posttoday

รุ่งอรุณของวิทยาการคำนวณ เปิดหัวคิดเด็กไทยรุ่นใหม่

21 กรกฎาคม 2561

เด็กในยุคสมัยใหม่ที่โตมาในยุคดิจิทัล ซึ่งเป็นยุคของเทคโนโลยีและการสร้างนวัตกรรม

โดย พรเทพ เฮง 

เด็กในยุคสมัยใหม่ที่โตมาในยุคดิจิทัล ซึ่งเป็นยุคของเทคโนโลยีและการสร้างนวัตกรรม และหนึ่งทักษะที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากในปัจจุบันก็คือ ทักษะในการเขียนโปรแกรมที่จะต้องศึกษาและเรียนรู้เอาไว้

เปิดเทอมใหม่มาถึงกลางเทอมเข้าไปแล้ว พ่อแม่ผู้ปกครองบางคนยังไม่รู้เลยว่า ลูกๆ ของตัวเองมีวิชาใหม่ล่าสุดเริ่มเรียนไปเรียบร้อยแล้ว นั่นคือวิชา “วิทยาการคำนวณ” (Computing Science) หรือเรียกง่ายๆ ว่าวิชาเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ที่ปรับหลักสูตรมาจากวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ ให้มีองค์ความรู้ที่ก้าวทันโลกมากขึ้น และเสริมทักษะการเขียนโปรแกรมเพื่อสร้างความคิดเชิงคำนวณที่จำเป็นต่อการคิดเชิงวิเคราะห์

ในปี 2561 กระทรวงศึกษาธิการจึงได้มีการกำหนดวิชาใหม่ขึ้นมาที่มีชื่อว่า “วิทยาการคำนวณ” โดยจะมีการเริ่มบังคับใช้ในเดือน พ.ค. 2561 นี้เป็นต้นไป ซึ่งจะเริ่มสอนตั้งแต่ระดับชั้น ป.1 ป.4 ม.1 และ ม.4

รู้จักวิชาวิทยาการคำนวณ

รุ่งอรุณของวิทยาการคำนวณ เปิดหัวคิดเด็กไทยรุ่นใหม่

วิชา “วิทยาการคำนวณ” (Computing Science) เป็นวิชาที่จะมาแทนที่วิชาคอมพิวเตอร์หรือวิชาทางด้านเทคโนโลยี ที่มีสอนอยู่ในปัจจุบันและจะย้ายจากวิชาพื้นฐานในกลุ่มสาระการงานอาชีพและเทคโนโลยี มาอยู่ในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์

สิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงไปในวิชานี้ก็คือ เด็กๆ จะไม่ได้เรียนแค่โปรแกรมพื้นฐานของคอมพิวเตอร์ หรือเรียนรู้เกี่ยวกับการใช้คอมพิวเตอร์แค่ขั้นพื้นฐานเท่านั้น แต่วิชาใหม่นี้จะสอนให้เด็กๆ มีกระบวนการคิดเชิงวิเคราะห์อย่างเป็นระบบและสามารถนำมาปรับใช้เพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างสร้างสรรค์ในสาขาวิชาต่างๆ เช่น คณิตศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และวิชาอื่นๆ

รวมทั้งยังเป็นการทำให้เด็กๆ สามารถรับมือกับปัญหาที่มีความซับซ้อนได้หรือมีคำถามปลายเปิดได้ โดยที่วิทยาการคำนวณเป็นวิชาที่มีความจำเป็นในการพัฒนาแอพพลิเคชั่นต่างๆ สำหรับคอมพิวเตอร์ และเมื่อเด็กๆ ได้เรียนรู้แล้วก็ยังสามารถนำวิชานี้ไปปรับใช้ได้หลากหลายหลักสูตรเลยทีเดียว ซึ่งจะช่วยทำให้ได้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างแต่ละวิชาได้ดียิ่งขึ้น เมื่อต้องนำแต่ละวิชามาปรับใช้ด้วยกันไม่ว่าจะเป็นตอนเรียนหรือตอนทำงานในอนาคตก็ตาม

รศ.ยืน ภู่วรวรรณ ที่ปรึกษาของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาวิชาใหม่นี้ ได้ให้ข้อมูลว่ามีการกำหนดขอบเขตการเรียนการสอนของวิชาวิทยาการคำนวณเอาไว้ 3 องค์ความรู้ดังนี้ การคิดเชิงคำนวณ พื้นฐานด้านดิจิทัลรู้เท่าทันสื่อและข่าวสาร

