posttoday

งานวิจัยชี้ 11พฤติกรรมเสพติดยุคใหม่มีผลทางสมองไม่ต่างจากเสพยา

09 สิงหาคม 2561

ผลวิจัยชี้ 11 พฤติกรรมเสพติดยุคใหม่ที่มีผลกระทบต่อสมองไม่ต่างจากยาเสพติด นักวิชาการต่างชาติชี้การเสพติดในโลกสมัยใหม่รุนแรงกว่าภาวะโลกร้อน

ผลวิจัยชี้ 11 พฤติกรรมเสพติดยุคใหม่ที่มีผลกระทบต่อสมองไม่ต่างจากยาเสพติด นักวิชาการต่างชาติชี้การเสพติดในโลกสมัยใหม่รุนแรงกว่าภาวะโลกร้อน

เมื่อวันที่ 9 ส.ค. สำนักกิจการในพระราชดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา จัดสัมมนาวิชาการในหัวข้อ "การเสพติดย้อนอดีตสู่อนาคต ปัญหาและทางออก"

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวตอนหนึ่งภายในงานว่า งานวิจัยของกรมแพทย์ทหารสหรัฐอเมริกายืนยันเรื่องที่วงการวิทยาศาสตร์ระบุว่า การเสพติดเป็นโรคชนิดหนึ่งไม่ใช่ความล้มเหลวทางศีลธรรมและการเสพติดไม่จำเป็นต้องมียาเสพติดเข้ามาเกี่ยวข้องก็ได้

ทั้งนี้งานวิจัยของSteve Sussman University of Southern Californira ในปี 2017 พบว่ามีพฤติกรรมเสพติด 11 ชนิด คือ การสูบบุหรี่, การดื่มเหล้า, การเสพยาเสพติดชนิดร้ายแรง, การรับประทานอาหาร, การพนัน, สื่อทางอินเตอร์เน็ตและอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ, ความรัก, เพศสัมพันธ์,การออกกำลังกาย, การทำงาน และการซื้อของ ซึ่งเป็นวิถีชีวิตสมัยใหม่นำไปสู่การเกี่ยวข้องกับการเสพติดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ปัจจุบันพฤติกรรมการเสพติดของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปไม่ได้เกิดจากยาเสพติดเท่านั้น แต่มีการเสพติดในรูปแบบที่หลากหลาย เช่น ติดบุหรี่ ติดเหล้า ติดอินเตอร์เน็ต ติดโซเซียล ติดเกม ติดช้อปปิ้ง ติดการพนัน ติดการมีเพศสัมพันธ์ ติดการออกกำลังกาย ติดการทำงานเสพติดความร่ำรวยซึ่งพฤติกรรมเสพติดเป็นการทำกิจกรรมเดิมๆซ้ำซากโดยหักห้ามใจไม่ได้แม้จะส่งผลเสียต่อชีวิต และมีงานวิจัยจำนวนมากแสดงให้เห็นว่าการเสพติดทำให้เกิดการตอบสนองในสมองด้วยรูปแบบเดียวกับที่เกิดขึ้นหลังใช้ยาเสพติด

สำหรับประเทศไทยคุ้นเคยว่าการเสพติดคือยาเสพติด ปัจจุบันไทยมีประชากร 69ล้านคน มากเป็นลำดับที่ 20 ของโลก มีผู้ต้องขังมากเป็นลำดับที่ 6 ของโลก

ขณะที่องค์การอนามัยโลกได้ออกประกาศใช้การจัดกลุ่มโรคฉบับปรับปรุงใหม่ล่าสุด ICD-11 มีการเพิ่มเติมชื่อโรคในกลุ่มต่างๆมากถึง 55,000 ชื่อจากเดิมที่มีอยู่เพียง 14,400 ชื่อ โรคติดเกมถูกเพิ่มชื่อในบัญชีจำแนกโรค กลุ่มโรคการสูญเสียความสามารถในการควบคุมตนเอง (addictive disorders)ในการเล่นวิดีโอเกม หรือเกมดิจิทัลต่างๆให้ความสำคัญกับการเล่นเกมเหนือกิจกรรมอื่นๆ โดยเล่นเกมต่อเนื่องมากกว่า12 เดือน

นายบรูซ์ อเล็กซ์ซานเดอร์ อาจารย์มหาวิทยาลัยไซมอน เฟรเซอร์ ได้บรรยายเรื่อง Globalization of AddictionGlobalization of Addiction โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า การเสพติดในโลกสมัยใหม่มีความรุนแรงมากกว่าภาวะโลกร้อน และน่าเป็นห่วงสำหรับเยาวชนของทุกๆ ครอบครัวเพราะสิ่งเสพติดสมัยใหม่เกิดจากการทำพฤติกรรมเดิมๆ ซ้ำซากการใช้โซเซียลโดยที่คนทำพฤติกรรมไม่รู้ตัว เมื่อเสพติดสิ่งเหล่านี้แล้วจะทำให้ชีวิตเขาครึ่งหนึ่งหายไปจากครอบครัวและไม่มีทางกลับมาใช้ชีวิตปกติได้เหมือนเดิม

"ปัญหาที่เกิดจากสิ่งเสพติดที่ไม่ใช่ยาเสพติดมีมากกว่าที่เราจะคิดไปถึงทั้งปัญหาการติดสุราเรื้อรัง ทำลายสมองและเสียทรัพย์สินการแก้ปัญหาการเสพติดในโลกยุคใหม่เป็นเรื่องยาก และต้องใช้เวลาเพราะโลกาภิวัฒน์ของโลกยุคใหม่มีการขับเคลื่อนและมีพลังมหาศาล ดังนั้นจะทำอย่างไรจะรู้เท่าทันและอยู่รอดในโลกยุคใหม่ได้"นายบรูซ์กล่าว