posttoday

อุทยานสวนจตุจักร เพิ่มสุขสีเขียวกลางใจเมืองสู่คนกรุง

04 สิงหาคม 2561

ลมหายใจปลอดโปร่งของคนกรุงเทพฯ กำลังจะถูกทำให้โล่งยิ่งขึ้น เมื่อเฟสแรกของ “อุทยานสวนจตุจักร” กำลังถูกเปิดใช้งาน

โดย นิติพันธุ์ สุขอรุณ / พรเทพ เฮง

ลมหายใจปลอดโปร่งของคนกรุงเทพฯ กำลังจะถูกทำให้โล่งยิ่งขึ้น เมื่อเฟสแรกของ “อุทยานสวนจตุจักร” กำลังถูกเปิดใช้งาน

หลายคนอาจคิดว่าเป็นสวนสาธารณะแห่งใหม่ใจกลางกรุงเทพมหานคร ซึ่งไม่ใช่ แต่เป็นการเชื่อมต่อสวนสาธารณะขนาดใหญ่ 3 แห่งที่อยู่ใกล้กันให้เป็นผืนเดียวกันแบบ 3 ใน 1 รวมเป็นเอกภาพเดียวกันเพื่อความสะดวกสบายของการใช้งานของประชาชน

สวนจตุจักร สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) ยังคงมีอยู่เช่นเดิมเพียงแต่รวมกันให้ไปมาหาสู่และกลืนกลายเป็นสถานที่เดียวกันอย่างไม่แบ่งแยก ทำให้ปอดของมหานครถูกขยายให้หายใจคล่องมากขึ้น

โครงการรวมสวนสาธารณะในพื้นที่เขตจตุจักร 3 สวน ออกแบบโครงการให้สามารถรวมทั้งสวนสาธารณะขนาดใหญ่ ให้ต่อเชื่อมเป็นพื้นที่เดียวกัน สำหรับสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เป็นสวนสาธารณะสำหรับพักผ่อนหย่อนใจ มีการปลูกพืชพรรณไม้ที่หลากหลาย ประชาชนจะใช้บริการวันละประมาณ 600 คน

สวนวชิรเบญจทัศ เป็นสวนสาธารณะเพื่อกิจกรรมสันทนาการต่างๆ ทั้งการปั่นจักรยาน ลานกิจกรรมสำหรับเด็ก มีประชาชนใช้บริการวันละกว่า 3,000 คน

ส่วนสวนจตุจักร จะเป็นพื้นที่ออกกำลังกายขนาดใหญ่ มีประชาชนเข้าใช้งานวันละกว่า 2,000 คน โดยเมื่อรวมทั้ง 3 สวน ให้สามารถเชื่อมต่อกันได้สะดวก จะกลายเป็นพื้นที่สีเขียวนาดใหญ่ใจกลางเมือง รวมพื้นที่กว่า 727 ไร่ ทำให้ประชาชนใช้บริการสวนสาธารณะในรูปแบบที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น

มาดูถึงเบื้องหลังอุทยานสวนจตุจักร ที่จะให้พื้นที่สีเขียวในมิติใหม่กับคนกรุงอย่างไรบ้าง

เชื่อม 3 สวนกลางกรุงเทพฯ เป็นหนึ่งเดียว

อุทยานสวนจตุจักร เพิ่มสุขสีเขียวกลางใจเมืองสู่คนกรุง

โครงการรวมพื้นที่สวนสาธารณะ 3 แห่ง คือ สวนจตุจักร สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ และสวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) เพื่อทำให้เป็นสวนสาธารณะใจกลางเมืองที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดของเมืองกรุงเทพมหานคร

โครงการรวม 3 สวนสาธารณะนี้ มีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2544 หลังจากที่สำนักราชเลขาธิการได้มีหนังสือลงวันที่ 15 ก.พ. 2544 เรื่อง ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตใช้พื้นที่บริเวณจตุจักร แจ้งว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชกระแสให้สร้าง Transportation Hub และพระราชทานชื่อว่า “อุทยานสวนจตุจักร”

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการตอบสนองพระราชกระแสของพระองค์ท่าน คณะรัฐมนตรีจึงมีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 มี.ค. และเมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2546 ให้รวมพื้นที่สวนสาธารณะทั้ง 3 แห่งเข้าด้วยกัน คือ 1.สวนจตุจักร พื้นที่ 155 ไร่เศษ 2.สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พื้นที่ 196 ไร่เศษ และ 3.สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) พื้นที่ 375 ไร่เศษ รวมเป็นพื้นที่ 327 ไร่เศษ

