posttoday

สทนช. เตือน 8 จว.เสี่ยงน้ำท่วม- ดินถล่ม ฝนสะสมเกิน 150 มม.

10 สิงหาคม 2561

สทนช. เตือน 8 จังหวัด เสี่ยงน้ำท่วม- ดินถล่ม ฝนสะสมเกิน 150 มม. หลังอุตุฯเตือนรับมือฝน กลางส.ค. –ต.ค.

สทนช. เตือน 8 จังหวัด เสี่ยงน้ำท่วม- ดินถล่ม ฝนสะสมเกิน 150 มม. หลังอุตุฯเตือนรับมือฝน กลางส.ค. –ต.ค.  

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.)  แถลงข่าว การจัดการแบบบูรณาการ....แก้วิกฤตน้ำท่วมในห้วงฤดูฝน ปี 2561 ณ ห้องแถลงข่าว ตึกนารีสโมสรพร้อมด้วยนายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย    

 ทั้งนี้ภาพรวมแนวทางการบริหารจัดการน้ำในฤดูฝนปี 2561 ว่า ในปีนี้การป้องกันและแก้ไขปัญหาการป้องกันน้ำท่วมช่วงฤดูฝนมีความชัดเจนในทางปฏิบัติมากขึ้นผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นก็ลดลงด้วยการทำงานประสานกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด โดยแบ่งออกเป็น 2ส่วนหลักด้วยกัน คือ 1. การเตรียมการล่วงหน้าก่อนเข้าสู่ฤดูฝนให้มีการบูรณาการข้อมูลหน่วยงานด้านน้ำของประเทศที่มีอยู่กว่า 38 หน่วยงานให้เดินหน้าไปในทิศทางเดียวกันพร้อมสร้างการรับรู้ประชาชนถึงการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ ปี 2561หลังจากเข้าสู่ฤดูฝนตั้งแต่ปลายเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี

โดยสทนช.ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ 4 มิ.ย.61 และลงพื้นที่สร้างการรับรู้สถานการณ์น้ำหลากรายภาค รวมถึงแผนป้องกันเฝ้าระวัง และเผชิญเหตุของหน่วยงานรับผิดชอบไปสู่ประชาชนให้ครอบคลุมทั่วประเทศให้สอดคล้องตามช่วงเวลาของสถานการณ์ฝนของแต่ละพื้นที่ ซึ่งครั้งสุดท้ายจัดขึ้นที่ภาคใต้จ.สงขลา เมื่อวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา

2. การบูรณาการข้อมูลการพยากรณ์อากาศ การติดตามสภาพฝนและสถานการณ์น้ำเพื่อจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการตามช่วงเวลารองรับทุกระดับของความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นรวมถึงแจ้งเตือนพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบให้ชัดเจนซึ่งจากการติดตามสถานการณ์ฝนและปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่และเขื่อนขนาดกลางทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องพบว่าหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบจากปริมาณฝนที่ตกต่อเนื่องในหลายพื้นที่ ส่งผลให้ต่อปริมาณน้ำในเขื่อนระดับน้ำในแม่น้ำสายสำคัญเพิ่มสูงขึ้นและอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนได้

จากนั้นสทนช.ได้มีการตั้งศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติเมื่อวันที่ 2 ส.ค.ที่ผ่านมา ตามข้อสั่งการของพลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรีประธานคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อเป็นการดำเนินการเชิงป้องกันและไม่ให้เกิดความเสียหายที่เกิดจากน้ำให้เป็นเอกภาพในการอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

