสุด พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.ก็ออกคำสั่งให้ตำรวจจราจรทั่วประเทศต้องเปิดเผยตัวตน ห้ามอำพรางใบหน้ากับประชาชน ห้ามซุ่มจับห้ามเป็นนินจา หากประชาชนยังพบเปิดโอกาสให้ประชาชนร้องเรียนได้ ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องการให้เจ้าหน้าที่จราจรปฏิบัติหน้าที่อย่างโปร่งใส

ภาพประกอบข่าว