posttoday

ตุ๋นข้ามโลก 800 ล้าน! "แก๊งบิตคอยน์"โยงตลาดหุ้นยันบ่อนพนัน

13 สิงหาคม 2561

เบื้องหลังคดีโกงบิตคอยน์ครั้งใหญ่ ที่เศรษฐีชาวฟินแลนด์ตกเป็นเหยื่อนักต้มตุ๋นชาวไทยหลอกเอาเงินไปเกือบ 800ล้านบาท

เบื้องหลังคดีโกงบิตคอยน์ครั้งใหญ่ ที่เศรษฐีชาวฟินแลนด์ตกเป็นเหยื่อนักต้มตุ๋นชาวไทยหลอกเอาเงินไปเกือบ 800ล้านบาท

******************************

โดย...วัสยศ งามขำ

แม้ว่าจะเป็นเซียนบิตคอยน์แต่ก็ไม่ใช่เซียนด้านการลงทุน นั่นทำให้ อาร์นี โอตาวา ซาริมา หนุ่มน้อยวัย 22 ปี ชาวฟินแลนด์เศรษฐีเงินอิเล็กทรอนิกส์ตกเป็นเหยื่อของนักต้มตุ๋นชาวไทยที่บินทั่วโลกตามตื้อไปหลอกเอาเงินเกือบ 800 ล้านบาท มาเข้ากระเป๋าตัวเอง

การสืบสวนชิ้นนี้ถือเป็นงานหินของตำรวจกองปราบฯ ที่ต้องใช้เวลานานเกือบ 8 เดือน แกะรอยเส้นทางการเงินจนพบว่ามีผู้ต้องหาจำนวน 3 คน ที่กระทำความผิดฐานฟอกเงินและผู้เกี่ยวข้องร่วมขบวนการโกงอีกอย่างน้อย 6 คน ที่จะต้องดำเนินคดีฐานฉ้อโกง

คดีนี้นับเป็นคดีการโกงบิตคอยน์ใหญ่ที่สุดก็ว่าได้ หลังจากสกุลเงินอิเล็กทรอนิกส์นี้เริ่มใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลกไม่นานมากนัก ก่อนหน้านี้คดีถูกปิดอย่างเงียบๆ มาตั้งแต่ปลายเดือน ม.ค. กระทั่งวันที่ 8 ส.ค. ตำรวจกองปราบฯ ก็เปิดฉากบุกจับกุมตัว จิรัชพิสิษฐ์ จารวิจิต หรือบูม นักแสดง ขณะกำลังถ่ายละคร หลังพบว่าเป็นหนึ่งในผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายพร้อมกับ ปริญญา จารวิจิต และสุพิชฌาย์ จารวิจิต พี่ชายและพี่สาว ในข้อหาร่วมกันฟอกเงิน โดยปริญญาที่เป็นหัวโจกใหญ่เดินทางออกจากไทยไปเกาหลีใต้เมื่อวันที่ 29 ก.ค. ขณะที่ สุพิชฌาย์ กำลังติดต่อขอเข้ามอบตัว

การที่ถูกจับกุมเนื่องจากการแกะรอยเส้นทางการเงินของกลุ่มผู้ต้องหาชุดสืบสวนกองปราบฯ ที่มี พ.ต.อ.ชาคริต สวัสดี รองผู้บังคับการกองปราบฯ เป็นหัวหอก พบว่า ไม่ได้นำเงินของหนุ่มฟินแลนด์ไปลงทุนตามที่ตกลงกันไว้ แต่หลังจากมีการรับโอนเงินสกุลบิตคอยน์จากผู้เสียหายแล้ว ปริญญากับพวกได้มีการทยอยขายเงินอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวออกไป และเมื่อได้เงินมาแล้วได้มีการถอนเงินออกจากกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ไปเข้าบัญชีของธนาคารพาณิชย์ที่เปิดรองรับไว้

