posttoday

กสศ. ตั้งเป้าหนุนนักเรียนยากจนพิเศษ 6 แสนคน

08 สิงหาคม 2561

กสศ. ตั้งเป้าหนุนนักเรียนยากจนพิเศษ 6 แสนคน ขอความเห็น หลักเกณฑ์ จากครูในพื้นที่จริง ปิดช่องเงินพลาดเป้า ไม่ถึงมือเด็ก

กสศ. ตั้งเป้าหนุนนักเรียนยากจนพิเศษ 6 แสนคน ขอความเห็น หลักเกณฑ์ จากครูในพื้นที่จริง ปิดช่องเงินพลาดเป้า ไม่ถึงมือเด็ก

นายไกรยส ภัทราวาท ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยว่า ได้จัดทำ รายงานสถานการณ์ผลสำรวจสถานะนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษ ปี 2561 จัดทำโดย กสศ.ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) โดยพบว่า จากการสำรวจที่ใช้เกณฑ์การคัดกรองนักเรียนยากจนด้วยวิธีการวัดรายได้ทางอ้อม(Proxy Mean Tests) หรือ PMT พบว่ามีนักเรียนที่ผ่านเกณฑ์การคัดกรองแบบ PMT จำนวน 1,696,433 คน คิดเป็น 35%ของนักเรียนทั้งหมด และ60%ของนักเรียนที่สมัครขอรับเงินอุดหนุน แบ่งเป็นนักเรียนยากจน 1,075,476 คน คิดเป็น 22.3% ของนักเรียนทั้งหมด ซึ่งได้รับเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนก 1352 ล้านบาท โดยนักเรียนประถมศึกษา 500 บาท/คน/ภาคเรียน และนักเรียนมัธยมศึกษา 1,500 บาท/คน/ภาคเรียน

ทั้งนี้ พบว่า มีนักเรียนยากจนพิเศษ 620,937 คน คิดเป็น 12.9% ของนักเรียนทั้งหมด ซึ่งได้รับเงินอุดหนุนฯ 569 ล้านบาท โดยนักเรียนยากจนพิเศษ แบ่งเป็นนักเรียนระดับประถมศึกษา 438,683 คน และระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 182,254 คน โดยนักเรียนกลุ่มนี้ได้รับเงินอุดหนุน 1,000 บาท/คน/ภาคเรียน ซึ่งไม่เพียงพอ ดังนั้น เด็กกลุ่มนี้ ต้องได้รับการช่วยเหลือเร่งด่วน เพราะมีรายได้เฉลี่ยต่อคน 1,281 บาทต่อเดือน หรือเฉลี่ยวันละ 42.7 บาทเท่านั้น ไม่เพียงพอแม้แต่ค่าอาหารเช้าที่มีคุณค่าทางโภชนาการ

ขณะเดียวกัน ยังพบด้วยว่า ภูมิภาคที่มีนักเรียนยากจนพิเศษมากที่สุด ได้แก่ ภาคเหนือ ในบริเวณพื้นที่สูง และตะเข็บชายแดน ซึ่งหากแบ่งเป็น 10 จังหวัดที่มีเด็กยากจนและยากจนพิเศษ มากที่สุด มีดังนี้ 1.แม่ฮ่องสอน 61.88% 2.นราธิวาส 56.52% 3.กาฬสินธุ์ 54.95% 4.ศรีสะเกษ 52.64% 5.เชียงใหม่ 50.4% 6.มหาสารคาม 49.91% 7.บุรีรัมย์ 49.75% 8.ร้อยเอ็ด 49.72% 9.มุกดาหาร 48.33% และ 10.อุบลราชธานี 47.28%

นายไกรยส กล่าวว่า แม้นักเรียนยากจนพิเศษจะได้รับการสนับสนุนจาก สพฐ. ในรูปแบบการจัดสรรเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน แต่พบว่า จำนวนที่ได้ ยังไม่เพียงพอเนื่องจาก นักเรียนประถมเฉลี่ยได้วันละ 5 บาท นักเรียนมัธยมวันละ 15 บาท ที่สพฐ.สนับสนุนนั้น น้อยมากเมื่อเทียบกับค่าครองชีพในปัจจุบัน เช่น ค่าเดินทางไป-กลับ โรงเรียน หรือ ค่าอาหาร และค่าเครื่องแบบ ซึ่งล้วนมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าเงินอุดหนุนที่รัฐจัดสรรให้ และไม่ได้มีการปรับเพิ่มตามอัตราเงินเฟ้อมานานกว่า 10 ปีแล้ว โดยมูลค่าที่แท้จริงของเงิน 1,000 บาทเมื่อปี 2550 เหลือเพียง 800 บาทในปี 2560 จุดนี้เองทำให้นักเรียนยากจนจำนวนมากมีความเสี่ยงที่จะออกจากระบบการศึกษาเนื่องจากปัญหาความยากจน

