posttoday

เสนอแผนแปรรูป-สร้างโกดังเก็บยางแก้ราคาตกต่ำ

23 มิถุนายน 2561

การประชุมสมาคมประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติ สมาชิก 9 ประเทศ หารือเกี่ยวกับสถานการณ์ราคายางตกต่ำ

โดย...อัสวิน ภฆวรรณ

การประชุมสมาคมประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติ (ANRPC) ซึ่งการยางแห่งประเทศไทย  (กยท.) เชิญสมาชิก 9 ประเทศ จาก 12 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย เวียดนาม บังกลาเทศ อินเดีย อินโดนีเซีย กัมพูชา มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และศรีลังกา มาร่วมประชุมเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกในการหาแนวทางแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง

การหารือร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกในครั้งนี้ เป็นการหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ราคายางตกต่ำ ซึ่งเป็นปัญหาต่อเกษตรกรชาวสวนยางพาราทุกประเทศ แต่ปัญหาดังกล่าวไม่ได้มาจากการที่ปริมาณยางล้นตลาด แต่เกิดจากการซื้อขายกันที่ตลาดยางเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดที่มีการซื้อขายเก็งกำไรล่วงหน้า โดยที่ประชุมได้หารือร่วมกันเพื่อจะหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำโดยพัฒนาระบบห่วงโซ่อุปทาน

โดยการประชุมครั้งนี้จัดขึ้นที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา

ในมุมมองของ อุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทย (สยยท.) มองว่า ตลาดซื้อขายล่วงหน้าเก็งราคาซื้อขายล่วงหน้ากันถึง 3 เดือน และ 6 เดือน ถ้าปล่อยอย่างนี้ต่อไปวงการยางจะพัง

อุทัย ได้เสนอวิธีการป้องกันราคายางพารา โดยจะต้องลงทุนงบประมาณ ตั้งแวร์เฮาส์หรือโกดังเก็บยาง ให้สามารถเก็บยางได้นานถึง 20 ปี จำนวน 2 แห่ง คือ ที่ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี และท่าเรือน้ำลึกสงขลา จ.สงขลา ซึ่งสามารถทำได้ทั้งยางรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางข้น

ประธาน สยยท. เสนอว่าให้เกษตรกรรวมตัวกันทำยางแผ่นดิบ โดยยึดรูปแบบแนวทางของตลาดกลาง จ.ระยอง ซึ่งผลิตยางคุณภาพชั้นดี โดยได้ราคาสูงกว่าราคาของตลาดกลางยางพารา แห่งประเทศไทย ประมาณกิโลกรัมละ 3.70 บาท ให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันนำยางเข้าแวร์เฮาส์ แล้วเก็บยางขายทางออนไลน์

"การซื้อขายทางออนไลน์ ผู้ซื้อจะต้องทำแอลซี แล้วส่งยางให้ทันที จะดีกว่าเอาเงินไปสนับสนุนอื่นๆ เช่น ชดเชยยาง หยุดกรีด โค่นยาง ที่ไม่เป็นผลถาวรยั่งยืน รัฐบาลต้องฟัง ให้ดูตลาดกลางยาง จ.ระยอง เป็นตัวอย่าง หาไม่แล้ววงการยางจะพังกับตลาดล่วงหน้า"

อุทัยเสนอว่า หากดำเนินการตามแนวทางนี้ ทั่วโลกจะเข้ามาซื้อยางพาราของประเทศไทย เพราะทั้งโลก ไทยเป็นผู้ผลิตยางรมควันแต่เพียงผู้เดียว โดยเฉพาะผู้ผลิตล้อยาง จะเข้ามาซื้อ รัฐบาลจะต้องดำเนินการเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส ไม่อย่างนั้นตลาดล่วงหน้าจะกลืนหมด

"ปัจจุบันไทยมีส่วนแบ่งส่งยางในตลาดโลก 35% หากรวมเข้ากับมาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม จะเป็น  90% ของทั้งโลก จากจำนวน 13 ล้านตัน/ปี"

ด้าน กัมปนาท วงศ์ชูวรรณ ผู้จัดการกลุ่มเกษตรกรธารน้ำทิพย์ สถาบันเกษตรกรผู้ผลิตและแปรรูปยางพาราส่งออกรายใหญ่แห่ง อ.เบตง จ.ยะลา เห็นว่า ปัญหาราคายางต้องยอมรับว่าตลาดซื้อขายล่วงหน้าทำให้เกิดปัญหาราคายาง และปัญหาภาษีการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ จนส่งผลกระทบราคายาง

"เฉพาะตลาดซื้อขายล่วงหน้าของตลาดโลก ปริมาณซื้อขายในแต่ละวันจะมีเป็นจำนวนมาก ในบางวันมีการซื้อขายสูงถึง 5 ล้านตัน แล้วก็มีการเทขาย เอาปริมาณกำไรที่น้อยจนส่งผล กระทบไปทั่ว"

ด้าน เยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการผู้ว่าการ กยท. กล่าวว่า ได้หาแนวทางในการช่วยฟื้นฟูโรงงานผลิตยางของ กยท. โดยการสนับสนุนและส่งเสริมให้กลุ่ม หรือสถาบันเกษตรกรที่เป็นลูกข่ายในแต่ละแห่ง ให้สามารถกลับมาผลิตยางที่มีคุณภาพ ทั้งยางแท่ง ยางแผ่นรมควัน และยางแผ่นรมควัน GMP เพื่อนำมาป้อนให้กับตลาดกลางยางพาราทั้ง 6 แห่ง ซึ่งจะมีการรับซื้อในราคาที่เป็นธรรม โดยมีการคำนวณมาจากต้นทุนและกำไรที่ควรจะได้รับก่อนที่จะมีการรวบรวม และเปิดประมูลให้กับกลุ่มผู้ซื้อ ซึ่งจะทำให้สามารถ ต่อรองราคาเพิ่มมากขึ้น

รักษาการผู้ว่าการ กยท. กล่าวอีกว่า กยท.ยังได้เริ่มต้นโครงการแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ซึ่งเริ่มต้นในภาคอีสาน โดยการใช้กลไกเปิดรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรชาวสวนยางในราคาที่สูงกว่าเจ้าอื่น 10 สตางค์ ในแต่ละพื้นที่ เพื่อนำมาแปรรูป และเปิดประมูล หรือส่งขายให้กับกลุ่มผู้ซื้อ คาดว่าจะสามารถช่วยให้ราคายางสามารถกระเตื้องขึ้นมาได้ในอีกระดับหนึ่ง ซึ่งหากได้ผลดีก็จะมีการนำมาปรับใช้ทั่วประเทศ