posttoday

อดีตอธิบดีอัยการแนะวิธีแก้ปัญหาอาชญากรรม ที่ไม่ใช่แค่การส่งคนเข้าคุก

21 มิถุนายน 2561

"อดีตอธิบดีอัยการ"แนะอย่าแก้ปัญหาอาชญากรรมด้วยการปราบปรามเพียงอย่างเดียว ชี้คนไทยกลัวเสียเงินมากกว่าติดคุก ระบุยังมีการลงโทษอีกมาก ที่ทำให้ผู้ทำผิดเข็ดหลาบ

"อดีตอธิบดีอัยการ"แนะอย่าแก้ปัญหาอาชญากรรมด้วยการปราบปรามเพียงอย่างเดียว ชี้คนไทยกลัวเสียเงินมากกว่าติดคุก ระบุยังมีการลงโทษอีกมาก ที่ทำให้ผู้ทำผิดเข็ดหลาบ

นายวันชัย รุจนวงศ์ อดีตอธิบดีอัยการฝ่ายต่างประเทศ และอดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Wanchai Roujanavong แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาอาชญากรรม การลงโทษผู้กระทำผิดและการป้องกันไม่ให้ผู้เคยกระทำผิดทำผิดซ้ำ โดยมีเนื้อหาน่าสนใจดังนี้

ทุกประเทศก็มีปัญหาเหมือนไทย

คืออัตราการกระทำผิดซ้ำสูง

เพราะพอเข้าคุกครั้งแรก ก็ตกงาน ถูกไล่ออก

พอออกจากคุก ก็กลายเป็นคนมีประวัติ เป็นคนขี้คุก

สังคมกลัว ไม่กล้าไว้วางใจ ไม่มีใครจ้างทำงาน

แต่คนพวกนี้ก็ยังต้องกินต้องใช้ ต้องการเงินเพื่อยังชีพ

เมื่อสังคมไม่ให้โอกาส ก็ต้องหาเงินด้วยวิธีการที่ผิดกฎหมาย

กลายเป็นคนทำผิดซ้ำซาก วนไปวนมาระหว่างคุกกับบ้าน

อาชญากรในสังคมจึงเต็มไปหมดทั้งเมือง

การไปอ้อนวอนให้คนทั่วไปยอมวางใจให้โแกาสอดีตนักโทษด้วยการให้งานทำ ยากมาก

เพราะในทางจิตวิทยา ใครๆ ก็กลัวอดีตนักโทษ

และยังมีกฎหมายกีดกันไม่ให้รับอดีตนักโทษเข้าทำงานมากมาย

กับไม่มีการลบประวัติ ไม่ว่าจะพ้นโทษมากี่ปี

การที่อดีตนักโทษ กระทำผิดซ้ำ ครึ่งหนึ่งมาจากตัวเอง อีกครึ่งหนึ่งมาจากการกดดันของสังคม

วิธีที่ยุโรปและประเทศเกือบทั่วโลกใช้คือ

ไม่เอาคนเข้าคุก ถ้าไม่จำเป็นหรือไม่ได้ทำผิดอุกฉกรรจ์

โดยเฉพาะยุโรป อย่างฟินแลนด์หรือเนเธอร์แลนด์

ที่ปิดคุกเพราะไม่มีนักโทษ

ประเทศพวกนี้มีมาตรการลงโทษที่หลากหลายมากที่นำมาใช้แทนโทษจำคุกอย่างได้ผล

ทำให้คนกลัวไม่กล้าทำผิด โดยที่ไม่ต้องเอาคนเข้าคุก

เช่นค่าปรับแพงมากๆ และการยึดทรัพย์มาใช้แทนค่าปรับ

อังกฤษ สก๊อตแลนด์ มีกฎหมายให้ศาลสั่งลงโทษให้ทำงานบริการสังคมได้ถึง 400 ชั่วโมง และสั่งใช้มาตรการอื่น ได้อีกมาก เช่นการสั่งให้ไปบำบัดรักษาอาการติดยา อาการติดเหล้า อาการป่วยทางจิต ฯลฯ