นายสมเกียรติ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำปัจจุบันขณะนี้มี 8 เขื่อนขนาดใหญ่ที่มีระดับน้ำอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง ได้แก่ เขื่อนน้ำพุง เขื่อนลำปาว เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนอุบลรัตน์เขื่อนวชิราลงกรณ์ เขื่อนปราณบุรี โดยมี 2 เขื่อนที่ปริมาณน้ำเกินกว่า 100% ได้แก่ เขื่อนน้ำอูน 103%และเขื่อนแก่งกระจาน 103 % ซึ่งสทนช.ได้กำกับ ติดตาม ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระบายน้ำให้อยู่ให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมรวมถึงเตรียมการช่วยเหลือพื้นที่ท้ายน้ำโดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นศูนย์กลางบูรณาการทุกหน่วยงานแจ้งเตือนและช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบในระดับพื้นที่ขณะที่สถานการณ์แม่น้ำโขงที่เพิ่มระดับอย่างรวดเร็ว จากปริมาณฝนตกหนักที่ประเทศลาว ส่งผลให้ระดับน้ำที่แม่น้ำโขงตั้งแต่ จ.อุบลราชธานี จ.นครพนม จ.มุกดาหาร สูงกว่าตลิ่งตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ก.ค.ที่ผ่านมาแต่จากการติดตามสถานการณ์แม่น้ำโขงปัจจุบันพบว่าระดับน้ำโขงเริ่มลดลงตั้งแต่วันที่ 6 ส.ค.61 และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ระดับน้ำแม่น้ำแม่น้ำเพชรบุรีที่ อ.เมือง มีแนวโน้มลดลงปัจจุบันระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 69 ซม. เนื่องจากมีการตัดยอดน้ำเข้าระบบชลประทานมากขึ้นประกอบกับมีน้ำที่ไหลจากเขื่อนแก่งกระจานผ่านทางระบายน้ำล้นแนวโน้มลดลง ขณะนี้สูงประมาณ 54 ซม.จากเมื่อวานนี้ 60 ซม. ส่วนสภาพน้ำในอ่าง เขื่อนแก่งกระจานแนวโน้มปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างลดลง แต่จากการคาดการณ์สภาพภูมิอากาศอาจมีฝนตกมากขึ้นส่งผลให้น้ำในเขื่อนเพิ่มขึ้นในสัปดาห์หน้า

สทนช.เน้นย้ำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังต้องเฝ้าระวังสถานการณ์รวมถึงเร่งระบายน้ำต่อเนื่องให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมด้วยทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ปริมาณฝนสะสม 7 วัน ที่เกิน 150 มม. มีพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากน้ำเอ่อล้นตลิ่งและดินโคลนถล่มเป็นพิเศษ 8 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สกลนคร มุกดาหาร ภาคตะวันออก ปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด ภาคใต้ ระนอง พังงา สุราษฎร์ธานี

ซึ่งสทนช.เตรียมออกประกาศแจ้งเตือนพื้นที่ดังกล่าวไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำแผนป้องกันและแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงโดยเร็วต่อไป

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า  ขณะนี้ระดับน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนแก่งกระจานเริ่มลดลง โดยสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ มีปริมาณน้ำ 734 ล้านลูกบาศก์เมตร( ลบ.ม.) คิดเป็น 103% ปริมาณน้ำไหลเข้า 15.18 ล้าน ลบ.ม./วัน กรมชลประทานได้ติดตั้งกาลักน้ำ จำนวน 15 ชุด เพื่อช่วยเร่งระบายน้ำออกจากอ่างฯ ปริมาณน้ำระบายออกรวม 196.27  ลบ.ม./วินาที น้ำล้นทางระบายน้ำ (Spillway) สูง 54 ซม. (เมื่อวาน 60 ซม.) แนวโน้มปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเริ่มทรงตัว และจากการคาดการณ์สภาพภูมิอากาศ อาจมีฝนตกมากขึ้นส่งผลให้น้ำในเขื่อนเพิ่มขึ้นในสัปดาห์หน้า ยังต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ต่อไป

สภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำ ยังอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง ระดับน้ำท้ายเขื่อน ที่สถานี B.3A อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี (05.00 น.) ระดับน้ำ 3.58 ม. ระดับตลิ่ง 4.40 ม. ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 0.82 ม. (เมื่อวาน 0.76 ม.) ปริมาณน้ำไหลผ่าน 176.10 ลบ.ม./วินาที ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านทางระบายน้ำล้นมีแนวโน้มลดลงทำให้พื้นที่ริมสองฝั่งลำน้ำในบริเวณอำเภอแก่งกระจาน อำเภอท่ายาง อำเภอบ้านลาด อำเภอเมือง และอำเภอบ้านแหลม ที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมมีแนวโน้มทรงตัว

การบริหารจัดการน้ำ มีการพร่องน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีล่วงหน้า และตัดยอดน้ำผ่านระบบชลประทาน รวมถึงการพร่องน้ำจากอ่างเก็บน้ำโดยกาลักน้ำ/เครื่องสูบน้ำ ทำให้ระดับน้ำที่อำเภอเมืองเพชรบุรี (สถานี B.15) มีระดับลดลง ต่ำกว่าตลิ่ง 0.69 ม. (เมื่อวาน 0.55 ม.) แต่ยังต้องเฝ้าระวัง

ด้านเขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ มีปริมาณน้ำ 535 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 103 % ปริมาณน้ำไหลเข้า 6.09 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำไหลออก 5.22 ล้าน ลบ.ม.

สภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำ ยังคงปกติ คาดว่าจะไม่มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากไม่มีน้ำล้นตลิ่งการบริหารจัดการน้ำ ปริมาณน้ำในอ่างฯคงที่ เนื่องจากสามารถระบายน้ำออกได้เท่ากับปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่างฯ

สำหรับเขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ มีปริมาณน้ำ 7,537 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 85 % ปริมาณน้ำไหลเข้า 61.24 ล้าน ลบ.ม. มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และมีปริมาณน้ำไหลออก 42.74 ล้าน ลบ.ม.สภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำ ปริมาณน้ำที่ระบายเพิ่มไม่ล้นตลิ่ง แต่อาจส่งผลกระทบต่อบริเวณรีสอร์ท ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแควน้อย การบริหารจัดการน้ำ เพิ่มการระบายน้ำเป็น 43 ล้าน ลบ.ม./วัน ตั้งแต่วันที่ 5 ส.ค. 61

เขื่อนปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ มีปริมาณน้ำ 317 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 81% ปริมาณน้ำไหลเข้า 6.77 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำไหลออก 9.48 ล้าน ลบ.ม.สภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำ ระดับน้ำในแม่น้ำปราณบุรีจะมีระดับค่อยๆสูงขึ้น ทั้งนี้ต้องเฝ้าระวังระดับน้ำจากอัตราการระบายที่เพิ่มขึ้น การบริหารจัดการน้ำ เพิ่มการระบายน้ำจนถึง 100 ลบ.ม./วินาที 

การติดตามสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่ มีอ่างฯที่ความจุเกิน 100% ขนาดใหญ่ 2 แห่ง อ่างเก็บน้ำน้ำอูน (103%) เขื่อนแก่งกระจาน(103%) ขนาดกลาง 16 แห่ง ซึ่งอยู่ใน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 13 แห่ง และภาคตะวันออก 3 แห่ง 

อ่างเฝ้าระวัง (80-100%) ขนาดใหญ่ 3 แห่ง เขื่อนศรีนครินทร์ (87%) เขื่อนวชิราลงกรณ (85%) เขื่อนปราณบุรี (81%) ขนาดกลาง 61 แห่ง แยกเป็น ภาคเหนือ 5 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 43 แห่ง ภาคตะวันออก 7 แห่ง ภาคกลาง 2 แห่ง และภาคใต้ 4 แห่ง

สำหรับพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงน้ำท่วม : ริมแม่น้ำโขง ตั้งแต่ จ.เลย หนองคาย นครพนม มุกดาหาร อุบลราชธานี พื้นที่เฝ้าระวังจากการเร่งระบายน้ำ : อ่างฯขนาดใหญ่ที่มีระดับน้ำสูงกว่าเกณฑ์ควบคุม 8 แห่งและอ่างฯที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 80% โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ต้องเฝ้าระวัง เขื่อนแก่งกระจาน เขื่อนวชิราลงกรณ ปราณบุรี   และเขื่อนน้ำอูน รวมถึงอ่างขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่มีปริมาณน้ำ 100%

นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา  กล่าวว่า  ตั้งแต่กลางเดือนส.ค.ไปถึงกลายต.ค.จะมีฝนตกต่อเนื่องทั่วทุกภาค โดยช่วง  10-15 ส.ค. ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านประเทศเมียนมา  ตอนบนของภาคเหนือ และประเทศเวียดนามตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ประกอบร่องมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน  ทำให้ประเทศไทยยังมีฝนตกหนักบางแห่ง

ทั้งนี้หลังวันที่  20 ส.ค.-ก.ย.  จะมีฝนตกมากในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง โดยเฉพาะในเดือนก.ย.ภาคกลางจะมีฝนกระจุกตัว   และภาคใต้ในปลายก.ย. ไป ถึงกลางเดือนธ.ค.

นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย   กล่าวว่า  ได้มีการประสานงานกับทุกจังหวัดพื้นที่  เพื่อเตรียมการช่วยเหลือกรณีเกิดภัย ทั้งอาหาร การดำรงชีพ  การบรรเทาทุกข์ และกรณีมีการโรงอาหารพระราชทานก็จะมีการเข้าไปสนับสนุน  ทั้งนี้แต่ละจังหวัดจะมีการกระจายข่าวผ่านระบบของพื้นที่เพื่อแจ้งให้ประชาชนรู้สถานการณ์ล่วงหน้า  ปัจจุบันจังหวัดประสบภัยจาก  30  จังหวัดเหลือเพียง  9  จังหวัด