posttoday

"ผมเคยสูญเสียลูกนั่นคือเหตุผลที่ผมต้องไป" สุรทิน ชัยชมพู นักเจาะบาดาลแห่งถ้ำหลวง

17 กรกฎาคม 2561

เปิดใจ "สุรทิน ชัยชมพู" นายกสมาคมน้ำบาดาลไทย เจ้าของฉายา "สยองบาดาล" อีกหนึ่งฮีโร่ผู้อยู่เบื้องหลังในการระบายน้ำออกจากถ้ำหลวง

เปิดใจ "สุรทิน ชัยชมพู" นายกสมาคมน้ำบาดาลไทย เจ้าของฉายา "สยองบาดาล" อีกหนึ่งฮีโร่ผู้อยู่เบื้องหลังในการระบายน้ำออกจากถ้ำหลวง

--------------------------------------------

โดย…วิรวินท์ ศรีโหมด

จบลงไปแล้ว 17 วันของภารกิจกู้ภัยระดับโลก สำหรับเหตุการณ์ค้นหาช่วยเหลือทีมหมูป่าอะคาเดมีแม่สาย ที่เข้าไปติดอยู่ภายในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย

ทว่าแม้เหตุการณ์ประวัติศาสตร์นี้จบลง แต่สังคมโลกยังคงจดจำและชื่นชมเจ้าหน้าที่กว่า 1 หมื่นชีวิต ที่เข้าร่วมปฏิบัติการครั้งนี้ว่าเป็น “ฮีโร่” หนึ่งในนั้นคือ สุรทิน ชัยชมพู หรือ ช่างขวัญ นายกสมาคมน้ำบาดาลไทย หนึ่งในเบื้องหลังสำคัญที่ช่วยลดปริมาณน้ำภายในถ้ำหลวง

วันนี้ นายกสมาคมน้ำบาดาลไทย วัย 53 ปี บุคคลที่ในแวดวงธุรกิจเจาะน้ำบาดาลให้สมญานามว่า "สยองบาดาล"  จะมาเล่าชีวิตอีกด้านที่ไม่มีใครเคยทราบ รวมถึงจุดเริ่มและความรู้สึกการเข้าร่วมภารกิจครั้งสำคัญนี้

จากลูกจ้าง สู่เจ้าของธุรกิจเจาะน้ำบาดาลรายใหญ่ภาคเหนือ

สุรทิน เป็นชาวจังหวัดเชียงใหม่ และเป็นลูกชายคนโตของครอบครัว มีน้องชายหนึ่งคน คุณพ่อทำงานรับราชการที่กรมทาง (ปัจจุบันคือกรมทางหลวง) ส่วนการศึกษาจบระดับชั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง หรือ ปวส. สาขาบัญชี เนื่องจากเปิดโอกาสให้น้องชายที่สอบติดคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้ศึกษาต่อ จึงทำให้เขาตัดสินใจหยุดเรียนเพื่อแบ่งเบาภาระครอบครัว และออกมาทำงานตั้งแต่นั้น

จนเมื่ออายุประมาณ 20 ปี ได้สมัครเข้ารับราชการทหาร แต่ทำได้ไม่นานเพราะรู้สึกว่าเงินเดือนไม่พอเลี้ยงดูครอบครัว จึงตัดสินใจลาออกไปทำงานบัญชีของบริษัทเหมืองแห่งหนึ่งทางภาคเหนือ จนอยู่มาวันหนึ่งมีผู้รับเหมาขอเบิกเงินค่าจ้างเจาะบ่อน้ำบาดาลของเหมือง ซึ่งทำให้เขามองว่าอาชีพนี้สามารถสร้างรายได้มาก เพราะทำงานไม่กี่วันได้ค่าตอบแทนมากกว่าทำงานประจำทั้งปี

ตั้งแต่นั้น สุรทิน จึงเกิดสนใจและไปปรึกษากับเพื่อนที่ทำอาชีพรับจ้างเจาะบ่อบาดาลอยู่แล้ว ก่อนตัดสินใจลาออกจากงานประจำ หันมาทำธุรกิจนี้ตั้งแต่ปี 2531 เริ่มจากใช้รถเจาะขนาดเล็กๆ ผ่านมา 30 กว่าปี ตอนนี้เขามีรถเจาะขนาดใหญ่มากถึง 5 ชุด มูลค่าหลายสิบล้านบาท ถือว่าเป็นผู้รับเหมาเจาะน้ำบาดาลรายใหญ่อันดับต้นๆของภาคเหนือ ส่วนฉายาสยองบาดาล ได้มาจากรับงานทุกรูปแบบไม่ว่าจะยากลำบากแค่ไหน