1.การคิดเชิงคำนวณ (Computational Thinking) เป็นวิธีการคิดและแก้ปัญหาเชิงวิเคราะห์ สามารถใช้จินตนาการมองปัญหาด้วยความคิดเชิงนามธรรม ซึ่งจะทำให้เราสามารถเห็นแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นตอนและมีลำดับวิธีคิดได้ โดยวิธีคิดแบบวิทยาการคำนวณนี้ ไม่ใช่เพียงแค่การเขียนโปรแกรม เพราะภาษาโปรแกรมมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่จุดประสงค์ที่สำคัญกว่าคือการสอนให้เด็กคิดและเชื่อมโยงปัญหาต่างๆ เป็น จนสามารถแก้ปัญหาได้อย่างเป็นระบบนั่นเอง

2.พื้นฐานความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Technology) เป็นการสอนให้รู้จักเทคนิควิธีการต่างๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัล โดยเฉพาะในยุคไทยแลนด์ 4.0 จะเน้นในด้านระบบอัตโนมัติ (Automation) ที่อยู่ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นด้านการเกษตร อุตสาหกรรม หรือคมนาคม ให้เด็กๆ ได้เรียนรู้อย่างรอบด้าน และนำมาประยุกต์ใช้งานได้อย่างเหมาะสม

3.พื้นฐานการรู้เท่าทันสื่อและข่าวสาร (Media and Information Literacy) เป็นทักษะเกี่ยวกับการรู้เท่าทันสื่อและเทคโนโลยีดิจิทัล แยกแยะได้ว่าข้อมูลใดเป็นความจริงหรือความคิดเห็น โดยเฉพาะข้อมูลบนสื่อสังคมออนไลน์ นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องของความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ รู้กฎหมายและลิขสิทธิ์ทางปัญญาต่างๆ เพื่อให้เด็กใช้ช่องทางนี้ได้อย่างรู้เท่าทันและปลอดภัยมากที่สุด

ทาง สสวท.ได้วางแผนวิชา ออกแบบหนังสือเรียน แบบฝึกหัด คู่มือครู และมีการจัดอบรมครูในรายวิชาใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจะมีการเปิดการเรียนการสอนให้ครบ 12 ชั้นเรียนทั้งประถมและชั้นมัธยมในปีต่อๆ ไป นอกจากนี้ยังรวมถึงระดับอาชีวศึกษา การศึกษานอกระบบโรงเรียน และการศึกษาทางเลือกอื่นๆ ในอนาคตอีกด้วย

วิธีการเรียนการสอนจะเน้นการนำรูปแบบของโปรแกรมคอมพิวเตอร์มาสอนเด็กอย่างเหมาะสมตามพัฒนาการแต่ละวัย เด็กเล็กจะเน้นสื่อการเรียนรู้ประเภท Unplugged เช่น แบบฝึกหัด การ์ดคำสั่ง บอร์ดเกม เป็นต้น และค่อยๆ ปรับสื่อการเรียนรู้ให้เหมาะสมขึ้นตามระดับ
ชั้นปี เช่น ป.4 ให้เรียนเขียนโปรแกรมอย่างง่ายผ่าน Scratch เป็นต้น

เนื้อหาที่จะนำมาใช้ในการเรียนการสอนนั้น จะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละระดับชั้นการศึกษา ซึ่งสามารถแบ่งออกได้ดังนี้ ชั้นประถมตอนต้น จะเน้นเรียนทางการแก้ไขปัญหาอย่างง่าย โดยใช้สื่อการเรียนรู้ประเภทต่างๆ เข้ามาช่วยสอน เช่น แบบฝึกหัด การ์ดคำสั่ง บอร์ดเกม ภาพวาด หรือสัญลักษณ์ เป็นต้น

ชั้นประถมตอนปลาย จะเน้นการเรียนการสอนในการออกแบบและการเขียนโปรแกรมอย่างง่ายผ่าน Scratch เป็นการนำซอฟต์แวร์หรือสื่อการเรียนการสอน เรียนรู้วิธีการค้นหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตอย่างเหมาะสม

ชั้นมัธยมตอนต้น จะเป็นการเรียนการสอนที่เน้นการออกแบบและการเขียนโปรแกรมอย่างง่าย เพื่อเป็นการฝึกแก้ไขปัญหาทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ไปพร้อมๆ กัน

