posttoday

"อ้อ ชญาภา" จากเด็กดอยสู่คุณครูผู้เสียสละ หัวเข่าพังเพื่อนักเรียน

17 มิถุนายน 2561

เปิดใจคุณครูสาวผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรงที่หัวเข่า หลังฝ่ากระแสน้ำนำอาหารขึ้นไปให้นักเรียน

เปิดใจคุณครูสาวผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรงที่หัวเข่า หลังฝ่ากระแสน้ำนำอาหารขึ้นไปให้นักเรียน

--------------------------------

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด

คุณครูสาวทุ่มเททำเพื่อเด็กๆ ชาวดอยและรัฐบาลด้วยการหอบข้าวปลาอาหารสดฝ่าน้ำป่าและเม็ดฝนที่กระหน่ำอย่างต่อเนื่อง เดินข้ามลำหวยกว่า 20 จุด จนเป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรงที่หัวเข่า และใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6 ชั่วโมงกว่าเธอจะถึงมือแพทย์

นั่นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ อ้อ ชญาภา ธนพงษ์โชติ คุณครูประจำโรงเรียนบ้านห้วยหมูพิทยา ที่ตั้งอยู่ ม.3 บ้านห้วยกองแป ต.แม่คง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน 
จากเด็กดอยแก้มแดงที่มีความฝันตั้งแต่วัยเด็กว่าอยากเป็นครู วันนี้เธอยืนอยู่ตรงนั้นแล้วอย่างน่าชื่นชม

ครูอ้อ เกิดที่ตำบลแม่นาเติง อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เรียนจบจากคณะครุศาสตร์ เอกภาษาไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ อาชีพครูเป็นความฝันและเป้าหมายตั้งแต่ยังเด็กที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง

“เล่นกับเพื่อนๆ ก็จะชอบรับบทบาทเป็นครู รู้สึกมีความสุข พี่แถวบ้านที่เรายกให้เป็นไอดอลก็เป็นครู เราเห็นสิ่งที่เขาทำแล้วเราชอบ ไม่เคยเปลี่ยนแปลงความคิดเลย”

บ้านห้วยหมูพิทยา เป็นโรงเรียนแห่งในแรกของเธอในฐานะข้าราชการครู หลังก่อนหน้านี้ทำหน้าที่ในฐานะครูอัตราจ้างกับโรงเรียนอื่นมาหลายปี โดยรับผิดชอบดูแลเด็กในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 และ 4

หน้าที่รับผิดชอบของคุณครูในโรงเรียนที่ตั้งอยู่ตามเขาตามดอยแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับครูในเมือง ต้องทำหน้าที่สอนหนังสือเด็กทุกวิชา 8 กลุ่มสาระสำคัญ นอกจากนั้นยังมีหน้าที่เป็นแม่บ้านไปจ่ายตลาดทุกสัปดาห์ เป็นแม่ครัวทำอาหาร เป็นผู้ปกครองยามเด็กเจ็บไข้ได้ป่วยและเป็นนักการภารโรงดูแลความเรียบร้อยของสถานที่ต่างๆ ภายในโรงเรียน

"อ้อ ชญาภา" จากเด็กดอยสู่คุณครูผู้เสียสละ หัวเข่าพังเพื่อนักเรียน

เมื่อสัปดาห์ก่อนครูอ้อและเพื่อนครูตื่นเช้าเดินทางลงจากดอยด้วยรถมอเตอร์ไซค์ไปซื้อหาอาหารสดที่ตลาดภายในตัวเมือง อ.แม่สะเรียง เพื่อนำมาประกอบอาหารกลางวันให้กับนักเรียน เส้นทางนี้ปกติรถยนต์สามารถไปได้ประมาณ 42 กม. จากนั้นอีกประมาณ 8 กม. ต้องใช้รถจักรยานยนต์ขับไปตามถนนเลียบลำห้วย บางช่วงต้องขับในลำห้วย ซึ่งในช่วงฤดูฝน ต้องเดินเท้าอย่างเดียวเท่านั้น

ระหว่างเดินทางกลับวันนั้นกลุ่มของครูอ้อเจอฝนตกอย่างหนัก ระดับน้ำสูงขึ้นในทุกๆ ท่าน้ำ และรถมอเตอร์ไซค์ไม่สามารถลุยต่อได้

ทุกคนตัดสินใจเลือกจอดมอเตอร์ไซค์ทิ้งไว้และเดินเท้าต่อ โดยมีชาวบ้านที่เจอกันระหว่างทางร่วมเดินและช่วยขนของไปด้วย อย่างไรก็ตามหลังผ่านไปราว 20 ท่า อันตรายก็เกิดขึ้นกับคุณครูสาว

“ฝนตกและน้ำแรงมาก จังหวะนั้นขาเรายันพื้นทรายไม่ได้ ถูกน้ำพัดจนได้ยินเสียงดังกรุบและเจ็บมากที่หัวเข่าด้านขวา ร้องไห้น้ำตาไหล ตอนนั้นนึกว่าเป็นตะคริว ตะโกนบอกเพื่อนครูให้มาช่วย ทุกคนก็แบกเราขึ้นฝั่งได้สำเร็จ”

