posttoday

ผบ.ทอ.ชี้โดรนเป็นภัยคุกคามทางทหาร หากบินในพื้นที่ห้ามเจอสอยร่วงแน่

18 กรกฎาคม 2561

"ผบ.ทอ." ชี้ โดรนเป็นภัยคุกคามทางทหาร ต้องควบคุมให้ได้ ชี้ขึ้นบินในพื้นที่ห้ามจะใช้เครื่องมือสอยร่วงจากท้องฟ้า ยกเหตุลอบบินใกล้ฮ.ที่ถ้ำหลวงเป็นตัวอย่าง

"ผบ.ทอ." ชี้ โดรนเป็นภัยคุกคามทางทหาร ต้องควบคุมให้ได้ ชี้ขึ้นบินในพื้นที่ห้ามจะใช้เครื่องมือสอยร่วงจากท้องฟ้า ยกเหตุลอบบินใกล้ฮ.ที่ถ้ำหลวงเป็นตัวอย่าง

เมื่อวันที่ 18 ก.ค. พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) กล่าวระหว่างเปิดงานเสวนา "Drone & UAV ในห้วงอากาศ ความมั่นคงของชาติ และความปลอดภัยด้านการบิน" ว่า การปรากฏตัวของโดรนเมื่อ10 ปีที่ผ่านมาไหลสู่ภาคประชาชน จนสร้างความสับสนและตื่นตระหนกให้กับภาครัฐทุกชาติทั่วโลก ในการกำกับดูแล แต่ในส่วนของทหารมีการใช้โดรนมานาน โดรนเป็น เทคโนโลยีแและการควบคุมระยะไกล เราใช้โดรนสร้างขีปนาวุธต่อสู้ข้าศึก รวมทั้งกิจการอื่นๆมากมาย

"ในห้วง 10- 20 ปีที่ผ่านมา แม้ว่า โดรน จะเป็นเครื่องมือทางทหารเศรษฐกิจสังคมแล้ว แต่ยังคุกคามทางสิทธิเสรีภาพ และโดรนยังเป็นอากาศยานตามตามคำนิยามของพระราชบัญญัติ หมายความว่าจะต้องทำตามกฎหมาย ให้เกิดประโยชน์ในขณะที่กฎหมายยังไล่ไม่ทันถึงความก้าวหน้าของโดน"ผบ.ทอ.กล่าว

พล.อ.อ.จอม กล่าวว่า ในทางกฎหมายการกำกับดูแลห้วงอากาศ เป็นหน้าที่ของ กระทรวงคมนาคมในขณะที่กองทัพอากาศมีบทบาท เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ว่าด้วย พรบ.การเดินทางอากาศ ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฎหมาย ของอากาศยาน ก็ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานตามประกาศกระทรวงคมนาคม ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นเจ้าพนักงานและร้องขอให้กองทัพอากาศเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงาน

"หากเรามีโดรนที่เป็นอากาศยานจะต้องจดทะเบียน แต่ในขณะเดียวกันโดรนที่เป็นเครื่องเล่น ที่มีกล้องถ่ายรูปแต่ไม่มีอุปกรณ์พิเศษติดตั้งอาจไม่ต้องจดทะเบียน แต่ถ้าหากเป็นอากาศยานที่มีนักบินต้องขออนุญาตบินต้องมีการส่งแผนการบินเพื่อหลีกเลี่ยงการชนกันของอากาศยาน เช่น หากอากาศยานไร้นักบินชนกับเครื่องบินของสายการบินตก ประกันจะจ่ายเงินหรือไม่ หากจ่ายเงิน มูลค่าประมาณ 7 หมื่นล้านเศษ จะส่งผลให้บริษัทประกัน 3-4 บริษัทล้มทันที เศรษฐกิจชาติพังพินาศแน่นอน ดังนั้นจึงต้องไปพิจารณากันว่าเราจะกำกับดูแลการบินของโดรนให้ถูกต้องตามกฎหมายและสมประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สังคม อย่างไรอีกทั้งไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลที่เป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบันนี้"พล.อ.อ.จอมกล่าว

