posttoday

เร่งเขื่อนระบายใน 10 วัน รองรับฝนหนักปลาย ส.ค.

04 สิงหาคม 2561

ช่วงหน้าฝน นอกจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่แล้ว ข้อมูลที่หน่วยงานด้านทรัพยากรน้ำกังวลอย่างมากก็คือปริมาณน้ำในเขื่อนต่างๆ ทั่วประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น

โดย...ทีมข่าวภูมิภาคโพสต์ทูเดย์

สถานการณ์ช่วงหน้าฝน นอกจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่แล้ว ข้อมูลที่หน่วยงานด้านทรัพยากรน้ำกังวลอย่างมากก็คือปริมาณน้ำในเขื่อนต่างๆ ทั่วประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น หลายเขื่อน โดยเฉพาะเขื่อนใหญ่มีปริมาณน้ำกว่า 80% ขณะที่ช่วงฤดูฝนยังเหลือเวลาอีกร่วม 2 เดือน

อุทกภัยที่เกิดขึ้นนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ศุภชัย ภู่งาม องคมนตรี พร้อมด้วยคณะมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระ บรมราชูปถัมภ์ เชิญสิ่งของพระราชทานไปมอบแก่ประชาชนที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ อ.โพนนาแก้ว จ.สกลนคร และ อ.นาแก จ.นครพนม

ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรน้ำ ร่วมกันจัดตั้ง “ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต” เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำตลอด 24 ชั่วโมง

สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวภายหลังการประชุมศูนย์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 9 หน่วยงาน ว่า เนื่องจากขณะนี้มีฝนตกจำนวนมาก
ส่งผลให้อ่างเก็บน้ำมีปริมาณน้ำมากกว่าเกณฑ์ควบคุมที่กำหนดไว้ 80-100% แบ่งเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ 12 แห่ง และขนาดกลาง 103 แห่ง โดยที่ประชุมมีมติให้กรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ปรับปรุงแผนการระบายน้ำใน 3 เขื่อนขนาดใหญ่ ที่มีปริมาณน้ำเกิน 90-100% คือ เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และเขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี โดยให้เร่งระบายน้ำภายใน 10 วัน ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพื่อรองรับปริมาณน้ำฝนใหม่ที่จะเข้ามาเติม

“ให้ทุกหน่วยงานเร่งทำแผนการระบายน้ำ กำหนดปริมาณและพื้นที่ได้รับผลกระทบเพื่อแจ้งเตือนประชาชน โดยต้องแล้วเสร็จภายวันที่ 6 ส.ค.นี้ เนื่องจาก 2-3 วันนี้ปริมาณฝนจะลดลง แล้วจะกลับมาตกหนักอีกครั้งประมาณวันที่ 5 ส.ค.เป็นต้นไป จากนั้นปลายเดือน ส.ค.จะมีฝนมากขึ้น และมีพายุเข้ามาในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน โดยเฉพาะบริเวณลำน้ำโขง และฝั่งตะวันตก บริเวณ จ.ตาก ประจวบคีรีขันธ์ และเพชรบุรี”

เลขาฯ สทนช. กล่าวว่า คาดการณ์ช่วงสุดสัปดาห์นี้ฝนจะตกบริเวณลุ่มน้ำเพชรบุรีมาก แต่ศักยภาพการกักเก็บของเขื่อนแก่งกระจานเต็ม อาจระบายน้ำไม่ทันและอาจเกิดน้ำท่วมในพื้นที่จ.เพชรบุรี ขณะเดียวกันในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีฝนตกมากบนเทือกเขาภูพานและลุ่มน้ำสงคราม แต่ระบายน้ำลงแม่น้ำโขงได้ช้าลง เพราะระดับน้ำที่ อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม สูงขึ้น ส่งผลให้น้ำจะท่วมขังอยู่ในลุ่มน้ำสงคราม จำเป็นต้องระบายน้ำจากน้ำอูน จ.สกลนคร ลงสู่ลุ่มน้ำสงคราม อาจเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ อ.วานรนิวาส อากาศอำนวย พังโคน จ.สกลนคร และ อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม

ด้าน ชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันเเละบรรเทาสาธารณภัย ได้สั่งการให้จังหวัดริมแม่น้ำโขงเฝ้าระวังสถานการณ์ระดับน้ำอย่างใกล้ชิด เตรียมพร้อมรับมือระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น โดยติดตั้งระบบสูบน้ำ บริหารการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำเอ่อล้น และระบายน้ำออกตามสภาพพื้นที่ พร้อมทั้งแจ้งเตือนประชาชนให้รับทราบสถานการณ์น้ำในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และจัดหาสถานที่ปลอดภัยรองรับการอพยพประชาชน

อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวอีกว่า พื้นที่ประสบอุทกภัยประกอบด้วยภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง เกิดน้ำล้นตลิ่งและน้ำไหลหลากรวม 10 จังหวัด 44 อำเภอ ประชาชนได้รับผลกระทบ 20,404 ครัวเรือน 56,575 คน ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 9 จังหวัด แยกเป็น จ.นครพนม 8 อำเภอ ปัจจุบันระดับน้ำเพิ่มขึ้น  จ.มุกดาหาร 7 อำเภอ ปัจจุบันระดับน้ำลดลง แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังพื้นที่เทศบาลเมืองมุกดาหาร บริเวณตลาดอินโดจีน ซึ่งอยู่ติดแม่น้ำโขง จ.อำนาจเจริญ 4 อำเภอ ปัจจุบันระดับน้ำลดลง จ.อุบลราชธานี 6 อำเภอ ปัจจุบันระดับน้ำเพิ่มขึ้น

จ.บึงกาฬ เกิดฝนตกหนักและแม่น้ำโขงล้นตลิ่งในพื้นที่ 5 อำเภอ ปัจจุบันระดับน้ำเพิ่มขึ้น จ.สกลนคร ท่วมพื้นที่ 3 อำเภอ ปัจจุบันระดับน้ำเพิ่มขึ้น จ.ร้อยเอ็ด ท่วมพื้นที่ 2 อำเภอ ปัจจุบันระดับน้ำเพิ่มขึ้น จ.กาฬสินธุ์ 3 อำเภอ ระดับน้ำเพิ่มขึ้น จ.ยโสธร 5 อำเภอ

ภาคกลาง 1 จังหวัด คือ จ.กาญจนบุรี เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่ อ.ไทรโยค รวม 2 ตำบล โดยน้ำกัดเซาะถนนขาดบริเวณหมู่ 5 แม่น้ำน้อย ไม่สามารถใช้เส้นทางสัญจรไปมาได้ ปัจจุบันระดับน้ำลดลง