posttoday

"ออกซิเจนหมด-ฝนหนักกำลังมา"ภารกิจสุดหินที่ต้องแข่งกับเวลา! เรื่องเล่าจาก"หน่วยซีล"

11 กรกฎาคม 2561

เรื่องราวปฏิบัติการค้นหา 13 ชีวิตในถ้ำอันมืดมิดที่เต็มไปด้วยน้ำ 17วันของภารกิจที่ต้องเผชิญกับอุปสรรคนานัปประการ นี่คือเรื่องเล่าจากผู้บัญชาการหน่วยซีล 

เรื่องราวปฏิบัติการค้นหา 13 ชีวิตในถ้ำอันมืดมิดที่เต็มไปด้วยน้ำ 17วันของภารกิจที่ต้องเผชิญกับอุปสรรคนานัปประการ นี่คือเรื่องเล่าจากผู้บัญชาการหน่วยซีล 

"ถ้าล่าช้าอีก 1-2 วัน ภารกิจจะยากกว่านี้มาก งานนี้สำเร็จได้เพราะพวกเราทุกคน"

พล.ร.ต.อาภากร อยู่คงแก้ว ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ หรือหน่วยซีล เล่าถึงการปฏิบัติภารกิจช่วยทีมหมูป่าระหว่างการแถลงข่าวปิดศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหาย ในวนอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน (ศอร.) อย่างเป็นทางการหลังภารกิจเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 11 ก.ค.

ผู้บัญชาการหน่วยซีล เผยจุดเริ่มต้นในการปกฺบัติภารกิจว่า หลังได้รับการร้องขอให้ส่งกำลังพลหน่วยซีลมาช่วยในภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยในถ้ำหลวง กองทัพเรือก็สั่งการให้ส่งกำลังพลเดินทางมาที่เชียงรายทันที

"ชุดแรก 20 นายมาถึงถ้ำเมื่อเที่ยงคืนครึ่งของวันที่ 25 มิ.ย. และตี4ก็ได้เข้าไปในถ้ำทันที เราเข้าไปจนถึงสามแยก ซึ่งเดิมหน่วยกู้ภัยเข้าไปไม่ได้เพราะทะลุช่องที่น้ำซัดเอาทรายมาทับไม่ได้"

หลังทะลุช่องทางเข้าไปได้ หน่วยซีลได้ดำน้ำจากสามแยกลึกเข้าไปภายในถ้ำ พบรอยเท้า แต่ไม่พบตัวทีมหมูป่าทั้ง 13 ชีวิตท่ามกลางความมืดสนิทที่ล้อมรอบตัว

"ขณะนั้นมีฝนตกหนัก ระดับน้ำในถ้ำเริ่มเพิ่มขึ้น เราต้องถอยร่นออกมาจนถึงโถง3 ได้พยายามสูบน้ำออก แต่สู้น้ำไม่ได้ ผมได้ขอกำลังพลระลอกสองและสามมาช่วย แต่ก็สู้น้ำไม่ได้ เราต้องถอยมาจนถึงปากถ้ำ ช่วงนั้นราววันที่ 7-8 ที่เด็กติดอยู่ในถ้ำ ยอมรับว่าความหวังในการช่วยเหลือก็เริ่มลดลง"

"ออกซิเจนหมด-ฝนหนักกำลังมา"ภารกิจสุดหินที่ต้องแข่งกับเวลา! เรื่องเล่าจาก"หน่วยซีล" พล.ร.ต.อาภากร อยู่คงแก้ว ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ

ตัดสินใจปรับแผน วางขวดอากาศตามเส้นทางบุกสู้น้ำหาตัวหมูป่า

พล.ร.ต.อาภากร เล่าอีกว่า แม้ต่อมาได้มีหน่วยอื่นๆเข้ามาช่วยเรื่องสูบน้ำ แต่น้ำก็ลดไม่มาก วันละ 1-2 เซนติเมตรเท่านั้น

ไม่ว่าจะยากลำบากแค่ไหน แต่เราก็ต้องสู้ เพราะถ้าไม่สู้ความหวังที่จะช่วยน้องก็จะไม่มี เรามุดน้ำเข้าไปที่โถง 3 พบว่า ยังมีที่ว่างที่เราจะตั้งกองบัญชาการส่วนหน้าได้ แม้การเข้าไปจะสาหัส เพราะทั้งเดิน ลุยน้ำ ดำน้ำ ปีนโขดหิน

เมื่อตั้งกองบัญชาการได้ การเดินหน้าภารกิจจึงเป็นการจัดสินใจสู้กับน้ำ ด้วยการนำขวดอากาศมาวางเรียงไปในน้ำเพื่อเอาไว้สับเปลี่ยนเติมอากาศขณะดำน้ำเข้าไปภายใน ในช่วงแรกได้รับบริจาคจากภาคเอกชน 200 ขวด ต่อมาจึงได้รับพระราชทานเพิ่มอีก 200 ขวด รวมทั้งอุปกรณ์ดำน้ำ

"เราจะเป็นมนุษย์น้ำ เราต้องสู้ให้น้องออกมาให้ได้ ทีมดำน้ำแต่ละคนนำขวดอากาศไป 3 ขวด ขวดไหนหมดก็เปลี่ยน นี่คือวันแรกที่เราตั้งมั่นว่าจะช่วยน้องให้ได้"

เราโชคดีที่มีเพื่อนๆนานาชาติเข้ามาช่วย มีนักดำน้ำจากหลายประเทศ ได้แก่ จากสหรัฐ ออสเตรเลีย จีน เครือสหภาพยุโรป โดยเฉพาะกลุ่มสุดท้ายเป็นผู้เชี่ยวชาญการดำน้ำในถ้ำโดยตรง กลุ่มนี้สำคัญมาก ซึ่งสุดท้ายก็ได้พบทั้ง 13 ชีวิตภายในถ้ำ

"ออกซิเจนหมด-ฝนหนักกำลังมา"ภารกิจสุดหินที่ต้องแข่งกับเวลา! เรื่องเล่าจาก"หน่วยซีล"

ออกซิเจนใกล้หมด บีบให้ต้องรีบนำทีมหมูป่าออก

หลังจากสามารถฝ่าฟันอุปสรรคเข้าไปจนพบ ทีมหมูป่าทั้ง 13 ชีวิตแล้ว หน่วยซีลก็พบว่าภารกิจที่ยากที่สุดอาจเพิ่งเริ่มขึ้นเท่านั้น

"เรามาเจอข้อจำกัด เนื่องจากอากาศในนั้นลดลง ออกซิเจนลดลง เราตรวจพบปริมาณออกซิเจนเหลือ 15% เราวิตกกังวลมาก พยายามหาออกซิเจนไปเติม ขณะที่อีกด้านฝนที่ตกลงมาก็เติมน้ำในถ้ำ เรารู้เลยว่าสู้กับธรรมชาติได้ยาก"ผู้บัญชาการหน่วยซีลระบุ

ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้บัญชาการ ศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหาย ในวนอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน (ศอร.) ขยายความเรื่องนี้ว่า หากออกซิเจนเหลือ 12% เด็กๆจะเกิดอาการโคม่า เพราะการหายใจอย่างปกติต้องมีออกซิเจนในอากาศอย่างน้อย 25% ขณะที่อีกด้านฤดูฝนของภาคเหนือกำลังมา ซึ่งฝนจะมาหนัก จุดที่เด็กๆยืนอยู่มีพื้นที่เพียง 25 ตารางเมตรเท่านั้น หากน้ำเติมลงมามากก็อาจท่วมทั้งหมดได้ นี่คือปัจจัยที่บีบให้ต้องทำงานแข่งกับเวลา

หลังผ่านการพิจารณาร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ไทยและผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ ผู้บัญชาการศอร.จึงตัดสินใจอนุมัติให้มีปฏิบัติการสุดท้ายในการเคลื่อนย้ายเด็กๆออกมา

 

 

"ออกซิเจนหมด-ฝนหนักกำลังมา"ภารกิจสุดหินที่ต้องแข่งกับเวลา! เรื่องเล่าจาก"หน่วยซีล"

 

เผยวิธีลำเลียงหมูป่าออกราวไข่ในหิน

ผู้บัญชาการหน่วยซีลเล่าถึงวิธีการนำทีมหมูป่าออกมาจากถ้ำว่า ได้ใช้เครื่องช่วยหายใจเต็มหน้า มีท่อปล่อยอากาศ และมีแบบพิเศษกับน้องๆ ซึ่งเป็นวิธีใหม่ที่นักเชี่ยวชาญดำน้ำนานาชาติใช้ ซึ่งตนก็เพิ่งรู้ และน้องๆ เขาจะปรับระบบของเขา

การลำเลียง เป็นลักษณะ 2 ต่อ 1 คือ นักดำน้ำสองคนเด็ก 1 คน ค่อยๆ ทยอยลำเลียง ส่วนน้องๆจะอยู่นิ่งๆ บางช่วงก็ต้องดำน้ำ บางช่วงก็ต้องหลบซอกหิน บางช่วงน้ำตื้น กระทั่งจากเนินนมสาว ถึงโถง 3 เราไม่อยากให้น้องๆ เดินมาถึงปากถ้ำ เพราะต้องเหนื่อยมาก ช่วงนั้นเราให้น้องๆนอนในเปลที่เราใช้เพื่อไม่ให้น้องหลุดจากแปล

บางช่วงขึ้นเนินมีน้ำ เราต้องชักรอก ทำหลายวิธี จากโถง 2 มาถึงโถง 1 ใช้คน 100 กว่าคน มีทีมต่างๆ แบ่งกันชัด เช่น จีน ช่วยชักรอก ออสเตรเลีย หน่วยรบพิเศษ อเมริกา น้องเหมือนไข่ในหิน ทุกจุดมีพยาบาลคอยเช็ค ความดัน ชีพจร เมื่อผ่านโถงต่างๆ เรียกได้ว่าเช็คเหมือนไข่ในหิน สุดท้ายก็ปลอดภัย

