posttoday

ศูนย์เฉพาะกิจฯออกประกาศฉบับ 3 , 4

10 สิงหาคม 2561

ศูนย์เฉพาะกิจฯออกประกาศฉบับ 3 และ 4 คุม บริหารน้ำเขื่อนแก่งกระจาน และให้ทำแผนระวังเขื่อนอื่น

ศูนย์เฉพาะกิจฯออกประกาศฉบับ 3 และ 4 คุม บริหารน้ำเขื่อนแก่งกระจาน และให้ทำแผนระวังเขื่อนอื่น

นายสำเริง  แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.)ในฐานะ ผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต ออกประกาศศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต  ฉบับที่  3 และ 4  ลงวันที่  10 ส.ค.  61

โดยประกาศสถานการณ์แม่น้ำเพชรบุรี ฉบับที่ 3/2561  ระบุว่า ตามที่ ได้ระบายน้ำจากเขื่อนแก่งกระจานลงสู่แม่น้ำเพชรบุรีผ่านทางระบายน้ำของเขื่อน ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำอยู่ในเกณฑ์สูงและอาจล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมสองฝั่งแม่น้ำ ในบริเวณอำเภอแก่งกระจาน อำเภอท่ายาง อำเภอบ้านลาด อำเภอเมืองเพชรบุรี และอำเภอบ้านแหลม โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามอำนาจ หน้าที่ และความรับผิดชอบของหน่วยงาน เพื่อป้องกันและบรรเทาอุทกภัยที่จะเกิดขึ้นแล้ว นั้น

การประเมินสถานการณ์ ณ ขณะนี้ คาดการณ์ว่าปริมาณฝนบริเวณลุ่มน้ำเพชรบุรี มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องไปจนถึงกลางเดือนสิงหาคม และยังคงมีปริมาณน้ำจากต้นน้ำไหลลงเขื่อนแก่งกระจานในปริมาณที่ลดลง ส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลผ่านทางระบายน้ำลดลง ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเพชรบุรี มีแนวโน้มลดลงตามการระบายน้ำจากเขื่อน แต่ยังคงมีระดับสูง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะบริหารจัดการน้ำที่เขื่อนเพชร ให้มีการระบายน้ำลงท้ายน้ำ เข้าสู่อำเภอเมืองเพชรบุรี  ในระดับที่เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำน้อยที่สุด

ดังนั้นจึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวัง ติดตาม และประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง พร้อมทั้งเตรียมปรับแผนการเผชิญเหตุที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้ รวมทั้งประกาศแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ ให้รับทราบต่อไป

นอกจากนั้นนายสำเริง กล่าวว่า ได้ออกประกาศศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต ฉบับที่ 4/2561 เรื่อง  สถานการณ์น้ำตามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา ฉบับที่ 23 (369/2561) ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองหลายพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง นั้น การประเมินสถานการณ์ ณ ขณะนี้ คาดการณ์ว่าฝนตกอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ดังกล่าว ส่งผลให้ ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ และในแม่น้ำมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคม 2561 และต้องเฝ้าระวังท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำเอ่อล้นตลิ่งและดินโคลนถล่ม

ดังนั้น ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวัง และติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ทั้งนี้ ให้หน่วยงานที่มีอำนาจ หน้าที่ และความรับผิดชอบในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก   ที่ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำมากกว่า 80% ของความจุ เร่งพร่องน้ำเพื่อรองรับปริมาณน้ำ และให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำน้อยที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือตอนบน ตลอดจนตรวจสอบความมั่นคงของอาคาร รวมถึงประกาศแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ให้รับทราบต่อไป