posttoday

พี่ชายคนโต"บูม" จ่อมอบตัวคดีโกงเงินบิตคอยน์

19 สิงหาคม 2561

“ธนสิทธิ์” ติดต่อตำรวจกองปราบพร้อมนำ “ปริญญา” พี่ชายมามอบตัวสู้คดีโกงบิตคอยน์

“ธนสิทธิ์” ติดต่อตำรวจกองปราบพร้อมนำ “ปริญญา” พี่ชายมามอบตัวสู้คดีโกงบิตคอยน์

พล.ต.ต.ไมตรี ฉิมเฉิด ผู้บังคับการกองปราบปราม เปิดเผยถึงความคืบหน้าคดีโกงเงินอิเล็กทรอนิกส์บิตคอยน์ ว่า เมื่อวันที่ 17 ส.ค. ได้มอบหมายให้พนักงานสอบสวนส่งหมายเรียกไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องในคดีให้มาพบพนักงานสอบสวนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทราบว่ามีผู้เกี่ยวข้องบางรายติดต่อกลับมายังพนักงานสอบสวนบ้างแล้ว และคาดว่าจะเข้าให้ปากคำตามที่นัดหมายไว้

แหล่งข่าวจากพนักงานสอบสวน ระบุว่า หลังออกหมายเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดีโกงเงินบิตคอยน์รวม 8 คน มาให้ปากคำในวันที่ 27-28 ส.ค.ที่จะถึงนี้ นายธนสิทธิ์ จารวิจิต น้องชายของนายปริญญา ผู้ต้องหาคดีฟอกเงิน ซึ่งเป็นพี่ชายคนโตของ นายจิรัชพิสิษฐ์ จารวิจิต หรือ “บูม” นักแสดงหนุ่มที่ถูกแจ้งข้อหาฟอกเงินไปแล้ว ที่ยังหลบหนีติดต่อมายังพนักงานสอบสวน โดยระบุว่า ขณะนี้กำลังติดต่อนายปริญญาให้รีบมาเข้ามอบตัว และชี้แจงเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมดเพื่อไม่ให้ครอบครัวได้รับความเดือดร้อน

ขณะเดียวกัน นายธนสิทธิ์ พยายามขอเลื่อนการเข้าให้ปากคำ โดยอ้างว่าจะรอให้นายปริญญากลับมาก่อน และบิดามารดามีสุขภาพไม่ค่อยดี ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ชี้แจงว่าการเลื่อนการให้ปากคำไม่มีประโยชน์ เพราะตำรวจต้องสอบสวนและแจ้งข้อกล่าวหากับบุคคลบางคนอยู่ดี ซึ่งนายธนสิทธิ์เข้าใจและยืนยันจะมาให้ปากคำตามกำหนดเดิม

แหล่งข่าวระบุด้วยว่า นายธนสิทธิ์ยังต้องการที่จะให้ตำรวจกองปราบฯ เป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย และพร้อมคืนทรัพย์สินทั้งหมดให้นายอาร์นี ผู้เสียหายชาวฟินแลนด์ แต่คณะพนักงานสอบสวนยืนยันว่าไม่สามารถเป็นตัวกลางได้ เพราะมีหน้าที่ดำเนินคดีในทางอาญาอย่างเดียว ซึ่งนายธนสิทธิ์เข้าใจ และบอกว่ากำลังติดต่อตำรวจผู้มีอิทธิพลคนหนึ่งย่านฝั่งธนบุรี ซึ่งเป็นบิดาของแฟนสาวของนายอาร์นี โดยเชื่่อว่าจะตกลงกันได้ในเรื่องของทรัพย์สินที่เป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้

นางพราวพร เสนาณรงค์ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ก.ล.ต.จะติดตามและตรวจสอบว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หรือไม่ ซึ่งถ้าตรวจสอบเจอความผิดว่าเข้าข่ายเหมือนหลอกขายหุ้น หรือคนที่หลอกขายยังไม่ได้รับใบอนุญาตจาก ก.ล.ต. ก็จะมีโทษทางอาญา ซึ่งเป็นความผิดอันใดอันหนึ่ง ก็จะดำเนินการยื่นฟ้องดำเนินคดีฐานทำผิดตามกฎหมายหลักทรัพย์

อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นช่วงปี 2560 ซึ่งเกิดก่อนที่จะมี พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล ที่เพิ่งจะมีการออกมาบังคับใช้ในปีนี้ ดังนั้น ก.ล.ต.จึงยังไม่สามารถดำเนินคดีตาม พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ได้ แต่สามารถจะดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ แทนได้