posttoday

มูลนิธิสืบฯหนุนร่างกรอบมาตรการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย-ทำกินในพื้นที่ป่าไม้

21 มิถุนายน 2561

มูลนิธิสืบนาคะเสถียรออกแถลงการณ์เห็นด้วยร่างกรอบแก้ปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าของคทช. แต่ห่วงไม่นำมาปฏิบัติจริง

มูลนิธิสืบนาคะเสถียรออกแถลงการณ์เห็นด้วยร่างกรอบแก้ปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าของคทช. แต่ห่วงไม่นำมาปฏิบัติจริง

เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ออกแถลงการณ์ เห็นด้วยกับที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) แนวทางแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าไม้ทุกประเภท

โดยระบุว่า สืบเนื่องจากที่ได้มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ครั้งที่ 2 /2561 เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2561 และได้มีการแถลงผลมติที่ประชุมในประเด็นสำคัญคือ การเห็นชอบพื้นที่เป้าหมาย และร่างกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าไม้ (ทุกประเภท) ในส่วนที่ไม่ได้นำมาดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายของรัฐบาลทั้งในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และพื้นที่ป่าอนุรักษ์ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งในร่างกรอบมาตรการดังกล่าว เพราะจะทำให้เกิดกระบวนการในการแก้ไขปัญหาที่ดินในป่าที่ชัดเจนและยั่งยืน เนื่องจากปัญหาที่ดินทำกินที่ทับซ้อนในเขตป่า มีความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับหน่วยงานอนุรักษ์มาอย่างยาวนาน

ทั้งนี้มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ยังแสดงความกังวลว่าหากกระบวนการแก้ไขปัญหาตามร่างกรอบและมาตรการดังกล่าวไม่ถูกนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง ขาดความต่อเนื่อง ไม่มีรูปแบบในการปฏิบัติงานที่ชัดเจนและทันท่วงทีต่อสถานการณ์ จะกลับเป็นการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกินในพื้นที่ป่าแบบในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหาเดิม และอาจทำให้เกิดการสูญเสียพื้นที่ป่าเพิ่มมากขึ้นปัญหาซ้ำรอยเดิมไม่รู้จบ

แนวคิดหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาชุมชนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ คือ โครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วมในผืนป่าตะวันตก หรือโครงการจอมป่า ตั้งแต่ปี 2547 โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อให้คน ป่า และสัตว์ป่าอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน โดยมีมูลนิธิสืบฯ รับหน้าที่เป็นคนกลางประสานงานระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่รัฐ ลงพื้นที่ทำงานกับชุมชนในผืนป่าตะวันตกทั้ง 131 ชุมชน จากทั้งหมด 17 พื้นที่คุ้มครอง จอมป่าโมเดลนี้มีแนวคิดพื้นฐานในการดำเนินงาน 3 เรื่องหลัก คือ

1. การสำรวจพื้นที่ใช้ประโยชน์ชุมชน เน้นวงรอบที่ใช้ประโยชน์จริงในปัจจุบัน และสร้างกลไกการสำรวจอย่างมีส่วนร่วม เกิดการตกลงกติกาการใช้ประโยชน์ชุมชนที่เป็นที่ยอมรับร่วมกันทุกฝ่าย

2. สนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการชุมชนที่จะทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่พื้นที่คุ้มครอง

3. การดำเนินกิจกรรมการพัฒนาอาชีพที่ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์และการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งแนวทางจอมป่าโมเดลดังกล่าวสอดคล้องกับร่างกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร จึงขอนำเสนอจอมป่าโมเดลเพื่อเป็นรูปธรรมของการดำเนินงานในพื้นที่อื่นๆ รวมถึงยินดีที่จะเข้าร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิดและองค์ความรู้ และร่วมทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในโอกาสต่อไป