posttoday

กทม.มั่นใจรับศึกน้ำได้ ผุดแนวเขื่อน-อุโมงค์-ท่อระบาย

18 สิงหาคม 2561

กทม. เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำเหนือ ติดตามปริมาณน้ำในเขื่อนต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบ มั่นใจรับมือได้

โดย...นิติพันธุ์ สุขอรุณ

ผลพวงจากร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบกับมีมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ทำให้ทั่วทุกภาคของประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองและฝนตกหนัก อาจทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมฉับพลัน โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือที่ต้องเผชิญกับน้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่งและดินโคลนถล่ม เป็นเหตุให้หลายจังหวัดต้องเฝ้าจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ขณะที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำเหนือ โดยติดตามปริมาณน้ำในเขื่อนต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบตามมา คือ เขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนภูมิพล เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ล้วนแล้วแต่เป็นเส้นทางผันน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสิ้น

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า การแก้ปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ลงสำรวจพื้นที่จุดอ่อนน้ำท่วมบ่อยครั้ง โดยเฉพาะเขตวัฒนาและเขตคลองเตย ตั้งแต่ช่วงถนนสุขุมวิท 101 ต่อเนื่องถึงซอยแบริ่ง-ลาซาล ซึ่งเป็นพื้นที่แอ่งกระทะ ทั้งยังเป็นรอยต่อกับ จ.สมุทรปราการ จึงได้สั่งการให้ก่อสร้างระบบระบายน้ำด้วยวิธีดันท่อลอดหรือไปป์แจ็กกิ้ง 4 จุด ขณะนี้เสร็จแล้ว 2 จุด เหลืออีก 2 จุด อยู่ระหว่างดำเนินการ

อย่างไรก็ตาม หากฝนตกลงมาน้อยกว่า 100 มิลลิเมตร มั่นใจว่ารับมือได้ แต่หากฝนตกมากกว่านั้น จะต้องใช้เวลาระบายน้ำ 1 ชั่วโมง ส่วนสถานการณ์ น้ำเหนือยังไม่เป็นกังวล เนื่องจากปริมาณน้ำที่สถานนีบางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ที่เคยท่วมเมื่อปี 2554 วัดได้ 3,800 ลูกบาศก์เมตร/วินาที แต่ปัจจุบันยังไม่ถึง 1,000 ลูกบาศก์เมตร

จักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า กทม.วางมาตรการบริหารจัดการน้ำ อาทิ ปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กที่คลองพระโขนง ช่วงจากสถานีสูบน้ำพระโขนงถึงแม่น้ำเจ้าพระยา ความยาว 1,250 เมตร ก่อสร้างแล้วเสร็จความยาว 930 เมตร อยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 165 เมตร บริเวณหมู่บ้านมหาวงษ์ ช่วงจากสถานีสูบน้ำพระโขนงถึงถนนทางรถไฟสายเก่า คาดว่าโครงการก่อสร้างเขื่อนคลองพระโขนงจะแล้วเสร็จภายในเดือน ต.ค. 2561

ขณะเดียวกัน กทม.มีพื้นที่แก้มลิงทั้งหมด 27 แห่ง สามารถรองรับปริมาณน้ำได้ 13 ล้านลูกบาศก์เมตร แบ่งเป็นแก้มลิงของกรุงเทพฯ 11 แห่ง เป็น แก้มลิงของหน่วยงานราชการ 8 แห่ง และเป็นแก้มลิงของเอกชน 8 แห่ง โดยในปี 2561 กทม.มีโครงการเพิ่มแก้มลิงอีก 6 แห่ง ประกอบด้วย บึงประชานิเวศน์ ขณะนี้ได้เปิดใช้งานเต็มระบบแล้ว เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา บึงเสือดำ บึงรางเข้ บึงหมู่บ้านเฟรนชิพ บึงลาดพร้าว 71 และบึงเบญจกิติ สำหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในแต่ละพื้นที่ของกรุงเทพฯ ในภาพรวม

ทั้งนี้ ลักษณะของพื้นที่แต่ละแห่งแตกต่างกัน เพราะบางพื้นที่ปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพสถานีสูบน้ำ หรือติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมจะเหมาะสมที่สุด ส่วนบางพื้นที่มีโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมใน ถนนสายหลัก เรียกว่า ไปป์แจ็กกิ้ง บางพื้นที่ทำเป็นโครงการก่อสร้างบ่อหน่วงน้ำใต้ดินหรือธนาคารน้ำ เพื่อรับน้ำฝนในช่วงที่ฝนตกมากักเก็บไว้

สมพงษ์ เวียงแก้ว รองปลัด กทม. ดูแลงานด้านการระบายน้ำ กล่าวว่า พื้นที่กรุงเทพฯ มีจุดอ่อนน้ำท่วมจำนวน 17 จุด จาก 50 จุด ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ อาทิ ถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณหน้าศูนย์ราชการ วงเวียนหลักสี่ ถนนวิภาวดีรังสิต ถนนงามวงศ์วาน แยกพงษ์เพชร ทั้งสองฝั่ง บริเวณมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถนนศรีอยุธยา ถนนประชาสงเคราะห์ บริเวณด้านหน้าตลาดห้วยขวาง และถนนอโศกมนตรี เป็นต้น

ลักษณะปัญหาแต่ละพื้นที่จะ แตกต่างกัน เช่นที่ถนนแจ้งวัฒนะได้พัฒนาที่ดินเพื่อก่อสร้างอาคารสำนักงาน คอนโดมิเนียม มีการถมที่ดินสูงทำให้ถนนอยู่ในระดับต่ำมาก เมื่อมีน้ำออกจากอาคารสำนักงานจึงไหลออกมาเข้าสู่ท่อระบายน้ำของถนนเป็นจำนวนมหาศาล ซึ่งเกินขีดความสามารถของท่อระบายน้ำเดิม ทางแก้ปัญหาคือใช้เครื่องสูบน้ำที่ถูกติดตั้งอยู่ด้านหลัง ของศูนย์ราชการ พร้อมกับประสานกับ ค่ายทหารขอใช้พื้นที่สระน้ำเป็นแก้มลิง ต่อด้วยตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณหน้าโรงงานยาคูลท์ ถนนวิภาวดีรังสิต ก็จะสามารถระบายน้ำออกจากพื้นที่ได้

ส่วนพื้นที่ถนนงามวงศ์วานถือเป็นจุดต่ำ มีท่อขนาดเล็ก ยังไม่สามารถทำการขยายได้ ประกอบกับฝั่งชินเขตไม่มีที่ระบายน้ำจึงทำให้น้ำท่วมขังบนถนน แก้ปัญหาด้วยบ่อสูบน้ำที่คลองบางเขน ซึ่งสร้างเสร็จแล้ว กำลังใช้งานอยู่ในขณะนี้

รองปลัด กทม. กล่าวอีกว่า ด้านแนวเขื่อนกั้นน้ำหนุนสูงจากแม่น้ำเจ้าพระยา ได้สร้างเสร็จทั้งหมดแล้ว เหลือเพียงบางจุด ซึ่งเป็นพื้นที่ของเอกชน ไม่ยินยอมให้สร้าง จะใช้วิธีนำกระสอบทรายมากั้นไม่ให้ทะลักเข้าพื้นที่ได้ ส่วนความพร้อมของอุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำ ประกอบด้วย อุโมงค์บางซื่อ เปิดใช้งานแล้ว ถัดมาคืออุโมงค์บึงมักกะสัน ทำหน้าที่สูบน้ำออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ใช้งานมาตั้งแต่ปี 2554 และอุโมงค์พระราม 9 ระบายน้ำจากคลองแสนแสบ สูบออกยังสถานีสูบน้ำพระโขนงอย่างเป็นระบบ เชื่อมั่นว่ากรุงเทพฯ รับมือจากผลกระทบ น้ำเหนือได้อย่างแน่นอน

บรรยายใต้ภาพ - พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. เดินทางมาดูการแก้ปัญหานำท่วมในหมู่บ้านเศรษฐกิจ  ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีนำท่วมขังตลอด เมื่อปลายเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา