posttoday

"ฝนสิงหา"สถานการณ์ผิดปกติ ถ้าคุมอยู่ ปีนี้ไม่ต้องห่วงน้ำท่วม

13 สิงหาคม 2561

หาคำตอบเรื่องสถานการณ์น้ำในขณะนี้ว่าน่ากังวลจริงหรือไม่ และทิศทางในอนาคต กับ "เสรี ศุภราทิตย์" ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต

หาคำตอบเรื่องสถานการณ์น้ำในขณะนี้ว่าน่ากังวลจริงหรือไม่ และทิศทางในอนาคต กับ "เสรี ศุภราทิตย์" ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต

****************************

โดย....กันติพิชญ์ ใจบุญ

ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า “ฝน” ที่กระหน่ำเข้ามาในช่วงระยะเวลา 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ในช่วงเริ่มต้นเข้าสู่หน้าฝน ทำให้ประชาชนต้องหวาดวิตกกับเหตุการณ์น้ำท่วมอย่างเลี่ยงไม่ได้ กอปรกับเหตุการณ์น้ำท่วมจ.เพชรบุรี ในชั่วยามนี้ที่ยังเป็น “ลูกผีลูกคน” ก็ยิ่งสร้างความตื่นตระหนกไม่เพียงแต่เฉพาะกับคนในพื้นที่ หากแต่คนในพื้นที่ชั้นในอย่างกรุงเทพมหานครก็ตระหนกด้วย

ถอดรหัสความกังวลของคนไทยเกี่ยวกับน้ำท่วมและทิศทางน้ำฝนในอนาคตกับ “เสรี ศุภราทิตย์” ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ไขคำตอบสถานการณ์น้ำในขณะนี้น่ากังวลจริงหรือไม่ และทิศทางอนาคตจะเป็นอย่างไรภายใต้สภาพอากาศที่แปรเปลี่ยนไป

เสรี เปิดฉากว่า การคาดการณ์ปริมาณน้ำฝนที่จะส่งผลกระทบทำให้สุ่มเสี่ยงจะเกิดน้ำท่วมนั้น ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดเหตุอุทกภัยจะมีอยู่ 2 เรื่องหลัก คือ

1.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change ที่เป็นปรากฏการณ์ไปทั่วโลก ผลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น อุณหภูมิน้ำทะเลก็สูงขึ้น และความชื้นมากขึ้นตาม ซึ่งความชื้นนี้เองที่เป็นปัจจัยของการเกิดพายุ อย่างกรณีที่ประเทศลาวที่เกิดพายุเข้าถล่มทำให้ฝนตกหนักและน้ำท่วมอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็ยังทำให้เกิดความแล้งอย่างสุดขั้วอีกด้วย การคาดการณ์ต่างๆ อย่างที่เคยทำมาก่อนก็ไม่อาจแม่นยำได้เหมือนก่อน

2.การแปรปรวนของสภาพอากาศ ซึ่งกระทบกับประเทศไทยโดยตรง และทำให้สภาพอากาศไม่นิ่ง ปี 2560 ประเทศไทยอยู่ในช่วงเอลนินโญ ซึ่งทำให้เกิดภาวะสภาพแห้งแล้งอย่างหนัก ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยเรียกได้ว่าอยู่ในโหมดของเอลนินโญในระดับอ่อนถึงระดับกลาง ฝนจึงตกหนักในช่วงเดือน ส.ค.นี้ และคาดว่าปลายปี 2561 ประเทศไทยจะเข้าสู่โหมดเอลนินโญระดับสูงสุด ซึ่งจะทำให้ปี 2562 เกิดภาวะแล้งอีกครั้งอย่างหนัก และเมื่อเข้าสู่ฤดูฝนของปี 2562 ฝนจะตกน้อยกว่าปกติ ซึ่งคาดการณ์ต่อไปอีกจะพบว่าปี 2563 เราจะอยู่ในช่วงลานินญาอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งช่วงนี้ฤดูฝนในปี 2563 จะเกิดพายุและฝนตกอย่างหนัก ซึ่งจำต้องเฝ้าระวังอย่างมาก