ซึ่งพบว่า 1.ปริญญา ผู้ต้องหาที่ยังหลบหนีพี่ชายของจิรัชพิสิษฐ์ได้โอนเงินเข้าบัญชีธนาคารกสิกรไทย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 111.9 ล้านบาท 2.สุพิชฌาย์ ผู้ต้องหาที่ยังหลบหนีพี่สาวของจิรัชพิสิษฐ์ โอนเงินเข้าบัญชีธนาคารกสิกรไทย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 140.1 ล้านบาท และ 3.จิรัชพิสิษฐ์ โอนเงินเข้าบัญชีธนาคารกสิกรไทย รวมเป็นเงิน 21.6 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มผู้เข้าข่ายกระทำความผิดที่ร่วมโอนเงินจำนวนดังกล่าวที่ฉ้อโกงมาได้จากกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์อีก 4 คน ประกอบด้วย 1.ธ. ญาติของจิรัชพิสิษฐ์ได้โอนเงินไปเข้าบัญชีธนาคารกสิกรไทยจำนวน 3 บัญชี รวมเป็นเงิน 146.3 ล้านบาท 2.ช. ผู้ใกล้ชิดกับปริญญา โอนเงินไปเข้าบัญชีธนาคารกสิกรไทยและบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์รวมเป็นเงิน 162.9 ล้านบาท 3.ชัช ได้โอนเงินไปเข้าบัญชีธนาคารกสิกรไทยและบัญชีธนาคารกรุงเทพรวมเป็นเงิน 96.1 ล้านบาท และ 4.ป. เจ้าพ่อและผู้กว้างขวางของตลาดหลักทรัพย์เมืองไทยได้โอนเงินไปเข้าบัญชีธนาคารกสิกรไทยและบัญชีธนาคารกรุงเทพ
รวมเป็นเงิน 66.5 ล้านบาท ทั้งนี้ รวมเงินที่โอนจากกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ไปเข้าบัญชีธนาคารพาณิชย์ไทยทั้งหมด 745.7 ล้านบาท จากจำนวนที่ผู้เสียหายแจ้งความไว้ 797.4 ล้านบาท

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ที่โอนเงินจำนวน 4 คนข้างต้น กำลังถูกพนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อดำเนินการขออนุมัติศาลอาญาเพื่อออกหมายจับในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงทรัพย์ นอกจากนี้ ยังมี ณ. ซึ่งเป็นพนักงานระดับบริหารในบริษัทของ ป. และปัณที่มีความเกี่ยวพันกับปริญญา และ ป. ก็เข้าข่ายที่จะถูกออกหมายจับในข้อหาฉ้อโกงด้วย แม้ว่าทั้งคู่จะไม่เกี่ยวข้องในเส้นทางการเงินในเบื้องต้น แต่ชุดสืบสวนพบว่ามีการร่วมกันเป็นเครือข่ายในการร่วมกันฉ้อโกง ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อจนโอนเงินมาลงทุนในที่สุด รวมแล้วมีบุคคลที่จะต้องถูกออกหมายจับเพิ่มเติมในคดีฉ้อโกงทรัพย์รวมทั้งสิ้น 6 คน ซึ่งเบื้องต้นยังไม่สามารถระบุชื่อจริงได้ เนื่องจากศาลยังไม่อนุมัติหมายจับ

แหล่งข่าวในชุดสืบสวนกองปราบฯ เปิดเผยว่า ขบวนการต้มตุ๋นอาร์นี ชาวฟินแลนด์ที่ตกเป็นผู้เสียหายนั้น มีปริญญาพี่ชายของบูมดาราหนุ่มเป็นหัวหน้าขบวนการและเป็นคนที่เดินเรื่องราวทั้งหมด โดยก่อนหน้านี้ปริญญามีความสนิทสนมกับเจ้าหน้าที่ของธนาคารพาณิชย์คนหนึ่ง

โดยนายธนาคารคนนี้ได้ให้ข้อมูลกับปริญญาว่า อาร์นีเป็นเด็กหนุ่มวัยเพียง 22 ปี แต่มีเงินบิตคอยน์อยู่จำนวนมหาศาล เพราะขุดบิตคอยน์มาตั้งแต่อายุ 12 ปี ทำให้ปริญญาเริ่มทำความรู้จักกับวัยรุ่นชายฟินแลนด์คนนี้ จึงได้เดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ เพื่อขอพบกับอาร์นี พร้อมกับสร้างความน่าเชื่อถือควบคู่ไปด้วย และด้วยความที่ปริญญามีความช่ำชองในการทำธุรกิจและมีความรู้เกี่ยวกับตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก จึงทำให้เหยื่อชาวฟินแลนด์ที่เก่งเรื่องการซื้อขายและขุดเงินอิเล็กทรอนิกส์แต่ไม่เชี่ยวชาญด้านการทำธุรกิจมาก่อนเกิดความหลงเชื่อจึงร่วมลงทุนด้วย

ด้านพฤติกรรมของปริญญาที่เป็นหัวหน้าขบวนการจะสร้างความน่าเชื่อถือให้เหยื่อตายใจ โดยใช้กลอุบายหลอกให้ระดมทุนซื้อหุ้นเพื่อการลงทุน ซึ่งทางกลุ่มผู้ต้องหาได้มีการออกกลอุบายให้ลงทุนประกอบธุรกิจซื้อ-ขายสกุลเงินดิจิทัลในชื่อ Dragon Coin โดยให้ซื้อหุ้นของ บริษัท เอ็กซ์เปย์ ซอฟท์แวร์ หรือบริษัท Expay Group โดยบริษัทดังกล่าวมีทุนจดทะเบียนเพียง 2 ล้านบาท และบริษัท NX Chain inc ซึ่งมีสำนักงานอยู่ต่างประเทศ โดยให้ลงทุนทั้งสองบริษัทเป็นจำนวนเงินกว่า 90 กว่าล้านบาท จากนั้นได้ออกอุบายว่าเงินดิจิทัลในชื่อ Dragon Coin จะถูกนำมาใช้เป็นสกุลเงินในบ่อนกาสิโนที่เกาะมาเก๊า โดยกลุ่มผู้ต้องหาที่ประกอบไปด้วย ปริญญา ชาคริต อาหมัด และจิรัชพิสิษฐ์ ได้พาผู้เสียหายไปที่บ่อนการพนันแห่งหนึ่งบนเกาะมาเก๊าด้วยเพื่อความน่าเชื่อถือ

นอกจากนี้ กลุ่มผู้ต้องหายังได้ตั้งออกอุบายให้เหยื่อลงทุนผ่านบริษัท ดีเอ็นเอ 2002 เพื่อซื้อหุ้นบริษัทที่ฮ่องกง คือ บริษัท Wi tech หรือ Wi Holding Group ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำหน้าที่ในการรับแลกเปลี่ยนเงินดิจิทัล Dragon Token แต่ปรากฏว่าบริษัทนี้ไม่มีตัวตนแต่ระบุในสัญญาลงทุนจดทะเบียน 1 หมื่นดอลลาร์ฮ่องกง โดยบริษัทนี้จะทำหน้าที่ในการสร้าง Dragon Token ขึ้น โดยมีบริษัท Wi Holding Group เป็นตัวแทนจัดจำหน่าย แต่จนปัจจุบันยังไม่ได้มีการลงทุน นอกจากนี้ยังมีการซื้อหุ้นในบริษัท ดีเอ็นเอ 2002 ทั้งสิ้นเพียง 345 ล้านหุ้น ซึ่งยังไม่ครบตามจำนวนที่ตกลงกันไว้ด้วย

พ.ต.อ.ชาคริต ระบุว่า จะต้องแจ้งข้อหาร่วมกันฉ้อโกงเพิ่มเติมกับผู้ต้องหาทั้งสามคนที่ถูกออกหมายจับด้วย เพราะถือเป็นการกระทำความผิด แต่กรณีที่แจ้งข้อหาฟอกเงินก่อน เนื่องจากพบความผิดชัดเจนที่นำเงินที่ได้มาไปซื้อที่ดินจำนวน 15 แปลง ราคา 176 ล้านบาท ถือเป็นการนำเงินที่ได้มาไปฟอก ส่วนผู้เกี่ยวข้องที่เหลืออีก 6 คน ก็กำลังรวบรวมหลักฐาน เพื่อออกหมายจับฐานร่วมกันฉ้อโกง คาดว่าจะสามารถออกหมายจับได้ภายในสัปดาห์นี้