posttoday

สธ.ยกระดับมาตรฐานอาหาร

21 สิงหาคม 2561

สถานประกอบการแม่ข่าย Primary GMP ร่วมภาคีเครือข่าย 4 หน่วยงานพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ให้กับผู้ประกอบการ แม่ข่ายในการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อาหาร สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค

สถานประกอบการแม่ข่าย Primary GMP ร่วมภาคีเครือข่าย 4 หน่วยงานพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ให้กับผู้ประกอบการ แม่ข่ายในการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อาหาร สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค

วันที่ 20 ส.ค. 2561  ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา แจ้งวัฒนะ  ชั้น G จังหวัดนนทบุรี  นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์  รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงานกิจกรรมประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ใหม่ของต้นแบบสถานประกอบการผลิตอาหารแปรรูปที่บรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่ายขนาดกลางและขนาดย่อม  (Primary GMP) ปีงบประมาณ  2561 พร้อมแถลงข่าวความสำเร็จ“กิจกรรมยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อาหาร ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจระดับเติบโต (Strong / Regular Level) ปี 2561” ในการสร้างมาตรฐานสถานประกอบการแม่ข่าย Primary GMP ร่วมกับภาคีเครือข่าย 4 หน่วยงานโดย ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)ที่ได้ร่วมกับพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ให้กับผู้ประกอบการแม่ข่ายในการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อาหารให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ตลอดจนการส่งเสริมสนับสนุนช่องทางทางการตลาดและโอกาสในการแข่งขันทางธุรกิจรูปแบบใหม่ พร้อมพิธีมอบรางวัลกิจกรรม “PRIMARY GMP AWARD 2018 : รางวัลแม่ข่ายนวัตกรรมอาหาร” ตามโครงการยกระดับคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์อาหารที่บรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่าย สำหรับผู้ประกอบการผลิตอาหารขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)  ปีงบประมาณ 2561

ด้านนายแพทย์พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า  ต้นแบบสถานประกอบการแม่ข่ายที่ได้รับการคัดเลือกเข้ารับรางวัล PRIMARY GMP AWARD 2018 : รางวัลแม่ข่ายนวัตกรรมอาหาร  เป็นผู้ประกอบการที่กระทำความดี มีคุณธรรมจริยธรรมในการประกอบการ โดยยึดหลักการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้คุณภาพมาตรฐานตามเกณฑ์ Primary GMP ที่กฎหมายกำหนด ด้วยความใส่ใจผู้บริโภค รักษาคุณภาพมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง และมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและ นวัตกรรม และเป็นต้นแบบศูนย์เรียนรู้ที่เป็นตัวอย่างที่ดี เพื่อถ่ายทอดความรู้แก่สถานประกอบการอื่นที่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้สามารถปฏิบัติตาม และเกิดการพัฒนาสถานที่ผลิตได้ 

ทั้งนี้ อย. ได้จัดทำโครงการดังกล่าว เพื่อกระตุ้นจิตสำนึก ความมีคุณธรรมและจริยธรรมในการประกอบการ และมุ่งเน้นให้สถานประกอบการที่ได้รับรางวัลเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่สถานประกอบการอื่นๆ ได้ยึดเป็นแนวทางปฏิบัติ เพื่อช่วยลดปัญหาการผลิตสินค้าที่ไม่มีคุณภาพและช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค  โดยได้รับความร่วมมือจาก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เป็นแกนหลักและภาคีเครือข่ายทั้งภายในและนอกกระทรวงสาธารณสุข ที่จะสนับสนุนผลักดันมาตรฐานการผลิตอาหารในชุมชนให้ได้ Primary GMP และกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ส่งเสริมการออกผลิตภัณฑ์ที่ได้คุณภาพมาตรฐาน เพื่อให้ผลิตภัณฑ์อาหารชุมชนไทยก้าวไกลสู่ครัวโลก ประเทศเกิดความ “มั่นคง มั่นคั่ง ยั่งยืน” 

สธ.ยกระดับมาตรฐานอาหาร


 
ด้าน ดร.ฐิตาภา สมิตินนท์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรในการพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการSMEไทย ความสำเร็จของโครงการนี้ นอกจากจะทำให้สถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการมีความมั่นใจในผลิตภัณฑ์ ทั้งคุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัยแล้ว ยังช่วยยกระดับสินค้า OTOP ของไทยให้เป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมในระดับชุมชน ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของสินค้าไทยที่เป็นของฝากสำหรับนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศอีกด้วย ทั้งนี้ ITAP หรือโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทำหน้าที่สนับสนุน SME ในการทำวิจัยและพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาที่พบจริงในการผลิต ในด้านต่างๆ ตั้งแต่วัตถุดิบ ปรับปรุงกระบวนการผลิต พัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ด้วยกลไกการทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญทั่วประเทศ ที่ผ่านมา ITAP ได้ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ และตรงกับโจทย์ความต้องการของ SME มากกว่า 1,800 ราย และสนับสนุนการทำโครงการวิจัยและพัฒนาให้ SME เพื่อยกระดับเทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรมมาแล้ว มากกว่า 8,000 โครงการ เกิดผลกระทบจากการดำเนินโครงการมากกว่า 6 เท่า (เปรียบเทียบกับงบประมาณโครงการ)
 

