posttoday

"ติดเหมืองชิลี 69 วันยังรอด ฉะนั้นเรามีความหวังเต็มเปี่ยม" สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรโยธา

02 กรกฎาคม 2561

วิเคราะห์ความยาก-ง่ายของภารกิจช่วยเหลือ 13 ชีวิตติดถ้ำหลวงเมื่อเปรียบเทียบกับเหตุการณ์เหมืองถล่มคนงานติดใต้ดินที่ชิลี

วิเคราะห์ความยาก-ง่ายของภารกิจช่วยเหลือ 13 ชีวิตติดถ้ำหลวงเมื่อเปรียบเทียบกับเหตุการณ์เหมืองถล่มคนงานติดใต้ดินที่ชิลี

ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังและผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรโยธา ให้ความเห็นกับโพสต์ทูเดย์ถึงกรณีการช่วยเหลือกลุ่มเยาวชนทีมฟุตบอลหมูป่าพร้อมผู้ฝึกสอนที่ติดอยู่ภายในถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับ 13 ชีวิตทีมหมูป่าที่ถ้ำหลวง จ.เชียงราย หากเปรียบเทียบกับเหตุการณ์เหมืองทองแดงกลางทะเลทรายอาตากามา เมืองซานโฮเซ ที่ประเทศชิลีถล่มเมื่อปี 2553 จะเห็นว่า ชาวไทยยังมีความหวังอีกมาก

เหมืองที่ชิลีถล่มปิดทางเข้าออกขณะที่มีคนงาน 33 คนติดอยู่ใต้ดิน ลึกลงไปถึง 700 เมตร ขาดการติดต่อทุกรูปแบบ ทีมกู้ภัยได้เริ่มเจาะรูขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 นิ้ว จากด้านบนลงสู่ตำแหน่งที่คาดว่าอาจพบผู้รอดชีวิต ซึ่งใช้เวลาหลายวันกว่าเครื่องเจาะจะทะลุลงไปถึง โดยได้เจาะพร้อมกันหลายตำแหน่ง ท่ามกลางข้อจำกัดที่เป็นหินแข็ง ทั้งเจาะยาก และลึกมาก ยิ่งไปกว่านั้นชิลีอยู่ในพื้นที่แผ่นดินไหว ยิ่งเสี่ยงอันตรายเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ

แต่ในที่สุดตำแหน่งรูเจาะหนึ่งได้ทะลุถึงแนวใกล้เคียงผู้รอดชีวิต เมื่อทุกคนได้ยินเสียงเจาะ จึงเข้าหาตำแหน่งเจาะทะลุ และส่งข้อความกลับขึ้นมาว่า “เราทุกคนปลอดภัย (กลุ่ม 33)” จากวินาทีนั้น ทั้งเสบียง อุปกรณ์ดำรงชีพ ถูกส่งลงไปตามรูเจาะ จนในที่สุดทีมช่วยเหลือสามารถนำทั้ง 33 ชีวิตขึ้นมาได้โดยปลอดภัยทุกคน สิ้นสุดการติดอยู่ใต้ดินถึง 69 วัน

"ติดเหมืองชิลี 69 วันยังรอด ฉะนั้นเรามีความหวังเต็มเปี่ยม" สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรโยธา

จากเหตุการณ์ดังกล่าวเมื่อเปรียบเทียบกับกรณีของทีมหมูป่าที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง ภารกิจการช่วยชีวิตนั้นมีทั้งส่วนที่ง่ายและยากกว่า

ดร.สุชัชวีร์ บอกว่า ที่ง่ายกว่าคือยังมีปากถ้ำให้เข้าไปช่วยเหลือ แม้น้ำจะท่วมสูง แต่ก็กำลังสูบเต็มที่เพื่อลดระดับน้ำ ต่างจากเหมืองชิลีที่ทางเข้าออกถล่มจนมืดสนิท จึงต้องเจาะหินลงไปถึง 700 เมตร เพื่อช่วยเหลือด้วยวิธีเดียวเท่านั้น อีกทั้งสภาพทางธรณีวิทยาของถ้ำหลวงส่วนใหญ่เป็นหินปูนจึงอ่อนกว่าหินอัคนีที่เหมืองชิลี

ขณะที่ความยากและซับซ้อนกว่าเป็นเรื่องของ สภาพภูมิอากาศ ที่มีฝนตกหนักตลอดหลายวันที่ผ่านมา สภาพภูมิประเทศที่เป็นภูเขา ป่าไม้ มีความลาดชันสูง ทั้งหมดกลายเป็นอุปสรรคต่อการลำเลียงหัวเจาะและติดตั้งได้ลำบาก นอกจากนั้นในเรื่องคน ที่ชิลีคนงานเหมืองมีการเตรียมตัว มีแผนรองรับกับอุบัติเหตุ และมีขั้นตอนการปฏิบัติช่วยเหลือที่ชัดเจนกว่า

“ถึงแม้ว่าปฏิบัติการช่วยชีวิตจะยากสักเพียงใด ผมมั่นใจว่าทีมกู้ภัยไม่มีย่อท้อ ให้คิดถึงกรณีเหมืองชิลีที่ยากแสนสาหัส ก็ยังสำเร็จได้ ของเขา 69 วัน ของเรา 10 วัน เพราะฉะนั้นเรามีความหวังเต็มเปี่ยม มีความเป็นไปได้สูงที่เราจะทำภารกิจสำเร็จและปลอดภัย”

ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรโยธา ยืนยันด้วยว่า จากสถานการณ์และสภาพแวดล้อมที่ปรากฎในพื้นที่ถ้ำหลวง เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายทำหน้าที่ได้ดีที่สุดแล้ว ไม่ควรตำหนิแต่อย่างใด กลับกันยังควรให้กำลังใจและพูดในทางบวกเพราะจากสถิติเรามีความหวังอย่างแท้จริง

"ติดเหมืองชิลี 69 วันยังรอด ฉะนั้นเรามีความหวังเต็มเปี่ยม" สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรโยธา

"ติดเหมืองชิลี 69 วันยังรอด ฉะนั้นเรามีความหวังเต็มเปี่ยม" สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรโยธา