posttoday

สหประชาชาติเสียใจไทยนำโทษประหารชีวิตกลับมาใช้

19 มิถุนายน 2561

สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติแสดงความเสียใจต่อการนำโทษประหารชีวิตกลับมาใช้ในประเทศไทย

สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติแสดงความเสียใจต่อการนำโทษประหารชีวิตกลับมาใช้ในประเทศไทย

กรณีกรมราชทัณฑ์ ได้ดำเนินการบังคับโทษตามคำพิพากษาของศาลด้วยการประหารชีวิตนักโทษเด็ดขาดชายธีรศักดิ์ (สงวนนามสกุล) อายุ 26 ปี ผู้ต้องขังในคดีฆ่าผู้อื่นอย่างทารุณโหดร้ายเพื่อชิงทรัพย์ เมื่อวันที่ 17 ก.ค.55 เหตุเกิดที่จังหวัดตรัง

นักโทษเด็ดขาดดังกล่าวได้ทำร้ายและบังคับให้เอาทรัพย์สิน คือ โทรศัพท์มือถือ และกระเป๋าสตางค์ รวมทั้งใช้มีดแทงผู้ตาย รวม 24 แผล เป็นเหตุให้เหยื่อถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นพิพากษาประหารชีวิตศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกาพิพากษายืนเป็นผลให้คดีถึงที่สุด ซึ่งเป็นการลงโทษประหารชีวิตครั้งแรกในรอบ 9 ปี

ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (OHCHR) ออกเเถลงการณ์ระบุ เสียใจอย่างยิ่งต่อการประหารชีวิต นาย ธีรศักดิ์ หลงจิ สหประชาชาติคัดค้านการใช้โทษประหารชีวิตในทุกสถานการณ์ดังที่เน้นย้ำโดยเลขาธิการสหประชาชาติในหลายวาระ

เมื่อเย็นวานนี้ กรมราชทัณฑ์เผยแพร่แถลงการณ์ว่านายธีรศักดิ์ อายุ 26 ปี ถูกประหารชีวิตด้วยวิธีการฉีดยาหรือสารพิษ เขาถูกตัดสินประหารชีวิตจากเหตุทำร้ายและใช้มีดแทงบุคคลอื่นจนถึงแก่ความตายในภาคใต้ของประเทศไทย จนกระทั่งขณะนี้ เหตุผลของการดำเนินการประหารชีวิตนายธีรศักดิ์ยังไม่ปรากฏแน่ชัด โดยพิจารณาว่ารัฐบาลไทยมิได้ดำเนินการประหารชีวิตในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา พัฒนาการที่เกิดขึ้นนี้เป็นสิ่งที่คาดไม่ถึงเนื่องจากประเทศไทยได้แสดงให้เห็นถึงแนวทางที่มีความก้าวหน้าสอดคล้องกับรัฐจำนวนมากที่ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตไปแล้ว

“การนำเอาโทษประหารชีวิตกลับมาใช้ใหม่สวนทางกับคำมั่นสัญญาของประเทศไทยทั้งในระดับประเทศและนานาประเทศ ระหว่างการทบทวนสถานการณ์ภาพรวมด้านสิทธิมนุษยชนโดยสมาชิกสหประชาชาติ ตามกลไก Universal Periodic Review เมื่อปี 2559 ประเทศไทยได้ให้คำมั่นว่าจะดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อยกเลิกโทษประหารชีวิต” ซินเทีย เวลิโก้ ผู้แทนของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว “คำมั่นดังกล่าวได้รับการกล่าวย้ำอีกในแผนปฏิบัติการด้านสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับที่สาม”

สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมมนุษยชนฯ ยังมีความกังวลด้วยว่า การประหารชีวิตได้ดำเนินการขึ้นโดยปราศจากการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า

ทั้งนี้ความโปร่งใสเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประชาชาชนโดยทั่วไปที่จะได้รับทราบเพื่อการอภิปรายสาธารณะและความรับผิดตามระบบประชาธิปไตย ยิ่งไปกว่านั้น ประชาคมโลกซึ่งกำลังขับเคลื่อนไปด้วยความก้าวหน้าสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิตก็มีความสนใจที่จะติดตามการเคารพและปกป้องสิทธิการมีชีวิตอยู่ทุกหนทุกแห่งด้วย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้สรุปว่าการเข้าถึงข้อมูลของรัฐในเรื่องการใช้โทษประหารชีวิตถือเป็นผลประโยชน์อันชอบธรรมของสาธารณชน และส่งผลต่อการตระหนักว่าเป็นสิทธิทั่วไปที่จะเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวนั้นภายใต้มาตรา 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งรับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร

สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมมนุษยชนฯ ยังคงกังวลใจจากการถอยหลังของการปฏิรูปโทษประหารชีวิตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การประหารชีวิตที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้เป็นภาพสะท้อนอีกภาพหนึ่งของแนวโน้มข้อกังวลในเรื่องนี้

“เราเรียกร้องรัฐบาลไทยให้ดำเนินมาตรการต่างๆ โดยเร่งด่วนเพื่อคืนสู่ภาวะการงดเว้นการใช้โทษประหารชีวิตในกระบวนการนำไปสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิตโดยสมบูรณ์” ซินเทีย เวลิโก้ กล่าว