สำหรับการดำเนินโครงการในครั้งนี้ โปรแกรม ITAP สวทช. รับไม้ต่อจาก อย. ในการช่วยสถานประกอบการที่ได้รับรองมาตรฐาน Primary GMP แล้ว จำนวน 54 ราย จาก 50 จังหวัด ให้มีความสามารถด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมในระดับชุมชน  มี Value added หรือมูลค่าเพิ่มอยู่ในผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีความแตกต่างด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เหมาะสม ช่วยให้ผู้ประกอบการมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณค่า มีความปลอดภัย และตรงใจผู้บริโภค นอกจากการพัฒนาสถานประกอบการแม่ข่ายของ อย. แล้ว ITAP ยังได้สนับสนุนการพัฒนาผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร (Food Product Development) ทั่วประเทศ จำนวน 22 ท่าน โดยผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวจะเป็นพี่เลี้ยงช่วยสถานประกอบการแม่ข่ายของ อย. และผู้ประกอบการ SME ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมูลค่าเพิ่มต่อไปในอนาคต

ขณะที่พันโทนราวิทย์  เปาอินทร์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เซ็นทรัลแล็บไทย ในฐานะแล็บของรัฐพร้อมให้การสนับสนุนส่งเสริมผู้ประกอบการให้มีความเข้มแข็ง และพัฒนาตนเองให้ทันต่อตลาดโลก ด้วยเทคโนโลยีเครื่องมือที่ทันสมัยและระบบมาตรฐานสากล จากการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 17025 มากกว่า 1,000 รายการทดสอบ รองรับงานทดสอบได้มากกว่า 400,000 ตัวอย่างต่อปี และสามารถให้บริการด้านการตรวจวิเคราะห์มาตรฐานสินค้าให้กับกลุ่มผู้ส่งออก กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจการเกษตร SMEs OTOP และวิสาหกิขชุมชน  ซึ่งการพัฒนาผู้ประกอบการแม่ข่ายในครั้งนี้ ถือเป็นอีกภารกิจสำคัญของ เซ็นทรัลแล็บไทย ที่มุ่งเน้นในการพัฒนาผู้ประกอบการตั้งแต่ต้นน้ำ คือ การพัฒนา Primary GMP ซึ่งหากผู้ประกอบการได้นำสินค้ามาผ่านการตรวจจากแล็บแล้วก็จะสามารถความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการและผู้บริโภคได้ 

เซ็นทรัลแล็บไทย ถือเป็นกลไกช่วยสนับสนุนการยกระดับและพัฒนามาตรฐานผู้ประกอบการไทยทุกกลุ่มเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น ตามแนวทางของรัฐบาลที่จะปฏิรูปเศรษฐกิจภายในประเทศให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืนด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้เป็นตัวสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต และจากนี้ไปผู้ประกอบการรายเล็กจะสามารถรู้ได้ว่า วัตถุดิบและกระบวนการผลิตสินค้ามีความสะอาด ปลอดภัยไหม หรือปนเปื้อนสารต้องห้ามหรือไม่ ทำให้สามารถพัฒนาต่อยอดให้สินค้าเป็นที่ยอมรับของตลาดได้ง่ายขึ้น จากการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้จริง ทำให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจในการบริโภค รวมทั้งสามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าและโอกาสในการจำหน่ายผ่านช่องทางต่างๆ อาทิ ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ และช่องทางออนไลน์ ต่อไป
 
ด้าน นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) เป็นส่วนเติมเต็มและต่อยอดให้ผู้ประกอบการแข็งแรงและมีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น นอกจากเรื่องมาตรฐานผลิตภัณฑ์แล้ว สสว. ยังให้ความสำคัญในด้านอื่นๆ เช่น การรวมกลุ่มเป็นคลัสเตอร์แล้วพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ การเสริมสร้างสมรรถนะในการลดต้นทุนและการเพิ่มผลิตภาพการผลิต การเพิ่มช่องทางการตลาดทั้งแบบ Online และ Offline 

ในตลาด Online เราเข้าไปช่วยเหลือตั้งแต่การถ่ายภาพสินค้าจนถึงพาขึ้นไปขายบนตลาด Online รวมถึงจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายเพื่อกระตุ้นยอดขาย ในส่วนของการตลาด Offline เราจะพาผู้ประกอบการไปแสดงและจำหน่ายสินค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงจัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจกับผู้ค้าทั้งในประเทศ และต่างประเทศด้วย และ สสว. จะส่งต่อผู้ประกอบการกลุ่มนี้ขึ้นขายบนตลาด Online และร่วมแสดงสินค้าในงาน SME ONE FEST 2018 ซึ่ง สสว. จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6 – 9 กันยายน 2561 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยภายในงานจะมีทั้งการจัดอบรมสัมมนา การแสดงและจำหน่ายสินค้า การทำ Work shop สอนอาชีพ กิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจกับผู้ค้าทั้งในและต่างประเทศ เป็นต้น ซึ่งผู้ประกอบการจะได้รับความรู้และโอกาสในการเพิ่มช่องทางการตลาดมากยิ่งขึ้น