posttoday

ดึงผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศร่วมสำรวจถ้ำหลวงอย่างละเอียด จัดโซนพื้นที่ท่องเที่ยว

17 กรกฎาคม 2561

"กรมธรณี-กรมอุทยานฯ"คัดเลือก 10ถ้ำนำร่อง ทำแผนที่-จัดโซนนิ่งพื้นที่ท่องเที่ยว พร้อมทำคู่มือท่องเที่ยวถ้ำปลอดภัย คาดคนอยากเห็น “เนินนมสาว-หาดพัทยา”

"กรมธรณี-กรมอุทยานฯ"คัดเลือก 10ถ้ำนำร่อง ทำแผนที่-จัดโซนนิ่งพื้นที่ท่องเที่ยว พร้อมทำคู่มือท่องเที่ยวถ้ำปลอดภัย คาดคนอยากเห็น “เนินนมสาว-หาดพัทยา”

เมื่อวันที่ 17 ก.ค.นายทศพร นุชอนงค์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงกรณีการดำเนินการฟื้นฟูถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ว่า กรมทรัพยากรธรณีจะมีการประชุมร่วมกับกรมอุทยานฯ เพื่อจัดลำดับการสำรวจและจัดทำแผนผังถ้ำ โดยทางกรมอุทยานฯ จะเป็นฝ่ายคัดเลือกถ้ำที่มีศักยภาพในการท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปจำนวนมาก จำนวน 10 แห่ง จากถ้ำในความรับผิดชอบของกรมอุทยานฯ จำนวน 169 แห่งเพื่อดำเนินโครงการนำร่อง ซึ่งถ้ำหลวงฯ จะเป็นพื้นที่ 1 ใน 10 แห่งที่เข้าสู่โครงการนำร่องดังกล่าว โดยจะมีการจัดประชุมอย่างเป็นทางการในเดือน ก.ย. นี้

ทั้งนี้ทางกรมทรัพยากรธรณีจะสำรวจถ้ำหลวงฯ ร่วมกับกรมอุทยานฯ โดยจะจัดทำรายละเอียดลักษณะโครงสร้างของถ้ำ ทำแผนที่ถ้ำเพื่อฟื้นฟูและบริหารจัดการถ้ำอย่างถูกหลักวิชาการต่อไป อย่างไรก็ตามถ้ำทั่วประเทศมีกว่า 2,000 แห่ง เราคงไม่สามารถสำรวจได้ครอบคลุมทั้งหมดได้ จึงต้องจัดลำดับความสำคัญก่อนดำเนินการ

นายทศพร กล่าวอีกว่า การสำรวจถ้ำหลวงฯ จะมีผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาร่วมสำรวจด้วย เพื่อนำข้อมูลมาเป็นส่วนหนึ่งในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวถ้ำหลวงฯ ต่อไป โดยจะมีการจัดทำโซนนิ่งพื้นที่ว่าโซนไหนปลอดภัยสามารถเดินท่องเที่ยวได้ด้วยตนเอง หรือในส่วนลึกที่มีระดับความยากจะต้องมีผู้นำเที่ยว

นอกจากนี้ถ้ำหลวงฯ เป็นพื้นที่มีความเปราะบางทางระบบนิเวศจะต้องมีการจัดทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ไม่ให้มีการออกนอกเส้นทางไม่เช่นนั้นจะกระทบต่อระบบนิเวศหินงอกหินย้อยและสร้างความเสียหายได้ โดยเส้นทางศึกษาธรรมชาติจะเป็นตัวจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวภายในถ้ำไปในตัว ซึ่งการบริหารจัดการถ้ำจะเน้นความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวเป็นสำคัญ โดยต่อไปกรมทรัพยากรธรณีจะจัดทำคู่มือการเที่ยวถ้ำเพื่อให้ความรู้กับประชาชนในการท่องเที่ยวถ้ำอย่างปลอดภัย

“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ถ้ำหลวงฯ นับเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่จะให้คนเดินทางมาท่องเที่ยวถ้ำมากขึ้น โดยเฉพาะจุดบริเวณที่เป็นจุดเด่นของถ้ำ คือบริเวณเนินนมสาว และหาดพัทยา จะต้องมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากอยากจะมาเห็น หากไม่มีแผนบริเวณจัดการที่ถูกต้องจะทำให้ระบบนิเวศเสียหายอย่างมาก จึงต้องมีแผนบริหารจัดการให้รัดกุม นอกจากนี้ทางกรมทรัพยากรธรณีจะจัดการประชุมถอดบทเรียนเรื่องถ้ำหลวงฯ เพื่อให้สาธารณชนได้รับรู้ว่าใช้ศาสตร์ในเรื่องใดเข้ามาดำเนินการเพื่อให้ปฏิบัติการช่วยเหลือ 13 ชีวิตปลอดภัย ทั้งความรู้ทางด้านธรณีวิทยา วิศวกรรม และอุทกศาสตร์ เป็นต้น”อธืบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าว

ด้านนายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวถึงประเด็นการยกระดับวนอุทยานถ้ำหลวงฯ ให้เป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติฯ ว่า เหตุการณ์การช่วยเหลือ 13 ชีวิตที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง เป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลก ซึ่งคาดว่าในอนาคตถ้ำหลวงจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดเชียงราย ดังนั้นกรมอุทยานฯ จึงมองว่าหากยกระดับเป็นอุทยานแห่งชาติฯ ได้ก็จะช่วยดูแลรักษาพื้นที่ และมีงบประมาณสนับสนุนตามพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 ที่บัญญัติขึ้นไว้คุ้มครองพื้นที่อุทยานแห่งชาติไว้โดยเฉพาะ และมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการเข้าพื้นที่ ซึ่งเงินรายได้ส่วนนี้ก็จะกลับมาบำรุงรักษาพื้นที่ให้คงความสมบูรณ์เช่นเดิม

นายจงคล้าย กล่าวต่อว่า ปัจจุบันวนอุทยานได้รับความคุ้มครองตามพ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 และพ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการป่าไม้โดยทั่วๆ ไป เช่น การเอาผิดผู้ที่บุกรุกป่า เป็นต้น โดยวนอุทยานถ้ำหลวงฯ ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลเพียงปีละ 5 แสนบาทเท่านั้น ดังนั้นหากต่อไปวนอุทยานถ้ำหลวงฯ จะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว จึงควรมีการบริหารจัดการพื้นที่ให้ครอบคลุมกว่านี้ แต่อย่างไรก็ตามหลักสำคัญที่จะเปลี่ยนเป็นอุทยานแห่งชาตินั้น ต้องทำประชาพิจารณ์จากชุมชนรอบพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และได้รับความเห็นชอบก่อน ตนมองว่าหากถ้ำหลวงจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ ชุมชนน่าจะได้รับประโยชน์และมีรายได้เพิ่มมากกว่า

เมื่อถามว่าหากวนอุทยานถ้ำหลวงฯ ยกระดับเป็นอุทยานแห่งชาติ จะส่งผลกระทบต่อชุมชน และมีการกันพื้นที่ชุมชนออกจากพื้นที่อุทยานหรือไม่ รองอธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวว่า พื้นที่วนอุทยานถ้ำหลวงฯ มีเนื้อที่ 5,000 ไร่ ซึ่งในพื้นที่ไม่มีชุมชนอาศัยอยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว จึงไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องย้ายชุมชนออก แต่เนื่องจากวนอุทยานมีพื้นที่เพียง 5,000 ไร่ กรมอุทยานฯ จึงต้องสำรวจพื้นที่เพิ่มเติม ซึ่งอาจจะมีการผนวกพื้นที่รอบข้างเพิ่มเติมอีก และต้องเป็นพื้นที่ป่าสมบูรณ์เท่านั้น กรมอุทยานฯ จะไม่นำพื้นที่ที่มีชุมชนอาศัยอยู่มาผนวกเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติแน่นอน