ชั้นมัธยมตอนปลาย จะเป็นการประยุกต์ใช้แนวคิดเชิงคำนวณ เพื่อนำไปใช้ในการบูรณาการกับโครงานวิชาอื่นๆ อย่างสร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพมากที่สุด

การเรียนวิชาการคำนวณจะไม่จำกัดอยู่เพียงแค่การคิดให้เหมือนคอมพิวเตอร์เท่านั้น และไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการคิดในศาสตร์ของนักวิทยาการคอมพิวเตอร์ แต่จะเป็นกระบวนการความคิดเชิงวิเคราะห์เพื่อนำมาใช้แก้ปัญหาของมนุษย์ โดยเป็นการสั่งให้คอมพิวเตอร์ทำงานและช่วยแก้ไขปัญหาตามที่เราต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รุ่งอรุณของวิทยาการคำนวณ เปิดหัวคิดเด็กไทยรุ่นใหม่

ในเฟซบุ๊กของ รศ.ยืน ได้อรรถาธิบายถึง การอ่านออกเขียนได้ทางดิจิทัล (Digital Literacy) กับวิทยาการคำนวณ (Computing) ไว้ว่า การเรียนวิทยาการคำนวณในวัยเด็กมีจุดเน้นในเรื่องการพัฒนาทักษะทางด้านความคิด เพื่อสร้างวิธีการเรียนรู้ในเรื่องหลักการขั้นตอนวิธีการ Algorithms ที่สร้างรูปธรรมใก้ลเคียงกับการเรียนรู้การวางแผนการทำงานและชีวิต รู้จักการสร้างลำดับ การคิดเป็นขั้นตอน การสร้างชีวิตให้สมบูรณ์ สร้างทักษะความคิดริเริ่ม (Creative) ความคิดเป็นระบบ (Systematic) มีเหตุมีผล (Logical Idea) ทำงานร่วมกันได้ (Teamwork) สามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในเด็กประถม ไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ได้ (Unplug)

การจัดการเรียนรู้ในวัยต้นเป็นเรื่องการวางรากฐานชีวิต ต้องเน้นทักษะ กระบวนการเรียนรู้ ให้สนุก สนใจในกระบวนการทางความคิดทางวิทยาศาสตร์ และการแก้ปัญหา ส่งเสริมการสร้างจินตนาการ สร้างสรรค์ พัฒนาความคิดริเริ่ม มีความสามารถในการคิดแก้ปัญหา รู้จักใช้เหตุผล ต้องสร้างความประทับใจ ทำให้ใฝ่เรียนรู้ แสวงหาและสร้างกิจกรรมที่เกิดจากการทำงานร่วมกัน

ครั้นเมื่อเด็กมีความพร้อม พวกเขาเป็น Digital Native พร้อมเรียนรู้เทคโนโลยี การเขียนโค้ดจึงไม่ใช่เรื่องยากสำหรับพวกเขา ปัจจุบันมีทางเลือกให้เรียนรู้ได้มากมาย แต่จุดสำคัญคือ ไม่ต้องการสอน หรือเรียน เพื่อเป้าหมายการเป็นนักคอมพิวเตอร์

นอกจากนี้ในวิทยาการคำนวณการยังต้องวางรากฐานให้ได้ คือ การพัฒนาคน ให้มีความรู้พื้นฐานดิจิทัลให้อ่านออกเขียนได้ทางดิจิทัล Digital Media and Information Literacy การอ่านออกเขียนได้ทางดิจิทัล จึงมีกรอบที่ต้องสร้างทักษะที่จำเป็นในหลายๆ ด้าน ประกอบด้วย

 Media Literacy การรู้เท่าทันสื่อ สร้างสรรค์ สร้างสื่อ ใช้สื่อ เพื่อการสื่อสาร เพื่อการเรียนรู้ และสร้างคุณค่าให้กับตัวเอง สังคม สามารถแยกแยะและใช้สื่อได้อย่างมีคุณค่า ทำอย่างไรจะให้เด็กยุคใหม่ รู้เท่าทัน แยกแยะ Fact กับ Opinion รวมถึงข่าวลวงได้

 Information Literacy มีทักษะในการใช้ข่าวสาร มีทักษะในการค้นหา แปลความ ประเมิน การจัดการ ข่าวสาร การแบ่งปัน การส่งกระจาย การมองเห็น การใช้ประโยชน์จากสารสนเทศได้ ทำให้แสวงหา เรียนรู้ได้มาก และเร็ว สามารถนำไปเป็นเครื่องมือการเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต Life Long Learning

