posttoday

ส่งนักวิทยาศาสตร์ไทยสำรวจขั้วโลกเหนือครั้งแรก

18 กรกฎาคม 2561

ส่งนักวิทยาศาสตร์ไทยไปสำรวจขั้วโลกครั้งแรก ศึกษาภาวะโลกร้อน-ปัญหาขยะพลาสติดขนาดเล็ก พร้อมปักธงชาติในทะเลน้ำแข็งอาร์กติก

ส่งนักวิทยาศาสตร์ไทยไปสำรวจขั้วโลกครั้งแรก ศึกษาภาวะโลกร้อน-ปัญหาขยะพลาสติดขนาดเล็ก พร้อมปักธงชาติในทะเลน้ำแข็งอาร์กติก

มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) แถลงข่าวเรื่อง “การสำรวจวิจัยขั้วโลกเหนือครั้งแรกของประเทศไทย” ซึ่งเป็นการปฏิบัติการดำน้ำสำรวจใต้ทะเลขั้วโลกเหนือ เพื่อศึกษาวิจัยผลกระทบของภาวะโลกร้อนและปัญหาขยะพลาสติกขนาดเล็กที่มีผลกระทบต่อสัตว์ทะเลขั้วโลกเหนือ ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีนักวิจัยพิชิตการดำน้ำทั้งขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ พร้อมทั้งนำธงชาติไทยปักลงบนทะเลน้ำแข็งอาร์กติกบนพื้นที่เหนือสุดของขั้วโลกเหนือด้วย

รศ.ดร.วรณพ วิยกาญจน์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิทยาศาสตร์ไทยคนแรกที่ไปสำรวจขั้วโลกใต้ เปิดเผยว่า จุดมุ่งหมายของการลงพื้นที่สำรวจขั้วโลก จะเน้นไปที่การศึกษาสิ่งที่อยู่ภายใต้ทะเลลึก อาทิ สัตว์บก สัตว์น้ำ ไปจนถึงขยะพลาสติกขนาดเล็ก ซึ่งทุกวันนี้เพิ่มปริมาณมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพสิ่งแวดล้อมทั่วโลก จึงต้องนำข้อมูลที่เก็บมาได้กลับมาวิจัยและเผยแพร่ต่อไปในอนาคต

ทั้งนี้ ที่ผ่านมายังไม่เคยมีนักวิทยาศาสตร์ของไทยเดินทางไป มีเพียงประเทศมหาอำนาจที่ส่งไปตั้งฐานวิจัยนานแล้ว แต่พื้นที่ขั้วโลกเหนือและใต้ยังมีอีกหลายเรื่องที่ยังต้องศึกษาต่อไป ซึ่งการเดินทางที่เกิดขึ้นเป็นเพราะพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับจีนมาอย่างแน่นแฟ้นทำให้จีนร่วมสนับสนุนการทำวิจัยในครั้งนี้ รวมถึงทุกหน่วยงานภาคเอกชนที่ให้การสนับสนุนเงินทุน จึงขอทำหน้าที่ให้ดีที่สุดเพื่อนำผลงานวิจัยมาให้เยาวชนรุ่นต่อไปได้ศึกษา

รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิทยาศาสตร์สตรีไทยคนแรกที่ไปสำรวจที่ขั้วโลกใต้ กล่าวว่า พื้นที่ขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้มีสภาพทะเลน้ำแข็ง ดังนั้นการที่ประเทศไทยสนใจศึกษาภาวะการเปลี่ยนแปลงของขั้วโลก เป็นการแสดงให้นานาประเทศเห็นว่าประเทศไทยให้ความใส่ใจต่อภาวะโลกร้อนด้วยเช่นกัน

"ปัจจุบันทุกกิจกรรมในแต่ละวัน มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง แล้วก๊าซเหล่านี้ได้ลอยขึ้นไปที่ขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ เสมือนเป็นภาชนะรองรับขยะจากคนทั้งโลก จึงควรทำการวิจัยผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม เช่นการเก็บตัวอย่างสัตว์น้ำ ตะกอนดินใต้ทะเลลึก รวมถึงขยะปนเปื้อน เพื่อวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลง ในอีก 10-20 ปีข้างหน้า ว่าประเทศไทยควรรับมือกับสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร ทำให้เรารับมือได้อย่างทันท่วงที"รศ.ดร.สุชนา กล่าว

นอกจากนี้ การไปขั้วโลกเหนือต้องเผชิญกับความหนาวเย็น และมีภารกิจด้านดำน้ำที่มีอุณหภูมิศูนย์องศาหรือลบหนึ่งองศา จึงต้องใส่ชุดดำน้ำแบบแห้งที่สามารถปกป้องอุณหภูมิของร่างกายไว้ได้ แตกต่างการจากดำน้ำในประเทศไทยที่ใช้ชุดดำน้ำแบบเปียก ทำให้ต้องเตรียมความพร้อมทั้งทางร่างกาย ให้ทนกับความเย็นซึ่งต้องอยู่ในน้ำเป็นเวลาไม่เกิน 30 นาทีเท่านั้น ทั้งยังถึงต้องระมัดระวังอันตรายจากสัตว์ เช่น หมีขาว

ส่งนักวิทยาศาสตร์ไทยสำรวจขั้วโลกเหนือครั้งแรก