posttoday

ในหลวงพระราชทานที่40ไร่ตั้งโครงการวิทยุดาราศาสตร์

23 กรกฎาคม 2561

นักวิชาการเผยพื้นที่เทือกเขารูปเกือกม้า เพื่อตั้งโครงการวิทยุดาราศาสตร์ เปิดหน้าใหม่ดาราศาสตร์โลก

นักวิชาการเผยพื้นที่เทือกเขารูปเกือกม้า เพื่อตั้งโครงการวิทยุดาราศาสตร์ เปิดหน้าใหม่ดาราศาสตร์โลก

นายนพดล โค้วสุวรรณ หัวหน้าฝ่ายวิชาการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า เมื่อต้นปี 2561 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานที่ดินภายในศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ ประมาณ 40 ไร่ ในพื้นที่บริเวณที่ราบและล้อมรอบด้วยเทือกเขารูปเกือกม้า บริเวณลานพลับพลา ที่ประทับ เพื่อให้สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือนาริส (องค์การมหาชน) ดำเนินการติดตั้งจานรับสัญญาณวิทยุขนาดใหญ่ สถานีกล้องโทรทัศน์วิทยุ จำนวน
2 จุด ขนาดความกว้างของจานรับส่งคลื่น 40 เมตร และ 13 เมตร ซึ่งจะใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี งบประมาณกว่า 100 ล้านบาท คาดจะแล้วเสร็จประมาณปี 2563 

นายนพดล กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจะเป็นการเปิดหน้าใหม่ของดาราศาสตร์โลก เนื่องจากพื้นที่ของไทยสมบูรณ์ด้านดาราศาสตร์มากดีกว่าญี่ปุ่นที่เทคโนโลยีดี และอินโดนีเซียที่ใกล้เส้นศูนย์สูตรมากกว่าแต่มีภูเขาไฟ และนอกจากนั้นพื้นที่ลานพลับพลายังหันหลังให้กับสนามบินและล้อมรอบด้วยเทือกเขารูปเกือกม้า จึงไม่มีสัญญาณใดๆ รบกวน ทำให้การรับสัญญาณจากนอกโลกชัด และระหว่างนี้ไทยจะส่งนักวิทยาศาสตร์ไปเรียนการแปลคลื่นวิทยุที่เยอรมนี ซึ่งมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านนี้ระดับโลก

สำหรับพื้นที่นี้เป็นหนึ่งในแนวพระราชดำริที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ท่านเคยดำรัสไว้ว่าเมื่อสำเร็จ สักวันหนึ่งวัฏจักรวงเล็กจะสมบูรณ์ ซึ่งหมายถึงคลื่นนี้จะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้มหาศาลทั้งในพื้นโลก การคำนวณหาการเคลื่อนตัวของแผ่นดินระดับมิลลิเมตร การค้นหาสัญญาณการก่อตัวของน้ำในอากาศชั้นเปลือกโลกพบก่อนที่จะเป็นเมฆ จะช่วยในการทำฝนหลวงได้ด้วย

ทั้งนี้ รวมถึงการตรวจพบสัญญาณนอกโลก เช่น การค้นหาหลุมดำ การโคจรของดาว ของเทหวัตถุ หรือแม้กระทั่งสิ่งมีชีวิตนอกโลก หรือเอเลี่ยน ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกสมาคมดาราศาสตร์โลก

หัวหน้าฝ่ายวิชาการศูนย์ห้วยฮ่องไคร้ฯ กล่าวว่า โครงการนี้จะเป็นการร่วมมือพัฒนากับสถาบันดาราศาสตร์ประเทศเยอรมนี พื้นที่ในศูนย์ฯ นี้เมื่อจานสัญญาณสร้างเสร็จ จะเริ่มจัดวางตำแหน่งของดาวต่างๆ ของโลกสุริยจักรวาลลงในแต่ละจุดของห้วยฮ่องไคร้ฯ โดยตำแหน่งพีระมิด พระปรมาภิไธย “ภปร.” ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่บริเวณสวนหกศูนย์ฯ จะเป็นตำแหน่งของดาวพลูโต และอนาคตมีการขยายการศึกษาด้านนี้ออกไปให้มากขึ้น