ผบ.ทอ.กล่าวอีกว่า โดรนเป็นภัยคุกคามทางทหาร บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดเจนว่ากองทัพอากาศ เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติต่ออากาศยานที่กระทำผิดกฎหมาย ขณะที่ทางทหารใช้เป็นยุทโธปกรณ์ คุกคามข้าศึก แต่ก็ยังมีระบบพัฒนาต่อต้านโดรนตามมา ยิ่งโดรนมีความก้าวหน้าและคุกคามเรามากเท่าไร ระบบป้องกันโดรนก็จะก้าวหน้าตามไปเช่นกัน

พล.อ.อ.จอม กล่าวว่า สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งเรื่องอากาศยานไร้คนขับ ที่ถูกใช้ในทางที่ผิดเช่น การจารกรรม การก่อการร้ายการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล กับประเด็นที่ว่าเมื่ออากาศยานไร้คนขับตกลงพื้นดินส่งผลกระทบทำให้เกิดอุบัติเหตุ เช่น โดรนของกองทัพอากาศ เคยเกิดอุบัติเหตุชนเด็ก จ. สุราษฎร์ธานี จนเกือบตาบอด จึงต้องถูกกำกับดูแลจากภาครัฐให้ถูกต้องเหมาะสม

พล.อ.อ.จอม ยังยกตัวอย่าง กรณีที่มีโดรนของสื่อขึ้นบินเข้าใกล้เฮลิคอปเตอร์ระหว่างภารกิจช่วยเหลือทีมหมูป่าว่า โดรนที่สื่อนำไปถ่ายภาพ มีศักยภาพสูงมาก หากโดรนเกิดหมุนไปตีด้านท้ายเครื่องของเฮลิคอปเตอร์เชื่อหรือไม่ว่าการเสียชีวิตทั้งลำ เพราะเคยมีกรณีที่ โดรนชนท้ายหาง เฮลิคอปเตอร์พยาบาล จนต้องนำเครื่องลงฉุกเฉิน เกือบเสียชีวิตทั้งลำมาแล้ว

พล.อ.อ.จอม กล่าวต่อว่า ในช่วงพระราชพิธีพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีโดรนไม่ปรากฎสัญชาติบินขึ้นมากมาย เราได้เข้าจับกุม และส่งดำเนินคดี ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและในอนาคตข้างหน้าก็จะมีงานพระราชพิธีสำคัญซึ่งการดูแลกำกับการใช้โดนทางกองทัพอากาศก็จะยึดถือแบบเดิม

ต่อไปในอนาคต ผู้บินโดรนจะต้องมีใบขับขี่ เหมือนกับการขี่เจ็ตสกี เนื่องจากเกิดอุบัติเหตุถึงแก่ชีวิตไม่สามารถเรียกร้องอะไรได้ เนื่องจากกฎหมายไม่รองรับ ซึ่งอาจจะต้องมีการแก้ไขพระราชบัญญัติ การเดินทางอากาศอีกหลายประเด็น อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้บินโดรน ต้องผ่านการอบรมให้เข้าใจ และเคารพสิทธิของผู้อื่น ซึ่งหากกฎหมายสมบูรณ์แล้ว และมีผู้กระทำความผิดจะต้องได้รับโทษโดยสารอาจจะไม่ปราณีเหมือนที่ผ่านมา" พล.อ.อ.จอม กล่าว

ในทางทหารถือว่าเป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงเราถึงได้ มีการเตรียมการสอยโดรนให้ร่วงจากท่องฟ้า ไม่ทำใครบาดเจ็บ แต่หากเป็นโดรนขนาดใหญ่ที่เหมือนกับทางทหารใช้ ก็จะยิงทิ้ง ด้วยอาวุธต่อสู้อากาศยาน

"โดรนถือเป็นเรื่องใหม่ การกำกับดูแลของภาครัฐถือเป็นเรื่องยากมากเนื่องจากโดนไหลสู่ประชาชนอย่างแพร่หลายและมีราคาไม่แพง และคุกคามในหลายๆเรื่องโดยที่ไม่ตั้งใจ จึงต้องสร้างความเข้าใจร่วมกันเพื่อกระตุ้นให้สังคมตื่นตัวในการใช้โดรนให้ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่เป็นภาระต่อสังคม"ผบ.ทอ.กล่าว