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่าภายในของอุทยานสวนจตุจักร จะมีทางเดิน-วิ่ง แยกจากทางจักรยาน ปรับภูมิทัศน์โดยรอบ รวมถึงมีแนวคิดนำสัตว์ เช่น ห่าน หงส์ มาปล่อยในน้ำเพิ่มภูมิทัศน์ร่มรื่นสวยงาม

ส่วนการเชื่อมสวนได้ให้สำนักสิ่งแวดล้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) การรถไฟฯ และกองบังคับการตำรวจจราจร เพื่อขอปิดถนนกำแพงเพชร ซึ่งเป็นถนนตัดผ่านทั้ง 3 สวน เนื่องจากประชาชนผู้มาใช้บริการเดิน วิ่ง หรือขี่จักรยาน ต้องข้ามผ่านถนนอาจเกิดความไม่ปลอดภัย จึงจำเป็นต้องปิดถนนกำแพงเพชร 3

สำหรับกิจกรรมต่างๆ ที่จะมีขึ้นเพื่อให้ชาวกรุงเทพฯ สามารถเข้าใช้บริการได้ตลอดทั้งปี อาทิ กิจกรรมวิ่งมินิมาราธอน 10.5 กิโลเมตร มีเส้นทางวิ่งเชื่อมทั้ง 3 สวน และวิ่งไม่ซ้ำเส้นทาง กิจกรรมอุทยานผีเสื้อ และแมลง : ศึกษา เรียนรู้ แหล่งที่อยู่อาศัยของผีเสื้อและแมลงในธรรมชาติ และชมนิทรรศการเกี่ยวกับผีเสื้อ-แมลง ภายในอาคารจัดแสดง (สวนรถไฟ)

กิจกรรมชมทุ่งดอกไม้ “เที่ยวสวนรถไฟทั้งปี มีดีให้ดูทุก 3 เดือน” เช่น ทุ่งคอสมอส ทุ่งผักเสี้ยนฝรั่ง ทุ่งปอเทือง ทุ่งฮอลลี่ฮอก กิจกรรมชมต้นชมพูพันธุ์ทิพย์ ซึ่งจะออกดอกในช่วงต้นปี กิจกรรมเดินสำรวจธรรมชาติเส้นทางศึกษาพันธุ์ไม้ทรงคุณค่า กิจกรรมศึกษาเส้นทางดูนก กิจกรรมเรียนรู้ธรรมชาติพันธุ์ไม้น้ำบริเวณศูนย์การศึกษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบางซื่อกิจกรรมเรือพายและจักรยานน้ำ

นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่สำหรับกิจกรรมครอบครัว เช่น การปิกนิก เมืองจราจรจำลองสำหรับเด็ก พิพิธภัณฑ์เด็ก และศูนย์กีฬาวชิรเบญจทัศ เป็นต้น

กรุงเทพมหานคร แม่งานใหญ่ทำฝันให้เป็นจริง

อุทยานสวนจตุจักร เพิ่มสุขสีเขียวกลางใจเมืองสู่คนกรุง

อารมณ์ วงษ์มหา ผู้อำนวยการสำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. กล่าวว่า เมื่อปี 2551 กทม.ได้จ้างบริษัทมาทำการศึกษาออกแบบโครงการ ในการรวม 3 สวนธารณะขนาดใหญ่เข้าไว้ด้วยกันในรูปแบบของสวนสาธารณะระดับมหานคร ซึ่งกําหนดให้มีกิจกรรมการใช้ประโยชน์สวนสาธารณะของประชาชนให้ต่อเนื่องกันทั้ง 3 สวน

ทำให้เป็นทั้งแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ สถานที่ออกกําลังกาย ตลอดจนเป็นแหล่งเรียนรู้ของประชาชนทุกกลุ่ม จัดทำเป็นลานเฉลิมพระเกียรติลานพฤกษศาสตร์ และสร้างทางเดิน Cover Walkway เพื่อจัดแสดงพระอัจฉริยภาพในด้านศิลปะและดนตรีจนมาถึงปี 2555 การดำเนินการต้องหยุดชะงักลง

ทั้งนี้ เนื่องจากถูกกระแสต่อต้านจากประชาชนทั่วไปเป็นจำนวนมาก เพราะการดำเนินงานตามแบบก่อสร้างที่บริษัทศึกษามานั้นจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อต้นไม้ใหญ่ เพราะต้องมีการรื้อย้ายต้นไม้จำนวนทั้งสิ้น 911 ต้นออกจากแนวการก่อสร้าง ซึ่งการทำงานนั้นยากลำบาก และใช้ระยะเวลานานและเสี่ยงต่อการเจริญเติบโตของต้นไม้ต่อไปได้

จนมาถึงปี 2559 พล.ต.อ.อัศวิน ขึ้นมาเป็นผู้ว่าฯ กทม. ได้รื้อฟื้นโครงการดังกล่าวมาดำเนินการตามพระราชกระแสให้เกิดผลสำเร็จ โดยมีการหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยถึงแนวทางการปรับปรุง

สุดท้ายได้มีการศึกษาและออกแบบความเป็นไปได้ของอุทยานสวนจตุจักรใหม่ ให้มีความสวยงามของภูมิทัศน์ ความสะดวกในการเชื่อมต่อของพื้นที่สวนทั้ง 3 แห่ง โดยออกแบบมาให้เรียบง่ายที่สุดเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อต้นไม้ใหญ่ที่ปลูกอยู่ภายในสวนทั้ง 3 แห่งที่นำรวมพื้นที่กัน

ดังนั้น กทม.จึงเป็นแม่งานผู้รับหน้าที่ดำเนินโครงการ ได้จัดจ้างบริษัทผู้รับเหมามาดำเนินการโครงการสำหรับเฟสแรก ด้วยวงเงิน 16.4 ล้านบาท เริ่มงานวันที่ 30 ก.ย. 2560 ที่ผ่านมา กำหนดแล้วเสร็จงานวันที่ 30 ก.ค. 2561 เตรียมเปิดให้บริการอุทยานสวนจตุจักรช่วงต้นเดือน ส.ค.นี้ เป็นเฟสแรกได้ จากนั้นจะหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับแบบก่อสร้างของโครงการเฟสสอง ซึ่งจะเป็นเฟสสุดท้ายของโครงการเต็มรูปแบบ เบื้องต้นคาดจะแล้วเสร็จทั้งหมดในปี 2563

อุทยานสวนจตุจักร เพิ่มสุขสีเขียวกลางใจเมืองสู่คนกรุง

สำหรับรายละเอียดของเนื้องานโครงการเฟสแรก ประกอบด้วยทางเชื่อมจุดหลัก คือ 1.ทางเชื่อมระหว่างสวนจตุจักรกับสวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) บริเวณหน้าอาคารหอเกียรติภูมิรถไฟกับทางเข้าศูนย์กีฬาวชิรเบญจทัศ ที่เดิมเป็นทางทางเชื่อมขนาดเล็กเท่านั้น ซึ่งตามโครงการ ทำเป็นลานพลาซ่าเชื่อมระหว่าง 2 ฝั่ง โดยยกระดับถนนกำแพงเพชร 3 ที่เป็นถนนที่เป็นตัวแยกของทั้งสองสวน ให้เป็นระดับเท่ากันกับฟุตปาทและขยายทางเชื่อมเดิมที่มีขนาดเล็กให้เป็นลานขนาดความกว้าง 90 เมตร และรื้อรั้วบริเวณนี้ออก แต่จะทำประตูเปิด-ปิดในเวลาที่สวนทั้ง 3 แห่งนี้เปิด-ปิดการให้บริการ จากนั้นทำการปรับภูมิทัศน์ให้มีพื้นที่สีเขียวมากขึ้น พร้อมทำเป็นลานพลาซ่าจัดกิจกรรมต่างๆ ได้

2.ทางเชื่อมระหว่างสวนจตุจักรกับสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ที่เดิมเป็นทางเชื่อมขนาดเล็ก ตรงจุดบริเวณใกล้สำนักงานสวนสาธารณะ กทม.และอยู่ห่างจาก เจเจกรีน ประมาณ 200 เมตร ทำเหมือนกับทางเชื่อมที่ 1 คือ ยกระดับถนนกำแพงเพชร 3 ให้มีระดับเท่ากับ
ฟุตปาท รื้อรั้วและทางเข้าออกเดิมออก แล้วทำเป็นลานกว้างขนาด 60 เมตรทำประตูเปิด-ปิด ปรับภูมิทัศน์เพิ่มพื้นที่สีเขียว

3.ทางเชื่อมระหว่างสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ กับสวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) เดิมเป็นสะพานเหล็กข้ามคูน้ำขนาดเล็กอยู่ใกล้อุทยานผีเสื้อของสวนวชิรเบญจทัศ ก่อสร้างให้เป็นสะพานเหล็กเชื่อมให้แข็งแรงมากขึ้น มีจุดเด่นชัด สะอาดสวยงามด้วยการปรับภูมิทัศน์ให้ดีขึ้น