"สิ่งที่กองทุนกังวลคือ ต้องหาตัวเลขเงินอุดหนุนที่ในจำนวนที่สามารถเข้าไปแก้ปัญหาชีวิตให้เด็กกลุ่มที่ยากจนเป็นพิเศษให้สามารถเรียนได้โดยไม่ขัดสน ซึ่งพบว่าแต่ละคน แต่ละพื้นที่ มีปัญหาที่ไม่เหมือนกัน จำเป็นที่จะต้องขอข้อมูลจากครูในพื้นที่ ซึ่งทราบปัญหาอย่างใกล้ชิด และทราบดีว่าเด็กแต่ละคนนั้นขาดแคลนเงินสนับสนุนมีตัวเลขโดยประมาณเท่าไหร่ และ ครอบครัวมีปัญหาอะไรบ้าง ซึ่งเงินอุดหนุนอาจจะไม่ได้ตอบโจทย์ปัญหาที่มีทั้งหมด และกสศ. จำเป็นต้องทำงานควบคู่ไปกับหน่วยงานอื่นเพื่อช่วยกันแก้ปัญหาที่เด็กกลุ่มนี้ประสบอยู่ในทุกมิติ เช่นต้องทำงานกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อเข้าไปแก้ปัญหาครอบครัว หรือ กระทรวงสาธารณะสุข เพื่อแก้ปัญหาสุขภาพ ให้กับเด็กอย่างยั่งยืน"นายไกรยศกล่าว

นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าครูที่ทำงานกับเด็กยากจน ถือเป็นกัลยาณมิตรที่สำคัญต่อเด็กอย่างมาก เพราะเป็นผู้ทราบข้อมูลที่จริงของเด็ก กรณีนี้ ครูจะช่วยทำให้เงินเป็นปัจจัยที่จะช่วยแก้ปัญหาให้เด็กได้

"เงินอุดหนุนกำลังจะเข้าไปช่วยแก้ปัญหาที่มีรายละเอียดที่ซับซ้อน ซึ่งเป็นเรื่องที่เราอยากได้ข้อมูลจากครู และเชื่อว่าครูจะทำให้ทราบวิธีที่จะทำให้เม็ดเงินอุดหนุนไปถึงปัญหาและแก้ได้จริงๆ ไม่ใช่การเหมาจ่ายโดยไม่คำนึงถึงรายละเอียดต่างๆ และเชื่อว่าเด็ก กลุ่มนี้ 6 แสนคนยังต้องการงบประมาณเพื่อแก้ปัญหาอีกมาก เงินประมาณตั้งต้นที่รัฐจัดสรรให้ 600 ล้านอาจจะไม่เพียงพอ และหากความจำเป็นของเด็กกลุ่มนี้ได้ถูกถ่ายทอดออกมาจากครูทั่วประเทศ เชื่อว่า ในอนาคต เรื่องราวเหล่านี้จะส่งแรงสั่นสะเทือน ไปถึงภาคเอกชนที่มีศักยภาพเข้ามาช่วยอีกแรงหนึ่ง"นายสมพงษ์ กล่าว

นายสมพงษ์ กล่าวอีกว่า ไทยเป็นประเทศอันดับ 3 คนรวยแตกต่างจากคนจน 23เท่า ซึ่งวิกฤตปัญหาสังคมที่เกิดขึ้น คือ เรื่องความเหลื่อมล้ำและช่องว่างระหว่างวัย ตอนนี้ทำให้สังคมไทยเกิดความเรรวน ชุมชนขาดหลักคิด อ่อนแอ ซึ่งถ้าโรงเรียนไม่ได้รับการดูแล จะทำให้เกิดโรงเรียนตายหรือโรงเรียนขนาดเล็กถูกยุบควบรวม ขณะที่หน่วยย่อยอย่างครอบครัวอ่อนแอลง มีครอบครัวเดี่ยว ครอบครัวหย่าร้างมากขึ้น และทำให้เกิดปัญหายาเสพติด เพราะเป็นช่องทางที่หารายได้ให้แก่คนได้ง่ายและมากที่สุด รวมถึงมีปัญหาสื่อมือถือที่จะเข้ามาส่งผลต่อการใช้ชีวิตต่อผู้คน และเด็กมากขึ้น ดังนั้น สิ่งที่กองทุน กสศ. ดำเนินการอย่างการชี้เป้าให้แก่สังคม รัฐบาล มีนโยบายที่ชัดเจน ถือเป็นสิ่งที่ดี แต่ทั้งนี้ รัฐบาลก็ต้องช่วยจัดสรรงบประมาณเข้ามาช่วยเด็กกลุ่มนี้ให้เร็วที่สุด เมื่อรัฐบาลบอกว่าเรื่องสำคัญ ก็ควรจะจัดสรรงบอุดหนุนแก่เด็กยากจนให้ง่าย และรวดเร็ว