ประเทศในยุโรปอื่นๆ ก็ใช้มาตรการคล้ายกันกับอังกฤษ

การกักขังในบ้านด้วยกำไลข้อเท้า ไปทำงานได้ แต่ต้องกลับบ้านทันทีหลังเลิกงาน ห้ามออกไปไหนเป็นระยะเวลาตามที่ศาลสั่ง

การกักขังในที่คุมขัง เฉพาะวันหยุด วันศุกร์มารายงานตัวเข้าห้องขัง วันอาทิตย์ก็กลับบ้าน เตรียมไปทำงาน ทำอย่างนี้จนกว่าจะครบกำหนดกักขัง

การคุมประพฤติอย่างเข้มข้น

ยังมีมาตรการอื่นๆ ในการลงโทษอีกมาก ที่จะทำให้ผู้ทำผิดเข็ดหลาบ และทำให้คนอื่นกลัว ไม่กล้าทำผิด โดยไม่ต้องส่งคนเข้าคุกถ้าไม่จำเป็นจริงๆ

ประเทศที่เอาคนเข้าคุกมากที่สุดคืออเมริกา มีนักโทษสามล้านกว่าคน มากที่สุดในโลก

ไทยเราทำตามก้นอเมริกา ด้วยการใช้นโยบายปราบอย่างเดียว

การแก้ปัญหาด้วยอาชญาวิทยาของไทยล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า

นึกอะไรไม่ออก ก็ส่งคนเข้าคุกทั้งที่ไม่จำเป็น

จนคนล้นคุกกว่าสามเท่า จนกรมราชทัณฑ์ใกล้ตายแล้ว

นักโทษตัวร้ายจริงๆ ก็ไม่ได้รับการบำบัดเท่าที่ควร

เพราะนักโทษมีมากเกินไปเยอะ

แล้วพอนักโทษแน่นมาก คุกจะแตก ต้องหาวิธีระบายด้วยการปล่อยออกมาด้วยวิธีการลดโทษแบบต่างๆ

ถึงเวลาต้องมาคิดเรื่องโทษที่เดิมมีแค่ห้าอย่าง ว่า

ควรจะมีโทษที่หลากหลายที่จะมาใช้แทนโทษจำคุกบ้าง

สร้างกฎห้ามไม่ให้มีนักโทษเกินแสนคน

ถ้เกินแสนคนต้องปล่อยคนที่โทษน้อยสุดออกมาด้วยการคุมประพฤติ ให้เหลือนักโทษไม่เกินแสนคน

ใช้มาตรการอย่างยุโรป มองปัญหาและแก้อย่างเป็นปัญหาสังคมบ้าง

ไม่ใช่มองว่าเป็นปัญหาอาชญากรรมที่ต้องปราบปรามอย่างเดียว

เรียกว่าคิดอะไรไม่ออก ก็จำคุก แก้กฎหมายเพิ่มโทษให้สูงขึ้นและสูงขึ้น

โดยไม่ใช้สมองคิดแก้ปัญหาด้วยวิธีอื่นเลย

การเอาคนเข้าคุก ควรใช้เป็นมาตรการสุดท้ายเมื่อจำเป็นเท่านั้น

อย่างเด็กแว้น ปรับคนละแสน และริบรถเท่านั้น ผู้ปกครองก็จะไปจัดการกันเอง

คนไทยกลัวเสียเงินมากกว่าติดคุก ไม่จ่ายค่าปรับริบทรัพย์ขายทอดตลาดทันที

เยาวชนทำผิด พ่อแม่ต้องจ่ายค่าปรับ ไม่จ่ายริบทรัพย์มาขายทอดตลาดจ่ายค่าปรับ

อย่าคิดแต่จะส่งคนเข้าคุกอย่างเดียว

เรือนจำเป็นเรือนเพาะชำอาชญากรที่มีประสิทธิภาพที่สุด

พยายามอย่าส่งคนเข้าคุกถ้ามีทางแก้ด้วยวิธีการลงโทษแบบอื่น