"อ้อ ชญาภา" จากเด็กดอยสู่คุณครูผู้เสียสละ หัวเข่าพังเพื่อนักเรียน

ไม่นานชาวบ้านในหมู่บ้านที่อยู่ห่างออกไปเกือบ 2 กิโลเมตรได้ข่าวพากันเอาเปลและช่วยยกเธอไปหาหมอประจำหมู่บ้าน อย่างไรก็ตามเมื่อดูอาการแล้วหนักเกินกว่าความสามารถและเครื่องมือที่มี ทำให้ทุกคนต้องสลับกันหามเธอไปต่อถึงหมู่บ้านห้วยแห้งโดยใช้เวลาหลายชั่วโมง เพื่อส่งเธอขึ้นรถยนต์ต่อไปโรงพยาบาลแม่สะเรียง

“ปวดมาก ถึงโรงพยาบาลตอน 3 ทุ่ม คุณหมอฉีดยาและใส่เฝือกดาม ขอบคุณชาวบ้านและเพื่อนครูทุกคนมากที่ช่วยเหลือเรา” ครูอ้อบอกเล่าถึงเหตุการณ์ที่ได้พบกับความเจ็บปวดพร้อมๆ กับน้ำใจอันยิ่งใหญ่ของชาวบ้าน โดยเบื้องต้นคุณหมอบอกว่าสะบ้าหัวเข่าหลุด อยู่ระหว่างพักฟื้นและจะเข้ารับการตรวจอย่างละเอียดอีกครั้งที่โรงพยาบาลนครพิง วันที่ 21 มิ.ย. นี้

ระหว่างที่นอนพักรักษาตัวอยู่บ้านว่าเธอบอกด้วยน้ำเสียงไพเพราะว่า เมื่อหายเจ็บจะกลับไปทำหน้าที่คุณครูต่อไป ชีวิตนี้เลือกแล้วว่าจะเป็นครู ไม่ว่าอยู่โรงเรียนไหนก็ต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด

“ได้ชวยเหลือให้เด็กๆ มีความรู้แล้วมีความสุข เป็นครูที่ไหนก็ได้ ชีวิตนี้เลือกไปแล้วว่าอยากเป็นครู หวังว่าร่างกายจะกลับมาแข็งแรง ไม่เป็นอะไรมากที่หัวเข่า สตาร์ทมอเตอร์ไซค์เดินขึ้นดอยไปสอนหนังสือเด็กๆ ได้เหมือนเดิม”

"อ้อ ชญาภา" จากเด็กดอยสู่คุณครูผู้เสียสละ หัวเข่าพังเพื่อนักเรียน

ในฐานะเรือจ้างปัญหาในวงการศึกษาที่คุณครูวัย 29 ปีอยากถ่ายทอดคือภาระหน้าที่นอกห้องเรียนที่มากเกินไปจนไม่มีเวลาโฟกัสเรื่องการสอนอย่างเต็มความสามารถ

“ครูดอยทำแถบทุกอย่าง ไปจ่ายตลาด ทำครัวเอง ปลูกต้นไม้ ปรับพื้นที่บริเวณโรงเรียน เด็กๆ ไม่สบายก็ต้องพาลงมาหาหมอข้างล่าง เพราะผู้ปกครองไม่ได้มีความรู้เรื่องโรคภัย ป่วยทีก็พามาหาครู” เธอบอกถึงสภาพปัญหาที่คุณครูในพื้นที่ห่างไกลต้องเผชิญ

โดยโรงเรียนบ้านห้วยหมูพิทยาปัจจุบันมีนักเรียนทั้งหมด 49 คน มีครูผู้สอน 3 คน ครูพี่เลี้ยงที่ได้รับงบประมาณจาก อบต. 1 คน และครูธุรการที่หมุนเวียนในแต่ละสัปดาห์ 3 โรงเรียนอีก 1 คน

ทั้งหมดนี้คือประสบการณ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงภาระหน้าที่ความทุ่มเทของคุณครูสาวผู้เสียสละเพื่อนักเรียนที่เขารัก โดยไม่หวั่นกลัวว่าจะต้องเผชิญหน้ากับอันตราย

"อ้อ ชญาภา" จากเด็กดอยสู่คุณครูผู้เสียสละ หัวเข่าพังเพื่อนักเรียน

"อ้อ ชญาภา" จากเด็กดอยสู่คุณครูผู้เสียสละ หัวเข่าพังเพื่อนักเรียน

 

"อ้อ ชญาภา" จากเด็กดอยสู่คุณครูผู้เสียสละ หัวเข่าพังเพื่อนักเรียน

"อ้อ ชญาภา" จากเด็กดอยสู่คุณครูผู้เสียสละ หัวเข่าพังเพื่อนักเรียน สภาพเส้นทางที่ครูดอยต้องเผชิญ

ภาพจากเฟซบุ๊กเพจ KooAor Chayapa Tanapongchod