สำหรับอัตราค่าเจาะหาน้ำบาดาลของ สุรทิน ปัจจุบันอยู่ที่ 1-6 แสนบาทต่องาน อัตราว่าจ้างขึ้นอยู่ความยากง่ายซึ่งประเมินจากความลึก พื้นผิวการเจาะ

"ผมเคยสูญเสียลูกนั่นคือเหตุผลที่ผมต้องไป" สุรทิน ชัยชมพู นักเจาะบาดาลแห่งถ้ำหลวง

เจาะภารกิจ ทะลวงถ้ำช่วยทีมหมูป่า

“ผมไม่ได้อยากสร้างภาพ แต่ตอนนั้นรู้สึกห่วงเด็กๆ เพราะนึกถึงเหตุการณ์ที่ต้องสูญเสียลูกอายุ 2 ขวบ ตอนนั้นมีเงินหลายแสน แต่ไม่สามารถรักษาลูกไว้ได้ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ผมต้องไป”

นายกสมาคมน้ำบาดาลไทย เล่าว่า จุดเริ่มการร่วมภารกิจช่วยทีมหมูป่า ขณะนั้นทำงานอยู่จังหวัดนครราชสีมา เห็นข่าวว่ามีเด็กกลุ่มหนึ่งหายตัวไปในถ้ำตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2561 แต่ไม่ได้คิดอะไรเพราะนึกว่าเดี๋ยวคงช่วยเหลือได้ แต่พอเช้าวันที่ 24 มิถุนายน ก็ยังหาเด็กไม่พบประกอบกับในน้ำกำลังท่วมสูงขึ้น จึงตัดสินใจโทรประสานเพื่อนเพื่อระดมอุปกรณ์ไปช่วยดูดน้ำ

สุรทิน พร้อมทีมงานเดินทางถึงถ้ำหลวงวันที่ 26 มิถุนายน เมื่อไปถึงก็ดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์ทันที แต่ทว่าผ่านไป 3 วันประเมิณว่า ระดับน้ำก็ยังไม่ลด

“ตอนนั้นปริมาณน้ำที่ไหลเข้าถ้ำประมาณ 700-800 ร้อยคิวต่อชั่วโมง (ปริมาณน้ำ 1,000 ลิตร เท่ากับ 1 คิว) และเมื่อเทียบกับอีกฝั่งของถ้ำที่ห่างไป 300-400 เมตรกลับไม่มีน้ำ ผมคิดว่าหากดูดน้ำอย่างเดียวคงไม่พอแล้ว จึงคิดว่าต้องเจาะถ้ำเพื่อเพิ่มทางระบายน้ำ”

จากนั้นเขาเริ่มเดินสำรวจบริเวณโดยรอบ แต่ตอนนั้นมีอุปสรรคหลายอย่าง ทั้งเจาะไม่ตรงจุด รวมถึงถูกเจ้าหน้าที่ตรวจสอบการทำงาน แต่ถึงอย่างไรไม่ย่อท้อจนสามารถเจาะเพิ่มได้ 5 จุด ทำให้เจ้าหน้าที่เห็นว่า วิธีนี้สามารถช่วยทำให้น้ำในถ้ำลดลงได้เพิ่มกว่า 10 เซนติเมตร จากนั้นจึงเริ่มดำเนินการต่อ สุดท้ายจบภารกิจเจาะถ้ำไปทั้งหมด 17 รู ขนาดความกว้างจุดละ 3 นิ้ว ลึก 30-70 เมตร

นายกสมาคมน้ำบาดาลไทย เปิดใจว่า เหตุผลที่ตอนแรกยอมฝ่าฝืนคำสั่ง ตอนนั้นรู้สึกว่าภารกิจเจาะนี้ไม่ยาก หากเทียบกับการทำงาน 30 ปี เนื่องจากพื้นถ้ำที่เจาะส่วนใหญ่เป็นหิน ง่ายกว่าพื้นโคลนมาก แต่อุปสรรคหลักคือการประสานงาน เพราะเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยต้องฟังคำสั่งจากบุคคลเพียงไม่กี่คน บางครั้งอาจทำให้งานล่าช้า แต่เมื่อคิดว่าตอนนั้นเป็นหนทางเดียวในสถานการณ์วิกฤตที่ช่วยระบายน้ำได้ ก็พร้อมทำแม้จะมีปัญหาตามมาภายหลัง

สุรทิน มองว่า สาเหตุที่ทำให้งานประสบความสำเร็จมาจากความตั้งใจและไม่ลดละความพยายาม “นิสัยผมเป็นคนมุทะลุ อันไหนที่ใครบอกว่าทำไม่ได้ ถ้าผมมั่นใจว่าต้องทำได้ ผมจะไม่สนใจ โดยเฉพาะเหตุการณ์วิกฤตแบบนี้ที่ต้องช่วยเด็ก ผมจะไม่ฟังคนอื่น ถ้าหากมั่นใจว่าทำได้ก็จะทำ และกล้ารับผิดชอบหากมีปัญหาเกิดขึ้น”

"ผมเคยสูญเสียลูกนั่นคือเหตุผลที่ผมต้องไป" สุรทิน ชัยชมพู นักเจาะบาดาลแห่งถ้ำหลวง

ความในใจจาก สุรทิน ถึง 13หมูป่า

ตลอดระยะเวลา 15 วันที่สุรทินและทีมงานเจาะถ้ำ ใช้ชีวิตกินนอนอยู่บนรถสิบล้อ เนื่องจากต้องสลับกันทำงานตลอด 24 ชั่วโมง เขาบอกว่าการใช้ชีวิตตอนนั้นไม่รู้สึกลำบาก เพราะกินนอนบนรถเป็นประจำ แต่สิ่งที่เป็นกังวลขณะนั้น คือกลัวลูกน้องเหนื่อยและเครียด จึงพยายามคอยดูแลลูกน้องอยู่ตลอดเพื่อไม่ให้เกิดความเครียด

“ดีกว่าอยู่ใกล้เมียหน่อย หากเมียอยู่จะบ่นและชอบไล่ไปอาบน้ำ กินข้าว แต่ผมชอบแบบนี้มากกว่า ทำงานเหนื่อยๆก็หลับเลย บางครั้งไม่ได้อาบน้ำ 8-9 วันยังอยู่ได้” นายช่างคนนี้ พูดติดตลกเมื่อถูกถามเรื่องการใช้ชีวิตที่ถ้ำหลวง

สุรทิน ทิ้งท้ายว่า วันนี้แม้เป็นผู้ปิดทองหลังพระ แต่รู้สึกดีใจและภูมิใจที่เด็กทุกคนออกมาได้อย่างปลอดภัย และหากมีโอกาสพบกับเด็กๆอยากบอกพวกเขาว่า “ผมไม่ต้องการคำขอบคุณจากน้องๆ แต่อยากให้รู้ว่า สิ่งที่ผมทำนั้นสำเร็จแล้ว ทำให้ทั้ง 13 คนมีลมหายใจและชีวิตเดินต่อไป วันหลังอย่าดื้อ อย่าทำแบบนี้แม้มันเป็นความกล้า แต่วันข้างหน้าพวกหนูอาจไม่โชคดีแบบนี้”

สำหรับภาคกิจครั้งนี้ สุรทิน สละเงินส่วนตัวไปกว่า 3 แสนบาท ซึ่งวันที่เขาเดินทางกลับบ้านเหลือเงินติดกระเป๋าเพียง 1 พัน แต่สิ่งที่เขากล้าพูดอย่างเต็มอกว่าไม่เสียดายเพราะ “สิ่งที่มีค่ามากว่าเงิน 3 แสนบาทนั้น คือ 13 ชีวิตที่ได้กลับคืนมาอย่างปลอดภัย”

"ผมเคยสูญเสียลูกนั่นคือเหตุผลที่ผมต้องไป" สุรทิน ชัยชมพู นักเจาะบาดาลแห่งถ้ำหลวง

"ผมเคยสูญเสียลูกนั่นคือเหตุผลที่ผมต้องไป" สุรทิน ชัยชมพู นักเจาะบาดาลแห่งถ้ำหลวง