"ออกซิเจนหมด-ฝนหนักกำลังมา"ภารกิจสุดหินที่ต้องแข่งกับเวลา! เรื่องเล่าจาก"หน่วยซีล"

"คืนที่เราสูญเสีย" เมื่อ"จ่าแซม"ไม่กลับมา

น.อ.อนันต์ สุราวรรณ์ ผู้บังคับการกรมรบพิเศษที่ 1 เผยคืนที่ต้องสูญเสีย จ.อ.สมาน กุนัน หรือ "จ่าแซม" นักทำลายใต้น้ำจู่โจมนอกราชการ ได้เสียชีวิตขณะปฏิบัติภารกิจช่วยทีมหมูป่าว่า คืนวันนั้น จ่าแซมรับอาสาไปวางขวดอากาศร่วมกับทีมดำน้ำต่างชาติ มีทีมต่างชาติ 4 คน จ่าแซมไปกับคู่บัดดี้ซึ่งเป็นหน่วยซีล 1 คน

"หลังออกปฏิบัติการ ทีมต่างชาติใช้เวลา 3 ชม. จึงกลับมาฐานที่โถง3ภายในถ้ำ แต่จ่าแซมกับคู่บัดดี้ยังไม่กลับมา ผมคาดว่าไม่เกิน 5 ชม.ก็คงกลับ แต่เมื่อเวลาผ่านไป 5 ชม.ก็แล้ว 7 ชม.ก็แล้ว ทั้งสองคนก็ยังไม่กลับ"

"จากข้อมูลเราพบว่าการดำน้ำจากโถง3 ไป400 เมตร มีจุดน้ำตื้นที่สามารถเดินได้ ก็เชื่อใจว่าลูกน้องอาจพักอยู่บริเวณนั้น กระทั่ง ตี1 คู่บัดดี้ได้ดำน้ำกลับมาที่โถง 3 คนเดียว และแจ้งว่าเกิดเหตุไม่ดีขึ้น คืนนั้นเป็นคืนที่เราสูญเสีย"

"ออกซิเจนหมด-ฝนหนักกำลังมา"ภารกิจสุดหินที่ต้องแข่งกับเวลา! เรื่องเล่าจาก"หน่วยซีล"

ช่วงเวลาแห่งความเครียด ทีมซีลขาดการติดต่อ 23 ชั่วโมง

น.อ.อนันท์ สุราวรรณ์ ผู้บังคับการกรมรบพิเศษที่1 ได้เล่าเหตุการณ์ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ว่า หลังจากทีมอังกฤษที่เข้าไปพบหมูป่า13คน และดำน้ำกลับออกมาเพื่อสับเปลี่ยนกำลัง ก็ได้ส่งชุดซีลเข้าไป 3 คน พร้อม หมอภาคย์ (พันโท นายแพทย์ ภาคย์ โลหารชุน) เพื่อนำเสบียงและอุปกรณ์ที่จำเป็นเข้าไปให้เด็กๆ

"ปรากฏว่า ทีมนี้ขาดการติดต่อไป 23 ชั่วโมง นี่คือความเครียด เราไม่รู้อยู่หรือตาย จนกระทั่ง 23 ชั่วโมงผ่านไปชุดซีล 3 คนถึงกลับมาส่วนหมอภาคย์อยู่กับเด็กๆด้านใน ทีมที่ดำเข้าไปใช้ขวดอากาศถึง 4 ถัง"

ผู้บังคับการกรมรบพิเศษที่ 1 ได้สรุปความยากของภารกิจนี้ว่ามี 4 ข้อคือ 1.ความมืดภายในถ้ำ 2.เป็นงานใหม่ที่หน่วยไม่เคยมีประสบการณ์มากก่อน 3.ความเย็นของน้ำในถ้ำ 4.ไม่รู้ว่าน้ำจะมาอีกเมื่อไหร่ เหล่านี้เป็นความเสี่ยงที่ต้องคิดอยู่ตลอดเวลา

"แต่งานนี้ถือเป็นโอกาสดีของหน่วยผมที่ได้ร่วมงานกับทีมดำน้ำระดับโลก ทำให้เห็นเทคนิคต่างเพื่อนำไปพัฒนาขีดความสามารถในการรับมือกับภัยต่างๆในอนาคต"น.อ.อนันท์กล่าว

"ออกซิเจนหมด-ฝนหนักกำลังมา"ภารกิจสุดหินที่ต้องแข่งกับเวลา! เรื่องเล่าจาก"หน่วยซีล"

***********************************

นี่คือภารกิจที่ยากจะเป็นไปได้ แต่ก็เป็นไปแล้วจากการร่วมมือร่วมใจของผู้คนจากหลายเชื้อชาติหลากภาษา เป็นความสามัคคีที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกันที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์โลก

ภาพจาก Thai NavySEAL