เสรี สะท้อนภาพอีกว่า ในปี 2561 ที่เกิดฝนตกหนักในช่วงเดือน ส.ค.นี้ ถือได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่เรียกว่า “ผิดปกติ” เพราะประเทศไทยเพิ่งเข้าสู่ช่วงฤดูฝน แต่เพราะสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงทำให้ฝนเกิดตกในช่วงนี้ แต่จากการคาดการณ์หลังจากเดือน ส.ค.ไปแล้ว ฝนจะน้อยลง หากเราบริหารจัดการให้ผ่านพ้นเหตุการณ์ฝนตกหนักในเดือน ส.ค.ไปได้ หลายพื้นที่ก็น่าจะปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องกังวลคืออีก 10 วันข้างหน้าอาจจะมีพายุเกิดขึ้นอีกและมีผลกระทบต่อประเทศไทย เพราะล่าสุดที่ได้ตรวจสอบดูพบว่า มีหย่อมความกดอากาศในทะเลจีนใต้ ซึ่งกำลังเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศเวียดนาม และไปถึงลาวเหนือและออกสู่เมียนมา ซึ่งพายุลูกนี้จะกระทบกับจังหวัดลุ่มแม่น้ำโขงของไทย แม้ขณะนี้ปริมาณแม่น้ำโขงจะลดลงแล้วแต่เมื่อพายุมาจะเกิดปริมาณน้ำฝนจำนวนมาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องรับมือและหาทางระบายน้ำให้ทันผ่านเขื่อนต่างๆ

"ฝนสิงหา"สถานการณ์ผิดปกติ ถ้าคุมอยู่ ปีนี้ไม่ต้องห่วงน้ำท่วม เสรี ศุภราทิตย์

ทว่า 10 วันข้างหน้าจะมีพื้นที่ใดบ้างที่สุ่มเสี่ยง เสรี ให้คำตอบผ่านการประเมินสภาพอากาศด้วยเทคโนโลยีของเขา ก็ทำให้เห็นภาพว่า พื้นที่ฝั่งตะวันออกจนถึงฝั่งทะเลอันดามันจะต้องรับมือกับผลกระทบลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ที่จะพัดผ่านเข้ามา ขณะที่แถบภาคอีสานก็จะพบกับหย่อมความกดอากาศต่ำที่กำลังก่อตัวในทะเลจีนใต้ ซึ่งกำลังเดินทางเข้าเวียดนาม และลาวเหนือ ซึ่งจะกระทบกับพื้นที่จังหวัดลุ่มแม่น้ำโขงทั้งหมด แต่หากผ่านพ้นไปได้ด้วยการบริหารจัดการการระบายน้ำที่ดีก็คาดว่าจะไม่มีผลกระทบต่อประชาชนมากนัก

“เดือน ส.ค.ฝนมาเร็วและผิดปกติอย่างมาก และการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นนี้รัฐบาลไม่ทันต่อสถานการณ์ในการรับมือ เพราะหน่วยงานรัฐเคยชินกับการปฏิบัติแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าเท่านั้น และแผนการปฏิบัติก็ยึดเอาปฏิทินน้ำท่วมที่เคยมีมาและทำแค่ตามแผนเท่านั้น แต่อย่างที่ผมบอกเอาไว้ว่า สภาพอากาศทุกวันนี้มันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และยากที่จะคาดเดาให้แม่นยำแต่เราสามารถประเมินได้ ซึ่งรัฐบาลขาดมันสมองที่จะประเมินสถานการณ์ เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมฝนตกหนักทุกครั้ง รัฐจะแก้ไขปัญหาไม่ได้เลย” เสรี ตั้งข้อสังเกต

เสรี ให้ภาพการจัดการปัญหาน้ำของรัฐบาลอีกว่า รัฐบาลไม่มีหน่วยงานใดที่สามารถประเมินสภาพอากาศได้ในลักษณะที่ต้องวางแผนเตรียมการรับมือก่อนเกิดเหตุการณ์ได้เลย แม้แต่กรมอุตุนิยมวิทยาเองที่คาดการณ์สถานการณ์ฝนได้ล่วงหน้าเพียงแค่ 1-2 วันเท่านั้น หรือมากสุดก็ไม่เกิน 7 วัน