นอกจากนั้น รัฐบาลต้อง ลดระเบียบ ปลดล็อค ไฟเขียว และการดำเนินการควรมาจากส่วนกลางเพียง 30% และเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นดำเนินการ 70% โดยท้องถิ่นต้องทำงานร่วมกันตั้งแต่ โรงเรียน องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และมหาวิทยาลัยท้องถิ่น เพื่อช่วยกันพัฒนาคุณภาพ ช่วยเหลือเด็กให้ได้อย่างแท้จริง

น.ส.ชลชนก หนูรอด ผู้อำนวยการโรงเรียน วัดโคกสำโรง จ.สุพรรณบุรี กล่าวว่า โรงเรียนขนาดเล็กมีเด็กยากจนจำนวนมาก และงบประมาณที่ได้รับขณะนี้ไม่เพียงพอ เพราะเงินอุดหนุน 500 บาท ต้องนำมาใช้ในเรื่องของอาหารการกิน การดำรงชีวิตอยู่ ส่วนเสื้อผ้านั้นเงิน 360 บาท ได้เพียงตัวครึ่ง ไม่ถึง 1 ชุดนักเรียน ทางโรงเรียนต้องใช้วิธีระดมทุน หรือผ้าป่าการศึกษา เพื่อช่วยหาทุนมาสนับสนุนดูแลเด็ก ดังนั้น การระดมทุนสำหรับเด็กยากขนมีความจำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการนำเงินมาอุดหนุนเรื่องของอาหารกลางวัน และอาหารเช้า เด็กมาโรงเรียนเพื่อมาเรียนหนังสือ และมาทานอาหาร เนื่องจากครอบครัวเด็กยากจนจริงๆ หรือการไปเยี่ยมบ้านนักเรียน จะต้องเป็นการซื้อข้าวสารให้เด็ก บ้านละ 5 กก. นอกจากนั้นงบอุดหนุนที่ไม่เพียงพอแล้ว ยังขาดครูที่จะให้ความรู้แก่เด็กอีกด้วย

นายวีรณัฐ ทนะวัง ครูคศ.1 โรงเรียนบ้านผาเวียง จ.น่าน กล่าวว่า โรงเรียนจะดูแลเด็กชายขอบและพื้นที่ภูเขาสูง ซึ่งทางขึ้นโรงเรียนระยะทางประมาณ 9-10 กม.ใช้เวลา 40 นาที ช่วงหน้าฝน เด็กต้องเดินไปโรงเรียน เพราะไม่สามารถนั่งรถไปได้ ค่ารถจากเงินอุดหนุน 15 บาท ไม่สามารถจ้างรถเพื่อไปรับส่งเด็กได้ ต้องเดินมาโรงเรียนเอง ขณะที่ผู้ปกครองของเด็กส่วนใหญ่ยากจน บางเดือนไม่มีรายได้ และรายได้ค่าเฉลี่ยทั้งปี ไม่ถึง 2,000 บาทต่อครอบครัว

ส่วนการจัดการเรียนการสอนนั้น ขณะนี้ขาดแคลนครูอย่างมาก การจัดสอนเสริมพิเศษ อย่าง ภาษาจีน ภาษาอังกฤษ ก็ไม่สามารถทำได้ หรือจะส่งเสริมอาชีพแก่เด็ก หากต้องการส่งเสริมต้องเริ่มจากชุมชน ครอบครัวก่อน เพราะเมื่อเด็กกลับบ้าน เด็กต้องช่วยทำงานพ่อแม่ ถ้าไม่ทำงานก็ไม่มีเงิน ต้องสนับสนุนให้ครอบครัวมีงานอาชีพก่อนถึงจะเสริมเข้าถึงเด็กได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เด็กยากจนพิเศษเป็นเพียงหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายที่ กสศ. มีแผนช่วยเหลือ กองทุนมีแผนทำงานร่วมกับโรงเรียนในสังกัดอื่นๆด้วย เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ของกระทรวงมหาดไทย โรงเรียนสังกัดตำรวจตระเวนชายแดน เพื่อให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายอย่างเสมอภาค โดยจะมีการประชุมรับฟังความเห็นเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายจากทุกภาคส่วน 4 ภูมิภาค ในช่วงเดือนสิงหาคมและต้นเดือนกันยายนนี้ โดยเริ่มเวทีแรก จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 15 ส.ค. นี้เพื่อให้การสนับสนุนของ กสศ.มีความเป็นธรรม เกิดประโยชน์ไปถึงกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง