posttoday

ตั้งคณะทำงานแก้ปัญหาขยะพิษทะลักชุมชน

16 สิงหาคม 2561

รมว.ทรัพยากรฯสั่งตั้งคณะทำงานศึกษาการคัดแยกขยะฯ เตรียมการรองรับใช้ขยะรีไซเคิลในประเทศ พร้อมตั้งกก.แก้ปัญหาขยะพิษทะลักปนเปื้อนชุมชน

รมว.ทรัพยากรฯสั่งตั้งคณะทำงานศึกษาการคัดแยกขยะฯ เตรียมการรองรับใช้ขยะรีไซเคิลในประเทศ พร้อมตั้งกก.แก้ปัญหาขยะพิษทะลักปนเปื้อนชุมชน

พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการเพื่อบูรณาการการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างเป็นระบบ ได้เสนอให้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาแนวทางการส่งเสริม สนับสนุนให้โรงงานคัดแยก/รีไซเคิลดำเนินการโดยใช้ขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกในประเทศ โดยจากการสำรวจและคาดการณ์ของเสียอันตรายจากชุมชนในปี 2560 มีปริมาณของเสียอันตรายเกิดขึ้น 618,759 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 2.05 %จากปี 2559 โดยส่วนใหญ่เป็นซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ประมาณ 401,387 ตัน หรือ 65 %และเป็นของเสียอันตรายประเภทอื่นประมาณ 216,639 ตัน หรือ 35 %

ทั้งนี้ พบว่า โรงงานพึ่งพาวัตถุดิบนำเข้าจากต่างประเทศ ประมาณปีละ 4-5 หมื่นตัน โดยชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอกนิกส์หรือเศษ (E-Waste) ที่เกิดจากโรงงานในประเทศ มีปริมาณปีละ 7,500 ตัน ตามโรดแม็พการจัดการของเสียอันตรายและของเสียอื่นที่นำเข้าจากต่างประเทศมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมมือกับกระทรวงทรัพยากรฯ กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมการรีไซเคิลชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและเศษอิเล็กทรอนิกส์จากแหล่งชุมชน โดยหาก พ.ร.บ.จัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ…..ซึ่งได้กำหนดให้มีระบบรวบรวม ขนส่ง และมีระบบเรียกคืนซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มาที่ศูนย์รับคืนซากฯ ก่อนขนส่งไปยังโรงงานที่ได้รับอนุญาต มีผลบังคับใช้ คาดว่าจะมีปริมาณซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เข้าสู่ระบบอย่างเพียงพอ

นอกจากนี้ ยังเสนอให้ตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนที่เกิดจากกิจกรรมคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างไม่ถูกต้อง ซึ่งปัจจุบันมีประชาชนประกอบอาชีพการคัดแยก ชำแหละ ได้แก่ อบต.โคกสะอาด อ. ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ มีผู้ประกอบอาชีพรับซื้อขาย และคัดแยกของเก่า จำนวน 283 ราย เป็นรายใหญ่ 8 ราย มีขยะเข้าสู่พื้นที 1,021 ตัน/เดือน หรือประมาณ 1.22 หมื่นตัน/ปี เป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ 24 ตัน/เดือน อบต.บ้านเป้า อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์ มีผู้ประกอบการคัดแยก 63 ราย และผู้ประกอบการรายใหญ่ 36 ราย มีปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดจากการคัดแยก 10 ตัน/วัน อบต.บ้านกอก อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี มีผู้ประกอบการคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ 68 ราย มีประมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์จากการคัดแยก 2.05 ตัน/วัน ซ.เสือใหญ่อุทิศ เขตจตุจักร กทม.มีผู้ประกอบการคัดแยกรายย่อยและรายใหญ่ 30 ราย มีปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดจากการคัดแยกประมาณ 5ตัน/วัน ซึ่งเขตจตุจักรจะต้องดำเนินการสำรวจปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ในพื้นที่ดังกล่าวให้มีความชัดเจนต่อไป

อย่างไรก็ตามสำหรับพื้นที่ อบต.โคกสะอาด อ.ฆ้องชัย คพ.ได้เคยเก็บตัวอย่างน้ำและดินมาวิเคราะห์การปนเปื้อน พบว่าในบริเวณสถานที่กำจัดขยะ ตรวจพบความเข้มข้นของโลหะหนัก ตะกั่ว อาร์เซนิค สูงกว่ามาตรฐานคุณภาพดินที่ใช้ประโยขน์เพื่อการอยู่อาศัยและเกษตรกรรม รวมทั้งทองแดง สังกะสีมีค่าเกินมาตรฐานเช่นเดียวกัน บริเวณนาข้าวตรวจพบโลหะหนักปนเปื้อนในดิน เช่น แคดเมียม โครเมียม ทองแดง แมงกานีส นิเกิล ตะกั่ว และสังกะสี แต่ยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน จากการวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำพบว่าคลองชลประทานบ้านสะอาดพบตะกั่วเกินค่ามาตรฐาน และพบโลหะหนักชนิดอื่นๆ แต่ยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งโลหะหนักที่ตรวจพบปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมนั้น ตะกั่วจัดเป็นโลหะหนักที่เป็นพิษต่อทั้งคนและสัตว์ โดยเฉพาะเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 6 ขวบ ที่อาจไปทำลายระบบประสาท ส่งผลต่อการพัฒนาของสมองและระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้เด็กมีไอคิวต่ำ พัฒนาการช้าส่งผลต่อการเจริญเติบโต

อย่างไรก็ดี ที่ประชุมมีข้อเสนอกรอบแนวคิดในการแก้ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ในพื้นที่อบต.โคกสะอาด เช่น การสร้างกลไกความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการบริหารจัดการซากและผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง สร้างกลไกการดูแลโดยแต่งตั้งคณะทำงานระดับจังหวัดลงไปจนถึงระดับอำเภอ หมู่บ้าน ชุมชน กำหนดให้มีมาตรการแก้ไขปัญหาทางด้านกฎหมาย โครงสร้างพื้นฐาน การบำบัด ฟื้นฟูการปนเปื้อน พร้อมทั้งสนับสนุนให้มีการรวมกลุ่ม จัดตั้งสหกรณ์สำหรับกลุ่มอาชีพรับซื้อ และแยกชิ้นส่วนของเก่า เพื่อให้มีเงินทุนการจัดการขยะมลพิษ และจัดตั้งศูนย์รวบรวมของเสีย ซึ่งศูนย์ฯ ดังกล่าว อาจจะบริหารโดยอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือภาคเอกชน และในอนาคตสามารถยกระดับขึ้นทะเบียนเป็นโรงงานอุตสาหกรรมต่อไป