posttoday

จ่อชงครม.เพิ่มเงินบัตรคนจนเดือนละ 500บาท ค่าขึ้นรถไฟฟ้า

05 กรกฎาคม 2561

กรมบัญชีกลางเตรียมชงครม.เพิ่มเงินบัตรผู้มีรายได้น้อยเดือนละ 500บาท ค่าขึ้นรถไฟฟ้า เผยยอดใช้บัตรคนจนเดินทาง8 เดือนแรกทะลุ200 ล้านบาท

กรมบัญชีกลางเตรียมชงครม.เพิ่มเงินบัตรผู้มีรายได้น้อยเดือนละ 500บาท ค่าขึ้นรถไฟฟ้า เผยยอดใช้บัตรคนจนเดินทาง8 เดือนแรกทะลุ200 ล้านบาท

น.ส.สุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยภายหลังลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในการพัฒนาระบบตั๋วร่วมเพื่อรองรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐตามนโยบายของรัฐบาลในการช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยว่าปัจจุบันมีประชาชนที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 1.3 ล้านใบ ในเขต 7 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม โดยสามารถใช้เดินทางในระบบขนส่งได้เดือนละ 1,000 บาทแบ่งเป็น รถไฟของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จำนวน 500 บาทต่อคนต่อเดือน และรถโดยสารประจำทางของบริษัท ขนส่ง จำกัด(บขส.) จำนวน 500 บาทต่อคนต่อเดือน อย่างไรก็ตามในอนาคตภายหลังจากที่บัตรสวัสดิการแห่งรัฐสามารถใช้ร่วมกับรถเมล์ ขสมก. และรถไฟฟ้าภายในปลายปีนี้นั้นฝ่ายนโยบายจะมีการเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อเพิ่มค่าเดินทางในระบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีม่วงอีกเดือนละ500 บาท ขณะเดียวกันยังมีแผนที่จะให้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สามารถใช้ร่วมกับเรือโดยสารได้ด้วยในอนาคต ซึ่งจะต้องมีการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันซึ่งเป็นบัตรแบบ 2 ชิปการ์ด โดยจะมีสัญลักษณ์แมงมุมบริเวณมุมขวาล่างด้านหลังบัตร ทั้งนี้ ภายในบัตรดังกล่าวจะมีวงเงินที่สามารถใช้กับรถไฟฟ้า MRT และเป็นวงเงินเดียวกับใช้บริการรถเมล์ ขสมก. จำนวน 500 บาทต่อคนต่อเดือน ทั้งนี้ในส่วนของการใช้บัตรกับรถไฟฟ้า MRT วงเงิน 500 บาทต่อคนต่อเดือนนั้น หากมีการใช้เกินจากวงเงินที่รัฐบาลให้ จะสามารถติดลบได้ 1 ครั้ง และจะถูกหักยอดติดลบในวงเงินของเดือนถัดไป


น.ส.สุทธิรัตน์กล่าวต่อว่า ข้อมูลล่าสุดของผู้ใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐในการเดินทางโดยรถไฟ รฟท. เฉลี่ยวงเงิน 20 ล้านบาทต่อเดือน และรถ บขส. 5 ล้านบาทต่อเดือน ส่งผลให้ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมาผู้ใช้บัตรผู้มีรายได้น้อยจ่ายค่าเดินทางแล้ว200ล้านบาท ขณะที่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เดือน เม.ย. 2561 ที่ผ่านมามีผู้ใช้บัตรกับรถไฟ 30 ล้านบาท และรถ บขส. 6 ล้านบาท


นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาส ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) เปิดเผยว่า จากปัจจุบันที่มีการเป็นการคิดค่าโดยสารทันทีที่แตะบัตรแต่ในส่วนของบัตร EMV จะรวบรวมทุกการเดินทางในทุกชนิดของประเภทการเดินทาง 1 วัน โดยเป็นการบันทึกระบบบัญชีเนื่องจากบัตร EMV ที่เป็นระบบบัตรเครดิต บัตรเดบิต ที่จะเรียกเก็บกับธนาคารที่ออกบัตรและธนาคารกรุงไทยก็จะทำการแจ้งไปยังธนาคารที่ออกบัตรเพื่อเรียกชำระเงินค่าโดยสารต่อไปซึ่งจะเป็นการเรียกเก็บตามรอบบัตรเครดิตของแต่ละธนาคาร และระบบ Pre-Paid จึงสามารถรองรับทุกกลุ่มรายได้ที่จะใช้บริการ ในส่วนของบัตร MRT Plus จะมีการเปลี่ยนเป็นการใช้บัตรแมงมุมและบัตรที่จะมีการผลิตออกมาใหม่จะมีค่าธรรมเนียมออกบัตร 30 บาท

ทั้งนี้ทาง รฟม.จะมีการดำเนินการในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและรถไฟฟ้าสายสีม่วงโดยจะมีการจัดจ้าง BEM ดำเนินการในการปรับอ่านบัตร EMV ให้สามารถอ่านได้ทั้งบัตรแมงมุมและบัตร EMV ซึ่งจะใช้งบลงทุนในการดำเนินการประมาณ 500 ล้านบาท ในส่วนของธนาคารกรุงไทยก็จะต้องไปดำเนินการจัดทำระบบการชำระดุล สำหรับขณะนี้มีการแจกบัตรแมงมุมไปแล้วจำนวน 140,000 ใบ ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 50,000 จะมีการนำไปแจกในช่วงเดือน ต.ค.นี้ ที่จะมีการเปิดตัวการใช้บริการบัตรแมงมุมร่วมกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิ้งก์ และรถเมล์ ขสมก. ส่วนของกรณีของรถไฟฟ้า BTS ที่ขณะนี้ยังไม่เข้าร่วมโครงการตั๋วร่วมนั้นก็เข้าใจว่าทางBTS มองว่าน่าจะรอปรับปรุงหัวอ่านครั้งเดียวตอนปรับเป็นหัวอ่านบัตร EMV เพราะทาง BTS ก็มีผู้ถือบัตร Rabbit อยู่แล้วถ้าเป็นช่วงระยะเวลาสั้นในการเปลี่ยนระบบหลายครั้งเกรงว่าผู้ถือบัตรจะสับสนจึงน่าจะรอเปลี่ยนครั้งเดียว


นายภคพงศ์ กล่าวถึงกรณีที่ บีทีเอส ยังไม่เข้าร่วมกับตั๋วร่วมนั้นมองว่า ทางบีทีเอสรอความพร้อมของบัตรEuropay, MasterCard และ Visa (EMV.) เวอร์ชั่น2ที่จะใช้ได้ภายในเดือนธันวาคม ปี2562เนื่องจากขณะนี้ บีทีเอส มีฐานผู้ใช้บัตรแรบบิทอยู่เป็นจำนวนมาก หากบีทีเอสต้องมาร่วมใช้ตั๋วร่วมขณะนี้ นั้นจะทำให้ผู้ถือบัตรเกิดความสับสน. เนื่องจากปลายปี62จะต้องเปลี่ยไปใช้บัตรEMVทั้งหมด