 Communications and Collaboration Skill มีทักษะในการใช้เทคโนโลยีเพื่อการสื่อสาร เพื่อการทำงานร่วมกัน ใช้งานระบบออนไลน์ เพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสาร รู้วิธีสื่อสาร มารยาทในสังคม การอยู่ร่วมกันใน Social Media

 Career & Identity Management มีทักษะในการจัดการตัวตน เอกลักษณ์แห่งตัวตน มีความสามารถในการจัดการข้อมูลข่าวสารของตนเอง สร้างสรรค์ประโยชน์จากการใช้งานข้อมูล ดูแลและจัดการตนเอง รับรู้ความเสี่ยง สามารถจัดการความเสี่ยง ปกป้องอันตราย จากการใช้ดิจิทัล มีคุณธรรมจริยธรรมการใช้ดิจิทัล

 ICT Literacy รู้จัก เข้าใจ การใช้อุปกรณ์ทางด้านไอซีที ใช้บริการจากที่ให้บริการได้ ใช้อย่างรู้คุณค่า มีคุณธรรม จริยธรรมกับการใช้งาน ใช้อย่างรับผิดชอบ ใช้อย่างคุ้มค่า โดยเฉพาะโลกยุคใหม่ กำลังก้าวสู่ความสมาร์ท มีอุปกรณ์ IoT มากมาย

 Learning Skills มีทักษะการเรียนรู้ การแสวงหาความรู้ แยกแยะข้อมูลข่าวสาร สร้างคุณค่า สร้างสรรค์งานจากการเรียนรู้ ทำให้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้เร็ว อยากเห็นคนไทยมี Learning Curve เร็ว

 Digital Scholarship มีทักษะในการเรียนรู้จากการให้บริการทางการศึกษาที่มีในระบบดิจิทัล สื่อสาระออนไลน์ การจัดการเรียนรู้จากสื่อสาระ การทำวิจัยสร้างสรรค์ผลงานจากดิจิทัล

โดยรวมวิทยาการคำนวณจึงเป็นเรื่องการใช้งานดิจิทัลในชีวิตประจำวัน คิด วิเคราะห์ สร้างสรรค์ การแสวงหา การอ่าน การเขียนดิจิทัล Media และ Information การรู้เท่าทันสื่อ การใช้อย่างปลอดภัย การได้ประโยชน์จากสื่อ การสร้างสรรค์สื่อ การแบ่งปัน มีความเข้าใจโลกที่เปลี่ยนแปลง มองอนาคตได้ดี การอยู่ร่วมกับเทคโนโลยีได้

การเรียนเขียนโค้ด ก็เป็นแบบง่ายๆ เพื่อให้เข้าใจ รูปแบบ ลำดับขั้นตอนการทำงาน การตัดสินใจ ที่เรียกว่า อัลกอริทึมไม่เน้นในเรื่องภาษาคอมพิวเตอร์ ครูสามารถหามาใช้ได้ ซึ่งปัจจุบันทั่วโลกมีการพัฒนาเครื่องมือการเรียนรู้ โค้ดดิ้งมาก เช่น BBC อังกฤษ พัฒนาไมโครบิตให้นักเรียนตั้งแต่ประถม

การอ่านออกเขียนได้ทางดิจิทัล Digital Literacy จึงเกี่ยวโยงกับวิทยาการคำนวณหลักสูตรใหม่ ที่จะช่วยสร้างประชากรไทยให้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงชีวิต ความเป็นอยู่ สังคม เพื่อเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต พร้อมที่จะมีชีวิตในโลกที่มีดิจิทัลรอบๆ ตัวมากมาย

อ่านอนาคตวิทยาการคำนวณจากประธานทีดีอาร์ไอ

รุ่งอรุณของวิทยาการคำนวณ เปิดหัวคิดเด็กไทยรุ่นใหม่

ในการสัมมนาวิชาวิทยาการคำนวณ (Computing Science) ของบริษัท อักษร เอ็ดดูเคชั่น ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ถึงความสำคัญของวิชาวิทยาการคำนวณ ทั้งในบริบทของไทยและต่างประเทศ

ดร.สมเกียรติ ชี้ว่า 2-3 ปีที่ผ่านมาเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาอย่างมาก มีหลายประเทศที่ให้เด็กเริ่มเรียนโค้ดดิ้ง อย่างประเทศฟินแลนด์และเอสโตเนีย ที่ให้นักเรียนเริ่มเรียนตั้งแต่ป.1 หรือเกาหลีใต้ ที่ส่งเสริมให้เด็กทุกชั้นเรียนได้เรียนโค้ดดิ้ง รวมถึงประเทศจีนที่ให้เด็กชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายกว่า40 โรงเรียน ได้เรียนวิชา AI (ArtificialIntelligence-AI) หรือปัญญาประดิษฐ์แล้ว

