posttoday

สิ้น "วสิษฐ เดชกุญชร" นายตำรวจนักเขียนชื่อดัง

20 มิถุนายน 2561

"พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร" อดีตนายตำรวจราชสำนักประจำ และนักเขียนนวนิยายชื่อดัง ถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบในวัย 88 ปี

"พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร" อดีตนายตำรวจราชสำนักประจำ และนักเขียนนวนิยายชื่อดัง ถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบในวัย 88 ปี

เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. เว็บไซต์มติชนรายงานว่า พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร อดีตนายตำรวจราชสำนักประจำ อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นักเขียนนวนิยายชื่อดัง ได้ถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบเมื่อเวลา 22.30 น. หลังจากป่วยด้วยโรคมะเร็งระยะสุดท้ายและเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ สิริอายุได้ 88 ปี

พล.ต.อ.วสิษฐเกิดเมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2472 ที่จังหวัดอุดรธานี สำเร็จการศึกษาชั้นเตรียมอุดมศึกษาจากจากโรงเรียนอำนวยศิลป์ พระนคร รุ่น ลมหวล ศึกษาต่อรัฐศาสตรบัณฑิต ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้เข้าศึกษารัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการบริหารการตำรวจ จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เคยเข้ารับการอบรมหลักสูตรการสืบสวนจากสหรัฐอเมริกา จบหลักสูตรวิชาการป้องกันประเทศ จากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.รุ่นที่ 23)

พล.ต.อ.วสิษฐ สมรสกับ คุณหญิงทัศนา (บุนนาค) เดชกุญชร เมื่อ พ.ศ. 2500 มีบุตร 2 คน คือ ว่าที่ร้อยตรี ดร. สุทรรศน์ เดชกุญชร และ ร้อยตำรวจตรีหญิงปรีณาภา เดชกุญชร พลตำรวจเอก วสิษฐ มีหลาน 3 คน ได้แก่ น.ส.ปัญจรัตน์ เดชกุญชร ,จ่าเอก ชิษณุวัฒน์ เดชกุญชร และ น.ส.ณัฐพร เดชกุญชร

พล.ต.อ.วสิษฐ เริ่มรับราชการในตำแหน่งอาจารย์ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ พ.ศ. 2495 ต่อมาได้ลาออกไปสมัครเข้ารับราชการในกรมประมวลราชการแผ่นดิน (ต่อมาคือกรมประมวลข่าวกลาง) แล้วโอนไปรับราชการที่กองตำรวจสันติบาล กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และย้ายไปเป็นนายตำรวจราชสำนักประจำในปี พ.ศ. 2513

เคยได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2516 เป็นสมาชิกวุฒิสภา ในปี พ.ศ. 2532 และในปี พ.ศ. 2539 - 2543 และเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นระยะเวลาสั้นๆ ตั้งแต่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2533 ถึง 9 ธันวาคม พ.ศ. 2533 ตำแหน่งสุดท้ายในกรมตำรวจก่อนลาออกไปเป็นรัฐมนตรีเป็น รองอธิบดีกรมตำรวจ ฝ่ายกิจการพิเศษ

พล.ต.อ.วสิษฐ เป็นนักเขียนนวนิยายเกี่ยวกับวงการตำรวจ และอาชญากรรม ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง โดยเป็นนิยายที่เขียนจากประสบการณ์ในราชการตำรวจ เคยใช้นามปากกา "'โก้ บางกอก" นิยายหลายเรื่องมีผู้นำไปสร้างภาพยนตร์ และละครโทรทัศน์ รวมทั้งได้รับได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2541