posttoday

รองโฆษกตำรวจยันสำนวนคดีลูกของชายโดดตึกรัดกุม

24 กรกฎาคม 2561

รองโฆษกตำรวจ แจงยิบ เจ้าหน้าที่ทำสำนวนคดีฆ่าลูกของชายโดดตึกศาลอาญาตามพยานหลักฐาน ชี้ถ้าสำนวนอ่อนอัยการคงไม่สั่งฟ้อง

รองโฆษกตำรวจ แจงยิบ เจ้าหน้าที่ทำสำนวนคดีฆ่าลูกของชายโดดตึกศาลอาญาตามพยานหลักฐาน ชี้ถ้าสำนวนอ่อนอัยการคงไม่สั่งฟ้อง

เมื่อวันที่ 24 ก.ค.ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกตำรวจ เปิดเผยถึงกรณีที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้อง ผู้ต้องหาในคดีร่วมกันฆ่า เมื่อช่วงเดือนเม.ย. 2559 และต่อมา บิดาของผู้เสียชีวิต ซึ่งเป็นฝ่ายโจทก์ได้เกิดความเครียดหลังรับฟังคำพิพากษาและกระโดดอาคารศาลอาญาเสียชีวิตว่า เบื้องต้นทราบว่าคดีดังกล่าว ในชั้นพนักงานสอบสวน มีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหา และส่งสำนวนไปยังพนักงานอัยการ ชั้นพนักงานอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องตามพนักงานสอบสวน

"ขอเรียนว่าในชั้นพนักงานสอบสวนนั้น มีการสอบสวนและตรวจสอบสำนวนคดีอย่างครบถ้วน เนื่องจากการดำเนินคดีในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น ซึ่งมีอัตราโทษ ประหารชีวิต จำคุก ตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 15 - 20 ปี เมื่อพนักงานสอบสวน ดำเนินการสอบสวนและสรุปสำนวนมีความเห็น “ควรสั่งฟ้อง หรือ ควรสั่งไม่ฟ้อง” นั้น จะมีการเสนอผู้บังคับบัญชาตามระดับชั้นเพื่อพิจารณาสั่งการ ตั้งแต่ระดับ หัวหน้างานสอบสวน , หัวหน้าพนักงานสอบสวน(สถานีตำรวจ) และ ระดับกองบังคับการ ซึ่งการสอบสวน ของพนักงานสอบสวน ยึดตาม กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ที่กำหนดไว้ โดยอาศัยพยานหลักฐานทางคดี ไม่ว่าจะเป็น พยานวัตถุ พยานบุคคล และพยานทางนิติวิทยาศาสตร์ เป็นสำคัญ

"ซึ่งถือได้ว่าในชั้นพนักงานสอบสวนนั้น มีการตรวจสอบถึงความถูกต้อง รัดกุม เรียบร้อย ของสำนวนคดีตามกรอบของกฎหมายเป็นอย่างมาก" พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าว

รองโฆษกตร.กล่าวว่า สำหรับคดีดังกล่าวศาลอาญาได้มีคำพิพากษายกฟ้อง เหตุผลโดยสรุป คือ ประจักษ์พยานที่อ้างว่าเห็นเหตุการณ์และให้การไว้ในชั้นสอบสวน ไม่อาจมาเบิกความในชั้นศาลได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างการรักษาอาการป่วยทางจิตที่โรงพยาบาล จึงต้องรับฟังคำให้การชั้นสอบสวนที่นำส่งในชั้นศาลประกอบพยานหลักฐานอื่น แต่พยานหลักฐานอื่นยังมีน้ำหนักไม่เพียงพอที่จะฟังลงโทษจำเลยได้ เช่น ภาพถ่ายจากกล้องวงจรปิดพบว่าช่วงเวลาที่เกิดเหตุเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งมีผู้คนเป็นจำนวนมาก

ภาพจากกล้องวงจรปิดที่ปรากฏในชั้นศาลนั้น เห็นแต่เพียงเหตุการณ์ปากทางเข้าซอยที่เกิดเหตุ แต่ไม่สามารถบันทึกภาพบริเวณจุดเกิดเหตุไว้ได้ ดังนั้น เมื่อพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว จึงมีคำพิพากษายกฟ้อง

"ในประเด็นที่สังคมมองว่าพนักงานสอบสวนทำสำนวนอ่อนนั้น ต้องขอเรียนว่า คดีดังกล่าวพนักงานอัยการเป็นโจทก์แทนผู้เสียหาย โดยพนักงานอัยการเป็นผู้ร่างฟ้องและอาศัยพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวนประกอบสำนวนคดี ซึ่งต่อมาประจักษ์พยาน ไม่ได้มาแถลงต่อศาลด้วยมีอาการทางจิต รักษาตัวที่โรงพยาบาลและพยานอื่นๆมีน้ำหนักไม่เพียงพอเป็นเหตุให้ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง ซึ่งไม่เกี่ยวกับประเด็นสำนวนอ่อนแต่อย่างใด เพราะพนักงานสอบสวน ดำเนินการตามพยานหลักฐานที่พบในที่เกิดเหตุอยู่แล้ว ซึ่งเห็นได้ว่าพนักงานอัยการมีความเห็นควรสั่งฟ้องตามพนักงานสอบสวน" พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าว

อย่างไรก็ตามเมื่อศาลชั้นต้นยกฟ้อง พนักงานอัยการในฐานะฝ่ายโจทก์ ก็ยังสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อสู้ตามกฎหมายได้จนไปถึงศาลฎีกา ซึ่งขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมก็ยังไม่เสร็จสิ้นแต่อย่างใด

รอง โฆษก ตร. กล่าวต่อว่า เพื่อป้องกันความสับสนของสังคม ในประเด็นที่ว่าสำนวนในชั้นพนักงานสอบสวนอ่อนนั้น เรียนว่าหากสำนวนในชั้นพนักงานสอบสวนอ่อนจริง ชั้นพนักงานอัยการก็คงสั่งไม่ฟ้องและคงไม่ถึงชั้นพิจารณาของศาลแล้ว

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ความยุติธรรม และสามารถตอบคำถามสังคมได้ พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช ผบช.น. ได้เรียกตรวจสอบสำนวนคดีดังกล่าว ว่าการสอบสวน มีความรอบคอบ รัดกุม เพียงใด หรือ มีข้อบกพร่อง หรือไม่อย่างไร