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพราะโลกเปลี่ยนแปลงเร็ว ประเทศที่มีการศึกษาดีมีเทคโนโลยีขั้นสูง แต่เมื่อโลกหมุนเร็วก็ทำให้ตัวเองปรับตัวไม่ทัน ส่งผลให้ต้องเปลี่ยนมุมมองใหม่ และส่งเสริมให้เด็กเรียนวิชาโค้ดดิ้งตั้งแต่อายุยังน้อย เพราะเล็งเห็นว่าโลกอนาคต คือ โลกไอที และทุกประเทศต้องก้าวไปสู่ดิจิทัล

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่คนต้องมีทักษะด้านนี้ เพื่อเข้าใจโลกรอบตัวที่อุปกรณ์เกือบทุกอย่างสามารถสั่งการได้ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ หรือเป็น Internetof Things (IoT) ที่คนยุคต่อไปต้องเข้าใจและใช้ให้เป็น

บริษัทสตาร์ทอัพคือ หนึ่งธุรกิจดิจิทัลที่เติบโต โลกอนาคตคือดิจิทัล และทักษะที่ต้องมีคือโค้ดดิ้ง ประเทศไทยและความพร้อมของเด็กไทยว่า ดร.สมเกียรติ ระบุว่า ข้อมูลจากองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD)เด็กไทย 36% ไม่ผ่านเกณฑ์ด้านการอ่านคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ การเรียนวิชาวิทยาการคำนวณสำคัญที่ไอเดีย ไม่ใช่อุปกรณ์ หรือซอฟต์แวร์ ยกตัวอย่างการสอนให้เด็กเข้าใจขั้นตอนการทำงาน ซึ่งเปรียบเหมือนอัลกอริทึม ครูสามารถสอนโดยไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ก็ได้ โดยนำสถานการณ์ต่างๆ ใกล้ตัวมาเป็นโจทย์ให้เด็กได้ฝึกคิดเป็นระบบ

วิชาวิทยาการคำนวณ จะเปิดโลกใหม่ให้กับประเทศไทย เพราะด้วยบทบาทของวิชานี้จะช่วยเสริมให้เด็กมีจินตนาการและสามารถแก้ปัญหาได้ ซึ่งในปัจจุบันมีหลายหน่วยงานที่เข้ามาสนับสนุนวิชาวิทยาการคำนวณ หากโรงเรียนมีความตั้งใจจริง ก็สามารถจับคู่พาร์ตเนอร์กับองค์กรต่างๆในการเข้าไปร่วมจัดการเรียนการสอนได้

ความพร้อมของเด็กไทยในการเรียนวิทยาการคำนวณ

รุ่งอรุณของวิทยาการคำนวณ เปิดหัวคิดเด็กไทยรุ่นใหม่

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ได้เขียนลงในเฟซบุ๊กDr.Suvit Maesincee ของตัวเองเมื่อวันที่12 ก.พ. 2561 ว่า รู้จักวิชา #วิทยาการคำนวณ วิชาบังคับใหม่ ในปีการศึกษาปี 2561

“ภายในระยะเวลาไม่กี่ปี โลกได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมากนะครับเนื่องจากเรามีพัฒนาการทางเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด ดังนั้นเพื่อให้เด็กที่เป็นอนาคตของประเทศสามารถใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการพัฒนาตัวเองให้ได้ทั้งทักษะการคิดและทักษะฝีมือ กระทรวง
ศึกษาธิการจึงได้พัฒนาวิชาใหม่ในกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์

เนื่องจากเห็นว่ากระบวนการคิดของมนุษย์นั้น ควรมีขั้นตอนการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล ซึ่งเป็นหลักการของกระบวนการทางวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว โดยวิธีการเรียนการสอนจะเน้นการนำรูปแบบของโปรแกรมคอมพิวเตอร์มาสอนเด็กอย่างเหมาะสมตามพัฒนาการแต่ละวัย เพื่อให้เด็กมีกระบวนการคิดเป็นเหตุเป็นผล รู้เท่าทันประโยชน์และโทษของเทคโนโลยี

