posttoday

แจงปมดราม่า! ดีเอสไอ ยันกรมมีอำนาจจับแก้วน้ำละเมิดลิขสิทธิ์ 60 ล้าน

18 มิถุนายน 2561

กรมสอบสวนคดีพิเศษ ชี้แจงองค์กรมีอำนาจจับกุมสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ชี้เป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ

กรมสอบสวนคดีพิเศษ ชี้แจงองค์กรมีอำนาจจับกุมสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ชี้เป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ

เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.  กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ชี้แจงกรณีมีข่าววิพากษ์วิจารณ์การดำเนินการจับกุมสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา กรณีแก้วน้ำปลอมเครื่องหมายการค้าและละเมิดลิขสิทธิ์ ว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของดีเอสไอหรือไม่นั้น

โดย กรมสอบสวนคดีพิเศษ ชี้แจงว่า การกระทำความผิดอาญาเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา ประกอบด้วย ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า ซึ่งเป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย ที่มีความรุนแรงต่อเนื่องยาวนาน ส่งผลให้ประเทศไทยตกเป็นประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (PWL)ของประเทศสหรัฐอเมริกา และมีผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ทางการค้าของประเทศในด้านต่างๆ

ต่อมาเมื่อมีการจัดตั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ 2547 ได้กำหนดให้ความผิดเรื่องดังกล่าวที่มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจและการคลังของประเทศ หรือที่กระทำเป็นลักษณะอาชญากรรมข้ามชาติ องค์กรอาชญากรรม รวมถึงที่มีผู้มีอิทธิพลที่สำคัญอยู่เบื้องหลังการกระทำผิด เป็นคดีพิเศษ

ทั้งนี้ ดีเอสไอ ได้เข้าร่วมเป็นคณะอนุกรรมการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ของคณะกรรมการนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ ซึ่งกรมฯ ได้มีการปราบปรามจับกุมการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นคดีพิเศษอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมมือกับองค์กรเอกชนหลายองค์กร รวมถึงผู้แทนผู้เสียหายทั้งในและต่างประเทศ จนเมื่อ พ.ศ. 2560 ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ปลดประเทศไทยพ้นจากประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) เป็นประเทศที่ต้องจับตามอง (WL) ทำให้ได้รับสิทธิประโยชน์หลายประการเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการให้ความสำคัญในการป้องกันและปราบปรามความผิดประเภทนี้อย่างต่อเนื่องของทุกฝ่าย และกรมสอบสวนคดีพิเศษยังคงปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายในเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

และในการปราบปรามจับกุมสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาตามที่เป็นข่าว มีมูลค่าความเสียหาย หากคำนวณตามมูลค่าสินค้าแท้ เป็นเงินกว่า 60 ล้านบาท จึงอยู่ในข่ายที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ต้องดำเนินการตามกฎหมาย อนึ่ง สำหรับประเด็นข้อเสนอแนะที่ให้กรมสอบสวนคดีพิเศษเร่งทำคดีพิเศษอื่นๆ นั้น กรมสอบสวนคดีพิเศษชี้แจงว่า กรมมีการเร่งรัดดำเนินการในทุกคดี โดยมีคณะกรรมการระดับกรมกำกับติดตาม และต้องรายงานข้อมูลด้านคดีต่อคณะกรรมการคดีพิเศษด้วย เพียงแต่ที่ผ่านมากรมไม่ได้มีการเสนอข่าวต่อสาธารณชน ซึ่งนับจนถึงปัจจุบัน กรมมีการสืบสวนคดีพิเศษเสร็จสิ้นไปแล้วกว่า 2,500 คดี