posttoday

มหาดไทยปลื้มโครงการ"ไทยนิยมยั่งยืน”แก้ปัญหาความยากจน

15 สิงหาคม 2561

รมว.มหาดไทยเร่งเครื่อง“ไทยนิยมยั่งยืน”ปลื้มโครงการประสบความสำเร็จหลายเรื่อง แก้ปัญหาความยากจนตรงเป้า สอดรับความต้องการชาวบ้าน โปรยงบร่วมแสนล้านหมุนเวียนสู่ระบบเศรษฐกิจ

รมว.มหาดไทยเร่งเครื่อง“ไทยนิยมยั่งยืน”ปลื้มโครงการประสบความสำเร็จหลายเรื่อง แก้ปัญหาความยากจนตรงเป้า สอดรับความต้องการชาวบ้าน โปรยงบร่วมแสนล้านหมุนเวียนสู่ระบบเศรษฐกิจ

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการไทยนิยมยั่งยืนว่า ขณะนี้กำลังเร่งขับเคลื่อนโครงการไทยนิยมยั่งยืนตามพื้นที่ต่างๆในโค้งสุดท้าย โดยส่งคณะทำงานลงพื้นที่หมู่บ้านต่างๆกว่า 8หมื่นแห่ง ไปรับฟังความเห็นจากชาวบ้าน เพื่อจัดสรรงบประมาณอย่างเท่าเทียมกันมาพัฒนาและดำเนินโครงการต่างๆให้ตรงกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ให้มากที่สุด เพื่อแก้ปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำในประเทศ ที่ผ่านมาได้ดำเนินโครงการประสบความ สำเร็จไปแล้วหลายเรื่องอาทิ  การส่งเสริมการผลิตยาจากสมุนไพรให้เป็นไปตามมาตรฐาน สากล สามารถส่งออกไปต่างประเทศ สร้างรายได้กว่าปีละ1,000ล้านบาท การส่งเสริมปลูกไม้ยืนต้นในพื้นที่ โดยเฉพาะไม้มีค่า เพราะปัจจุบันมีกฎหมายให้ใช้ไม้ค้ำประกันแทนเงินได้ การต่อยอดฝึกอบรมอาชีพตามโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการ โครงการติดตามผู้ติดยาเสพติด เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ติดยาเสพติดให้ดีขึ้น การรวมกลุ่มสร้างศูนย์เรียนรู้ผักอินทรีย์ สร้างผลผลิตไปขายตามห้างสรรพสินค้า

พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า  โครงการไทยนิยม ยั่งยืน เป็นสิ่งที่ต่อยอดมาจากแนวคิดโครงการประชารัฐ  ในการแก้ ปัญหาและพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างยั่งยืน ในทุกด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง  โดยมีการตั้ง คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืนทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆด้วยการลงไปรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในแต่ละพื้นที่จริง ๆ ว่าต้องการอะไร แล้วนำข้อมูลที่ได้มาพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้พ้นจากความยากจน  มีความแตกต่างจากโครงการทั่วไป คือ แนวทางดำเนินงานที่เน้นลงพื้นที่รับฟังความต้องการของประชาชนจริง ๆ ยึดประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนเป็นศูนย์กลาง แล้วนำข้อมูลที่ได้ ไปประชุมร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อออกนโยบายช่วยเหลือประชาชนให้ตรงจุดจริง ๆ  คาดว่า เม็ดเงินที่จะกระจายสู่ระบบเศรษฐกิจทั้งหมดจากการดำเนินโครงการไทยนิยมยั่งยืนจะสูงถึง 9.95 หมื่นล้านบาท มาจากการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก  3.5 หมื่นล้านบาท การพัฒนาเชิงพื้นที่ ชุมชน การท่องเที่ยว และกองทุนหมู่บ้าน 3.45 หมื่นล้านบาท และการปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตร3 หมื่นล้านบาท