posttoday

โพลเผยคนไทยประทับใจเห็นภาพผู้คนช่วยเหลือเกื้อกูลกรณีเด็กติดถ้ำหลวง

01 กรกฎาคม 2561

ซูเปอร์โพลเผยความสุขมวลรวมของประชาชนพุ่งสูง เมื่อเห็นภาพความช่วยเหลือเกื้อกูลกันของผู้คนกรณีช่วยเหลือเด็กติดถ้ำหลวง

ซูเปอร์โพลเผยความสุขมวลรวมของประชาชนพุ่งสูง เมื่อเห็นภาพความช่วยเหลือเกื้อกูลกันของผู้คนกรณีช่วยเหลือเด็กติดถ้ำหลวง

เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการ สำนักวิจัยซูเปอร์โพล(SUPER POLL) มูลนิธิสถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ เปิดเผยผลสำรวจ เรื่องความสุขมวลรวมของประชาชน ประจำเดือน มิถุนายน 2561 กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพ จำนวน 1,631 ตัวอย่าง โดยดำเนินโครงการระหว่าง วันที่ 24-30 มิ.ย. ที่ผ่านมาสรุปผลได้ดังนี้

เมื่อถามถึงความสุขมวลรวมของประชาชนในด้านต่างๆ เมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน พบว่า ความสุขมวลรวมของประชาชนสูงสุดถึง 9.34 เมื่อประชาชนเห็นภาพความช่วยเหลือเกื้อกูลของคนไทย ช่วยค้นหาเด็กนักเรียนติดถ้ำหลวง รองลงมาคือความสุขต่อครอบครัว ได้ 8.96 คะแนน ความสุขต่อสุขภาพใจของประชาชนได้ 7.89 ความสุขทางกายได้ 7.83 ความสุขต่อชุมชนที่พักอาศัยได้ 7.72 ในขณะที่ความสุขเมื่อนึกถึงเงินในกระเป๋าของประชาชนได้ต่ำสุดคือ 6.03

อย่างไรก็ตามความสุขเมื่อนึกถึงเงินในกระเป๋าของประชาชนนี้ เพิ่มสูงขึ้นจากเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ที่เคยได้เพียง 5.24 คะแนนเท่านั้น นอกจากนี้ความสุขมวลรวมในการสำรวจครั้งนี้อยู่ที่ 8.17 คะแนน

เมื่อถามถึงความเห็นต่อการให้ ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน เป็นแหล่งเรียนรู้สิ่งดีๆ ของประเทศ และของประชาชนสืบต่อๆ กัน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 92.2 เห็นด้วย ในขณะที่ร้อยละ 7.8 ไม่เห็นด้วย

ที่น่าสนใจ คือ เมื่อถามถึงภาพความทรงจำด้านต่างๆ ที่ควรแสดงให้ประชาชนในอนาคตได้เรียนรู้ จากการช่วยเหลือเด็กนักเรียนติดถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน นี้ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 78.9 ระบุเป็นภาพของความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนในชาติ ช่วยเหลือเด็กนักเรียนติดถ้ำหลวง รองลงมาคือ ร้อยละ 75.7 ระบุเป็นภาพเรื่องราว บอกเล่า เชิงประวัติศาสตร์ของถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน ร้อยละ 63.5 ระบุเป็นภาพแสดงความเชื่อ ความศรัทธา และความหวังของประชาชน ร้อยละ 63.1 ระบุเป็นภาพแสดงทัศนคติที่ดีต่อกันของคนไทยและชาวต่างชาติ ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ร้อยละ 60.8 ระบุภาพข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ชั้นผู้น้อยทุกระดับและภาคประชาชน ทุ่มเท เหน็ดเหนื่อยด้วย จิตอาสา สามัคคีค้นหาเด็กนักเรียนติดถ้ำ ร้อยละ 60.0 ระบุภาพการอนุรักษ์ รักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร้อยละ 59.4 ระบุ ภาพของคนท้องถิ่น ในพื้นที่ เฝ้าดูแลรักษา ถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน และร้อยละ 58.8 ระบุ ภาพแสดงบทบาท สังคมโซเชียลที่ดี เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมในเหตุการณ์ฉุกเฉิน

นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 90.1 ระบุหน่วยงานรัฐควรปรับปรุงเส้นทางถนนให้สะดวกและปลอดภัย ในการเดินทางไปเรียนรู้ ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน สำหรับประชาชนรุ่นต่อๆ ไปในอนาคต ในขณะที่ร้อยละ 9.9 ระบุ ไม่ควร