ที่สำคัญสามารถใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบันและกำลังจะเกิดขึ้นใหม่ในอนาคตให้เกิดประโยชน์ได้ครับ”

สำหรับการเริ่มต้นการเรียนการสอนในวิชาวิทยาการคำนวณ รศ.ธีรวัฒน์ประกอบผล อาจารย์ประจำสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ใน อักษรเน็กซ์ สเตชั่น ว่า วิทยาการคำนวณไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ต้องใช้ความรู้และจัดกิจกรรมให้ครบตามหลักสูตรทั้ง 3 ด้าน ได้แก่การคิดเชิงคำนวณ ความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และการรู้เท่าทันสื่อและข่าวสารเพื่อให้ผู้เรียนใช้เทคโนโลยีสารสนเทศได้อย่างปลอดภัย และสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้

“การสอนเนื้อหาในวิชาวิทยาการคำนวณ จริงๆ ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร และไม่ใช่เรื่องยากเลย แต่ว่าครูต้องให้ความรู้กับเด็กหรือจัดกิจกรรมให้กับเด็กให้ครบทุกด้านตามหลกั สูตรที่กำหนดไว้ เช่น การแก้ปัญหาเด็กรู้จักเกี่ยวกับขั้นตอนการแก้ปัญหาว่าจะแก้ปัญหาได้ด้วยขั้นตอนใดๆ เด็กรู้จักใช้เทคโนโลยีสารสนเทศได้อย่างปลอดภัย รู้จักการนำความรู้ต่างๆ ที่มีอยู่ในระบบเทคโนโลยีมาใช้ให้ได้”

เพราะฉะนั้น รศ.ธีรวัฒน์ จึงบอกว่าในเรื่องวิชาวิทยาการคำนวณไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ขอให้คุณครูสอนเด็กให้ครบทั้ง3 ด้าน คือ ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ด้านเกี่ยวกับการคิดคำนวณต่างๆ ด้านเกี่ยวกับการใช้ไอซีทีอย่างปลอดภัย

“ตัวชี้วัดที่สำคัญในเนื้อหาเกี่ยวกับวิทยาการคำนวณ คือ ขั้นตอนวิธี เด็กจะต้องรู้ว่าการแก้ปัญหานั้นๆ มีขั้นตอนวิธีอะไรบ้าง ปัญหาเดียวกันสามารถแก้ได้หลายวิธี เด็กอาจจะเลือกวิธีการแก้วิธีการไหนมาใช้ในการแก้ปัญหาของตัวเอง และในการแก้ปัญหานั้นอาจจะนำเทคโนโลยีต่างๆ มาช่วยก็ได้ อยากจะเน้นย้ำว่าปัญหาเดียวกันมีวิธีการแก้ได้หลายวิธี ซึ่งมีประสิทธิภาพที่แตกต่างกัน แล้วอยากให้เด็กคิดพัฒนาและมีวิธีที่จะสร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ ออกมาได้ หรือนำเครื่องไม้เครื่องมือที่มีอยู่มาแก้ปัญหาของตัวเองให้ได้”

ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จในการสอนวิชาวิทยาการคำนวณ รศ.ธีรวัฒน์ชี้ให้เห็นทางว่าคือ เรื่องสื่อ ซึ่งมีหลายวิธี

“เด็กเล็กๆ สามารถใช้สื่อที่ไม่ใช่โปรแกรมคอมพิวเตอร์ก็ได้ อย่างการใช้บัตรคำสั่ง หรือขึ้นมาระดับสูงขึ้นอีกนิดเด็กๆ ก็จะใช้ฝึกสื่อต่างๆ เครื่องมือพัฒนาโปรแกรมที่มีอยู่แล้วในระบบอินเทอร์เน็ตซึ่งใช้ได้ฟรี หรือไปสู่การพัฒนาโครงงานโดยอาจจะใช้ซอฟต์แวร์ต่างๆ ที่มีอยู่บน
อินเทอร์เน็ต

หรือใช้อุปกรณ์ต่างๆ ที่มีอยู่ภายนอกก็ได้ ซึ่งเดี๋ยวนี้มีอุปกรณ์เกี่ยวกับพวกสมองกลและอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับโครงงานที่ทำได้ไม่ยากสามารถเริ่มเล่นได้ตั้งแต่เด็กประถมฯ ถ้าเรามีสื่อหรืออุปกรณ์ต่างๆเราก็สามารถทำให้เด็กมีแรงดึงดูดหรือว่ามีสิ่งที่ทำให้เด็กอยากเล่นมากขึ้น”