4.ทางเชื่อมระหว่างสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ กับสวนวชิรเบญจทัศ มีสภาพเป็นสะพานเหล็กชื่อ สะพานคลื่นนก ใช้เดินข้ามคูน้ำขนาดเล็กเปลี่ยนให้ทางเชื่อม 3 ซึ่งตอนนี้ได้ดำเนินการเสร็จแล้ว เหลือแค่ทางเชื่อม 1-2-3 อยู่ระหว่างดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ค.นี้เป็นเฟสแรก

“อยากให้ประชาชนที่มาท่องเที่ยวอุทยานสวนจตุจักรแห่งนี้ มีความรู้สึกถึงความเป็นสวนเนื้อเดียวกันทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันมีถนนกำแพงเพชร 3 เป็นถนนที่กั้นระหว่างทั้ง 3 สวนไว้จึงต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กองบัญชาการตำรวจนครบาล การรถไฟ ในฐานะเจ้าของพื้นที่ เรื่องของการปิดการจราจรบนถนนกำแพงเพชร 3 ในส่วนที่กั้น 3 สวนระยะทาง 1.2 กิโลเมตรทั้งหมด เพื่อทำเป็นทางเดินเท้าในสวนแทน ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าทุกพื้นที่เป็นอุทยานสวนจตุจักรทั้งหมด” ผู้อำนวยการสำนักงานสวนสาธารณะ กล่าว

อารมณ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ กทม.ได้ประสานกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ในฐานะหน่วยงานดูแลเรื่องการปิดถนนจราจร มีมติเห็นด้วยกับเรื่องการรวม 3 สวนเข้าด้วยกัน ซึ่งการปิดถนนกำแพงเพชร 3 อาจก่อให้เกิดผลกระทบด้า“ได้แนะนำให้ กทม.ไปหารือกับการรถไฟ พร้อมทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อไปถ้าทุกอย่างผ่านไปได้ ในเฟสสองจะมีถนนคนเดินที่นำมาจากถนนกำแพงเพชร 3 ซึ่งเป็นทางเดินในสวนสาธารณะขนาดใหญ่และยาว มีต้นไม้ใหญ่ปกคลุมครึ้มสองข้างทาง เหมือนกับที่มีในต่างประเทศ อย่างย่านเดอะมอลล์ ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ หรือย่านสตัดท์ปาร์ค กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย”

อุทยานสวนจตุจักร เพิ่มสุขสีเขียวกลางใจเมืองสู่คนกรุง

นอกจากนี้ อารมณ์ ขยายภาพว่ายังสามารถจัดวิ่งมินิมาราธอนภายในพื้นที่อุทยานสวนจตุจักร หลังจากที่มีการทำพื้นที่เชื่อมต่อทั้งทางเดินทางวิ่งแล้วเสร็จ ระยะทางยาว 10.5 กิโลเมตร โดยเป็นการวิ่งไปไม่ซ้ำเส้นทางเดิม รวมถึงกิจกรรมที่มีอยู่แล้วของสวน 3 แห่งที่จะมารวมกัน ที่ประชาชนสามารถเลือกไปใช้บริการตามความพอใจของครอบครัวเพื่อนฝูง

เพราะสวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) เป็นสวนที่มีการออกแบบแนวคิดให้เป็นสวนแห่งครอบครัว พื้นที่ภายในจึงมีการจัดเป็นลานกีฬา มีเส้นทางจักรยาน 3 กิโลเมตร ศูนย์เยาวชน สระว่ายน้ำ อุทยานผีเสื้อและแมลง มีเมืองจราจรของโตโยต้า ศูนย์สิ่งแวดล้อมบางซื่อเพื่อเรียนรู้การจัดการเรื่องน้ำเสียและขยะ ฯลฯ

ขณะที่ สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯถูกออกแบบให้เป็นสวนพฤกษศาสตร์ ภายในมีพันธุ์ไม้หายาก มีกิจกรรมส่องนก แหล่งเรียนรู้ทางนิเวศวิทยา และค่ายเยาวชน ส่วนสวนจตุจักรเป็นแหล่งช็อปปิ้งที่โด่งดังไปทั่วโลก

ผู้อำนวยการสำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. กล่าวว่า หากเปิดให้บริการในวันที่อุทยานแล้วเสร็จสมบูรณ์จะกลายเป็นอุทยานที่ใหญ่ที่สุดและตั้งอยู่กลางใจเมืองกรุงเทพฯ ประชาชนสามารถเลือกมาใช้บริการกิจกรรมที่มีอยู่ได้ครบครัน ตั้งแต่เช้าจนถึงเย็น เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ในกลางเมืองที่เพียบพร้อมในทุกด้านอย่างแท้จริง