แต่ประเด็นคือเมื่อกรมอุตุฯ คาดการณ์แล้วก็ไม่มีหน่วยงานใดมาประเมินสถานการณ์ต่อเพื่อจะรับมือ หรือเป็นหน่วยงานที่เป็น เจ้าภาพรับผิดชอบหลัก เพื่อจะได้วางแผนก่อนเกิดเหตุว่าพื้นที่ใดมีความเสี่ยง ฝนมีปริมาณเท่าใดที่จะเกิดน้ำท่วม และจะท่วมเวลาไหน รัฐบาลขาดมันสมองในส่วนนี้ เพราะว่ากันตามจริงเราสามารถประเมินล่วงหน้าได้ 6-12 เดือน แม้จะไม่แม่นยำแต่ก็ทำให้รู้แนวโน้มสถานการณ์เพื่อรับมือได้ และยังช่วยประเมินความเสี่ยงพร้อมทั้งแจ้งประชาชน เอกชนที่ลงทุนได้รับทราบล่วงหน้าเพื่อเตรียมรับมือ

“ภาพรวมของพายุในอนาคตจะม้วนตัวเข้าสู่ประเทศญี่ปุ่น จีน และเกาหลี ขณะที่เมื่อเข้าสู่ปี 2562 ที่จะต้องแล้งอย่างหนักหน่วง พายุก็จะยังพื้นที่ความชื้นและมีอุณหภูมิน้ำทะเลสูงที่ประเทศแถบอเมริกาใต้ แต่สิ่งที่ต้องระวังซึ่งเรายังไม่สามารถประเมินได้คือพายุไต้ฝุ่นขนาดใหญ่ หากเข้ามาและประเทศไทยไม่ได้เตรียมแผนรับมือเอาไว้ เราก็จะแย่อย่างหนัก”

"ฝนสิงหา"สถานการณ์ผิดปกติ ถ้าคุมอยู่ ปีนี้ไม่ต้องห่วงน้ำท่วม

อย่างไรก็ตาม ที่ค่อนข้างน่ากังวลคือปี 2563-2564 รัฐจะต้องประเมินให้เด็ดขาดและมีแผนการรับมือ เพราะช่วงนั้นประเทศไทยจะได้รับอิทธิพลจากเหตุการณ์ลานินญา ต้องรับมือในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับน้ำท่วม

“ในเวลานี้บอกเลยว่าหากไม่ดำเนินการเตรียมตัวเรารับมือไม่ได้แน่นอน เพราะบายพาสน้ำเราก็ไม่ได้ทำในหลายพื้นที่ ขยายแก้มลิงก็ไม่ได้ทำ เรายังไม่ได้ขยายคลองอีกด้วย แต่เข้าใจว่าการดำเนินการต้องใช้ทั้งเวลาและงบประมาณ แต่มันไม่ทำไม่ได้ หรือหากรัฐทำไม่ได้ก็ต้องประเมินพื้นที่เสี่ยงให้ได้ว่ามีจุดใดบ้างที่สุ่มเสี่่ยง เพื่อให้ประชาชนได้รู้ตัวก่อน รวมถึงภาคเอกชนจะได้เตรียมรับมือเพื่อไม่ให้กระทบกับการลงทุน”

ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพอากาศผู้นี้ สะท้อนอีกว่า รัฐบาลจำเป็นจะต้องปรับเปลี่ยนการทำงานใหม่เพื่อแก้ปัญหาภัยพิบัติหรืออุทกภัยอย่างล่วงหน้า ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอย่างที่เคยทำมา

“ผมยังมองไม่ออกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอนาคตรัฐจะรับมือได้อย่างไร เพราะการจัดการไปเน้นให้ความสำคัญหลังเกิดภัยมากกว่า แต่การแก้ปัญหาเช่นนี้ก็ไม่ได้เกิดการเรียนรู้เพื่อรับมือ มีแต่แผนการปฏิบัติแบบเดิมเพื่อรับมือครั้งต่อไป เขื่อนรับน้ำเต็มแล้วก็เอ่อไปเขื่อนถัดไปอีก รัฐบาลต้องปรับการทำงานใหม่ ซึ่งต้องประเมินให้ได้ว่าทำอย่างไรเพื่อป้องกันเหตุระยะยาว ไม่ให้เกิดความตระหนก เช่น ที่ จ.เพชรบุรีก่อนเกิดน้ำท่วม รัฐบาลก็มาให้ข่าวเองว่าน้ำในเขื่อนขนาดเล็กเต็มไปแล้วกว่าร้อยแห่ง ประชาชนเองก็เลยตระหนก” เสรี ทิ้งท้าย